"สปสช." คาดปี 65 ใช้งบ 8.2 หมื่นล้านสู่โควิด

"สปสช." คาดปี 65 ใช้งบ 8.2 หมื่นล้านสู่โควิด

"สปสช." ปรับระบบรับ เจอ แจก จบ แนวทางใหม่ สธ. เพิ่มการดูแล "ผู้ป่วยโควิด-19" แบบ "ผู้ป่วยนอก" คาดปี 65 ใช้งบประมาณราว 8.2 หมื่นล้าน ขณะเดียวกัน ยังต้องประเมินสถานการณ์ "โอมิครอน" ต่อเนื่อง

แม้ในวันนี้การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" จะทำให้ผู้ติดเชื้อพุ่งสูงมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน แต่ส่วนใหญ่กว่า 97-98% เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว และ 1-2%  เป็นผู้ป่วยเหลืองแดง เมื่อเทียบกับรอบเดลตาที่มีผู้ป่วยเหลืองกว่า 15 % แดง 5 % ทำให้ สธ. เพิ่มระบบการดูแลแบบผู้ป่วยนอกด้วยแนวทาง “เจอ แจก จบ”

 

แนวทาง “เจอ แจก จบ” เป็นการเพิ่มระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก คือ หลังจากผู้ที่สงสัยป่วยโควิด-19 ตรวจ ATK แล้วหากพบผลเป็นบวก (เจอ) แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร (แจก) ได้แก่

1.ยาฟ้าทะลายโจร

2.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก

3.ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่การเป็นโรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง (จบ)

 

สปสช. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลการจ่ายชดเชยค่าบริการ ได้ปรับบทบาทจากเดิมที่รับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ Home Isolation มาให้บริการส่งต่อผู้ป่วยระบบ เจอ แจก จบ คาดการณ์ว่าจะใช้งบประมาณปี 65 ราว 8.2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปจากการปรับคาดการณ์ฉากทัศน์ของ สธ. ที่คาดว่าหากแย่ที่สุดจะมีผู้ป่วยราว 1 แสนรายต่อวัน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้สามหมื่นกว่ารายต่อวัน

 

“นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นโอมิครอนกว่า 90% อาการน้อย ถึงไม่มีอาการเลย ดังนั้น การรักษาจึงปรับรูปแบบให้เหมาะกับผู้ป่วย ในกรณีที่อาการไม่เยอะ ไม่มีอาการ ซึ่งเชื่อว่าจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการติดที่ง่ายขึ้น และเชื้อจะอยู่ในลำคอ หลอดลม มากกว่าลงปอด ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มการรักษาแบบผู้ป่วยนอก คือ ให้ยา และให้ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน

 

\"สปสช.\" คาดปี 65 ใช้งบ 8.2 หมื่นล้านสู่โควิด

ไม่เสี่ยง รักษาแบบ เจอ แจก จบ 

ทั้งนี้ สปสช.ได้หารือกับกองทุนต่างๆในการปรับระบบเพื่อรองรับ โดยเริ่มตั้งแต่การปรับคำแนะนำใหม่ สายด่วน สปสช.1330 จากเดิมที่รับลงทะเบียนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าระบบการรักษาที่บ้าน (Home isolation) แต่ในตอนนี้หากผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง จะแนะนำให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยส่งต่อให้หน่วยบริการที่พร้อมให้การรักษาตามแนวทางที่กรมการแพทย์กำหนด “เจอ แจก จบ”

 

จะได้รับการดูแลแบบ tele-health คือ แยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ โทรติดตามอาการ (ครั้งเดียว 48 ชั่วโมง) มีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง ไม่ได้รับอาหาร และไม่ได้รับอุปกรณ์ประเมิน เช่น เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

 

Home Isolation ยังคงอยู่

แต่หากมีภาวะเสี่ยง คือ เป็นกลุ่ม 608 มีโรคประจำตัว แต่อาการไม่มาก จะให้เข้าระบบ Home Isolation , Community Isolation , Hotel Isolation และฮอสปิเทล แต่หากมีภาวะเสี่ยงและอาการรุนแรงจะส่งรับการรักษาในโรงพยาบาล

 “ระบบ Home Isolation จะยังมีอยู่สำหรับกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกัน การมีระบบผู้ป่วยใน เชื่อว่าจะทำให้การรักษาเร็วขึ้น เพราะจากเดิมที่ผู้ป่วยต้องรอให้ศูนย์บริการต่างๆ มากดรับใช้เวลานานเกิน 6 ชั่วโมง ที่ผ่านมามีผู้ป่วยหลายรายที่ต้องการเพียงยารักษา และคำแนะนำของแพทย์ ยิ่งเป็นวัยรุ่นที่ติดจำนวนมากอาการดีขึ้นเร็วใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์”

ปรับระบบ ลดการใช้เตียงเกินจำเป็น

ปัจจุบัน ผู้ป่วย Home isolation มีจำนวนราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัว ขณะเดียวกัน หากดูตัวเลขผู้ป่วยที่ออกจากระบบในแต่ละวันก็มีจำนวนมากเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่เข้าระบบยังคงมีสัดส่วนที่มากกว่า ดังนั้น หากมีการเพิ่มระบบการรักษาในลักษณะผู้ป่วยนอกได้ ถือเป็นการลดแรงกดดันที่จะใช้เตียงเกินความจำเป็น

 

