จุดพีค"โควิดโอมิครอน"ยังไม่ถึง SAVEสูงวัยฉีดวัคซีนโควิด19ก่อนสงกรานต์
สธ.คาดจุดพีค”โควิดโอมิครอน” ยอดติดเชื้อช่วงหลังสงกรานต์ ป่วยหนักต้นพ.ค. ผู้สูงอายุกว่า 2 ล้านเสี่ยงติดเชื้อเสียชีวิต เร่งฉีดวัคซีนโควิด19ให้ได้ก่อนสงกรานต์ ป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิต ลดโอกาสตาย 41 เท่า
เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากฉากทัศน์ที่มีการคาดการณ์ คาดว่าผู้ป่วยอาการรุนแรง ปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ กำลังขยับเพิ่มขึ้น มีโอกาสขึ้นเป็นฉากทัศน์สูงสุดได้ ซึ่งคาดว่าจุดสูงสุดของผู้ป่วยอาการรุนแรงน่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้น จากตัวเลขผู้ติดเชื้อขณะนี้ อยู่ในระดับความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง มีโอกาสเป็นเส้นสีเหลืองมีผู้ติดเชื้อสูงสุดกว่า 5 หมื่นรายต่อวัน ในช่วงประมาณวันที่ 19 เม.ย. 2565 แต่หากไม่สามารถคงมาตรการเข้มงวด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การป้องกันตัวเองแบบเข้มงวด และไม่ลดพฤติกรรมเสี่ยง ก็อาจมีโอกาสพบติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 5 หมื่นรายต่อวัน ทั้งนี้ สถานการณ์น่าจะค่อยๆลดลงในช่วงพ.ค.-มิ.ย.2565
“ต้องเข้มมาตรการทั้งหมด รวมทั้งการฉีดวัคซีนโควิด19 จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และจะทำให้อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจไม่มากเกินศักยภาพของระบบรักษาพยาบาล ซึ่งจากประสบการณ์ของประชาชนสามารถร่วมมือร่วมใจกันได้ ด้วยการยกระดับมาตรการ ป้องกันการแพร่เชื้อ จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยอาการรุนแรงไม่ถึงจุดสูงสุดของการคาดการณ์ " นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า โควิดโอมิครอน ความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่ปอดอักเสบต้องนอนรักษาในรพ. เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 เท่า ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่ขยับเพิ่มขึ้น แม้อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตจะน้อยกว่าปีที่แล้วที่พบสายพันธุ์เดลตา แต่ด้วยยังมีผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่ง ทำให้สถานการณ์มีการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิต
จากรายงานผู้เสียชีวิตวันที่ 4 มี.ค.2565 จำนวน 54 ราย พบว่า ผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้รับวัคซีนโควิด19 คิดเป็น 48% หรือได้รับเพียง 1 เข็ม คิดเป็น13% รับเข็ม 2 แต่เกิน 3 เดือน 31% รับเข็ม 2 แต่ไม่เกิน 3 เดือนคิดเป็น 6% และรับเข็ม 3 คิดเป็น 2% ขณะที่ข้อมูลการเสียชีวิต 2เดือนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-28 ก.พ.2565 มีผู้สูงอายุเสียชีวิต 928 ราย โดยส่วนใหญ่อายุมากกว่า 60 ปีคิดเป็น 75% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน 60% มีประวัติรับวัคซีน 1 เข็ม 8% มีประวัติรับวัคซีน 2 เข็ม 29% และมีประวัติรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป 2%
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากความเสี่ยงเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนกับไม่ได้รับวัคซีน พบว่า คนที่ไม่ได้รับวัคซีนที่เป็นผู้สูงอายุมีประมาณ 2.17 ล้านคน ซึ่งมีการเสียชีวิต 557 คน คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 257 ต่อล้านคน รับ 1 เข็ม อัตราเสียชีวิต 133 ต่อล้านคน ได้รับวัคซีน 2 เข็ม อัตราเสียชีวิต 43ต่อล้านคน เสียชีวิตลดลงถึง 6 เท่า และรับวัคซีน 3 เข็ม โอกาสเสียชีวิตลดลงถึง 41 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เท่าใกล้เคียงกับตัวเลขของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา(CDC) จึงเป็นที่มาที่กระทรวงสาธารณสุขขอเน้นย้ำการรับวัคซีนในผู้สูงอายุ และหากรับวัคซีนมา 2 เข็มเกิน 3 เดือนขอให้ไปรับเข็มกระตุ้น
“ในกลุ่มผู้สูงอายุได้รับวัคซีนไปแล้วคิดเป็น 83% แม้จะมาก แต่ยังมีอีก 17% ยังไม่ได้รับวัคซีน ในจำนวนนี้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 10.5 ล้านคน เป็นการรับเข็ม 2แล้ว ราว 9.9 ล้านคน ได้รับเข็ม 3 กระตุ้นแล้ว 3.9 ล้านคน แสดงว่ายังไม่ได้รับเข็ม 3 อีกราว 6 ล้านคน และยังมีผู้สูงอายุอีกราว 2.2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่ติดเชื้อแล้วจะเสียชีวิต จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ”นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานกำลังเร่งรัดฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ ทั้งการค้นหาผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน มีการเชิญชวน ทำงานอย่างหนักทุกภาคส่วน เพื่อเชิญชวนผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ลำปาง สำรวจความต้องการวัคซีนเข็ม 3 ของประชาชนในพื้นที่ 8.6 หมื่้นคน พบว่า ไม่ต้องการฉีด 29}418 คน คิดเป็น 37.8 % เนื่องจาก
กังวล กลัวผลข้างเคียง กลัวตาย 21.1% และคิดว่าฉีด 2 เข็มเพียงพอแล้ว 14.3 % ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด และลังเล อยู่ระหว่างตัดสินใจ 5.8%
“ผู้สูงอายุไทยกว่า 2 ล้านคนเสี่ยงเสียชีวิตหากจิดโควิดโอมิครอน เนื่องจากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จึงควรพาผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีน หากฉีดเข็ม 1 แล้วต้องเข้ารับเข็ม 2 ตามนัด และหากรับเข็ม 2 เกิน 3 เดือนแล้ว ต้องรีบฉีดเข็ม 3 โดยเฉพาะก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่จะมีลูกหลานกลับไปเยี่ยมผู้สูงอายุ ญาติผู้ใหญ่”นพ.โสภณกล่าว