การเบิกจ่ายค่าบริการโควิด

ทั้งนี้ ข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-2565 ของ สปสช. ที่รายงานในที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ (23 ก.พ. ) ยอดรวม 134,076.64 ล้านบาท โดยปี 2563 จำนวน 3,841.15 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 97,747.94 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 32,488 ล้านบาท แยกเป็น

“กรมบัญชีกลาง” ปี 2563 จำนวน 232.19 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 3652.97 ล้านบาท

“ประกันสังคม” ปี 2563 จำนวน 306.87 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 42,917.39 ล้านบาท

“หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง)” ปี 2563 จำนวน 3,302.09 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 51,177.58 ล้านบาท ปี 2565 จ่ายไปแล้ว 32,488 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอขอรับงบฯ เพิ่ม 51,065.13 ล้านบาท

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ระบบการจ่าย สปสช. จะจ่ายค่าบริการให้สถานบริการที่มีผู้ป่วยไปรับบริการ ประกอบด้วย ค่าให้คำปรึกษา ค่ายา ค่าส่งยาให้ผู้ป่วย หรือ กรณีผู้ป่วยที่มีภาวะแย่ลงจะมีค่าส่งต่อ รวมถึงค่าเอกซเรย์หากจำเป็นตามดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ภายใน 1-2 เดือน ตัวเลขการติดเชื้อจะยังสูง เนื่องจากคนยังเข้าโรงพยาบาลเยอะ แต่หลังจาก มี.ค. – เม.ย. งบประมาณอาจจะชะลอลง แต่จำนวนคนไข้ไม่ได้ลดลง ดังนั้น ต้องประเมินอีกครั้ง คาดว่าทั้งปี จะใช้งบประมาณราว 8.2 หมื่นล้านบาท และต้องพิจารณาควบคู่ไปกับฉากทัศน์ที่เปลี่ยนไปต้องดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะมีผลอย่างไร

 

\"สปสช.\" คาดปี 65 ใช้งบ 8.2 หมื่นล้านสู่โควิด

 

เจอ แจก จบ ปรับระบบตามสถานการณ์ 

“แนวทางดังกล่าว ไม่ได้ทำเพื่อลดงบประมาณ แต่เป็นการเปลี่ยนระบบการรักษาให้เหมาะกับหน่วยบริการที่พร้อมจะรองรับ ยังต้องประเมินและปรับปรุงตามสถานการณ์ จากเดิมคิดว่าเฉลี่ย 2-3 หมื่นรายต่อวัน เป็นเวลาราว 2-3 เดือนและลงมาประมาณหมื่นราย ตามฉากทัศน์ที่มีการคาดการณ์ไว้ ขณะที่ล่าสุดมีการคาดการณ์ระดับที่แย่ที่สุดไว้กว่า 1 แสนรายต่อวัน ดังนั้น การเปลี่ยนระบบการรักษา ก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่การติดเชื้อเยอะ แต่อาการไม่เยอะ ทำอย่างไรให้การรักษาเร็วขึ้น และให้ผู้ป่วยรับทราบ ไม่แพนิค และดูแลตัวเอง” นพ.จเด็จ กล่าว

 

ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายรองรับแนวทางดังกล่าว ของ สปสช. เป็นการปรับหลักเกณฑ์แนวทางอัตราการจ่ายชดเชยบริการโรคโควิด-19 ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ส่วน คือ

1.การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19

2.การตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการติดเชื้อโควิด-19 โดยวิธีตรวจ ATK โดยผู้เชี่ยวชาญ (ATK Professional)

3.อัตราจ่ายค่าห้องสำหรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล

4.การสนับสนุนชุดตรวจ ATK-self test สำหรับประชาชนคนไทยทุกสิทธิ

5.อัตราจ่ายค่าพาหนะรับ-ส่งต่อ กรณีใช้รถโดยสารประเภทอื่น

 

ค่าบริการผู้ป่วยนอกโควิด 1,300 บาท/ราย

มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เห็นชอบในหลักการจัดบริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน และอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการ 1,300 บาทต่อราย ครอบคลุมคำแนะนำในการแยกกัก การติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง การจ่ายตามอาการรวมค่าจัดส่ง และการจัดระบบบริการรองรับการโทรกลับเพื่อให้คำปรึกษาประชาชนเมื่ออาการเปลี่ยนแปลงและนำเข้าสู่ระบบการรักษา

 

การจ่ายชดเชยค่าบริการอัตรา 1,300 บาทนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนบริการ คือ

1.การจ่ายชดเชยเหมาจ่าย 1,000 บาทต่อราย ประกอบด้วย ค่าบริการให้คำแนะการแยกกักตัวที่บ้าน การให้ยารักษาตามอาการ การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง รวมทั้ง การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ

 

2.ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น 300 บาทต่อราย เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการเปลี่ยนแปลง และหรือให้ปรึกษาอื่นๆ หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง

ทั้งนี้ สปสช. จะชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยบริการทั่วประเทศที่ร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในวันนที่ 3 มี.ค. 65 ถึงการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บริการนี้  โดยสัปดาห์หน้ากระทรวงสาธารณสุข  จะเสนอแนวทางUCEP โควิด19 พลัส เข้าครม. โดยจะกำหนดให้ผู้ติดโควิด19 ที่เข้าเกณฑ์ตามนิยามอาการสีเหลืองและสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาฟรีได้ทุกที่เช่นเดิม