ม.ทักษิณ ผุดโมเดลแก้จน สร้างผลิตภัณฑ์จากกระจูด สร้างรายได้แก่คนพัทลุง

ม.ทักษิณ ผุดโมเดลแก้จน สร้างผลิตภัณฑ์จากกระจูด สร้างรายได้แก่คนพัทลุง

นักวิจัย ม.ทักษิณ ผสานพลังจังหวัดพัทลุง ผุดโมเดลแก้จน ปูพรมสอบทาน ส่งต่อความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำให้แก่ชาวพัทลุง เตรียมจัดแสดงผลิตภัณฑ์แบรนด์ เลน้อยคราฟ ปลายเดือนมีนาคม นี้

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.ทักษิณ รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ม.ทักษิณ พร้อมด้วยคณะนักวิจัยโครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดพัทลุง

จัดกิจกรรมสื่อสารสาธารณะ “ปฏิบัติการแก้จนจังหวัดพัทลุง – จากข้อมูลสู่การสร้างโมเดลแก้จนแบบมีส่วนร่วมและกระบวนการเสริมพลัง” ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ ชั้น 2 อาคารทักษิณาคาร ม.ทักษิณ

ม.ทักษิณ ผุดโมเดลแก้จน สร้างผลิตภัณฑ์จากกระจูด สร้างรายได้แก่คนพัทลุง

นายเสรี จิตรเวช พัฒนาการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จังหวัดพัทลุงมีนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดพัทลุง การแก้จนมีกระบวนการแก้ปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ ประมวลคนจนทั้งหมดให้เป็นฐานข้อมูลกลางทั้งระบบ  

จังหวัดพัทลุงกำลังดำเนินการแก้จนจาก TPMAP ที่ถูกเกณฑ์ทั้ง 5 มิติ เรากำลังมองว่าความยากจนเป็นเรื่องของความซ้ำซ้อน ต้องแก้ในหลากหลายรูปแบบ ต้องใช้ข้อมูลครัวเรือนคนยากจนให้มากที่สุด โดยใช้แนวคิด 4 ท. ประกอบด้วย ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากรที่เหมาะสม และทางออก เป็นต้น

 

  • วิจัยม.ทักษิณช่วยเหลือแก้ปัญหาคนจนจ.พัทลุง

รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง หัวหน้าโครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดพัทลุง  ได้นำเสนอผลการดำเนินงานและข้อค้นพบจากกระบวนการสอบทานครัวเรือนคนจนจังหวัดพัทลุง พบว่า การค้นหาและสอบทานคนจนในพื้นที่ จังหวัดพัทลุง

โดยใช้รายชื่อคนจนตั้งต้นจากฐานข้อมูลระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP)  จำนวน 13,902 ครัวเรือน (คนจนรวมทุกครัวเรือนจำนวน 14,342 คน)

ม.ทักษิณ ผุดโมเดลแก้จน สร้างผลิตภัณฑ์จากกระจูด สร้างรายได้แก่คนพัทลุง

ทีมวิจัยทำการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทั้ง 11 อำเภอ ภายใน 73 พื้นที่ ครอบคลุม 65 ตำบลและ 8 เขตเทศบาล คิดเป็น 100% ของพื้นที่จังหวัดพัทลุงแล้ว บันทึกลงในระบบ PPPconnext ของกระทรวง อว. จำนวน 14,205 ครัวเรือน (คนจนรวมทุกครัวเรือนจำนวน 59,449 คน)

แบ่งเป็นครัวเรือนจากรายชื่อใน TPMAP จำนวน 9,684 ครัวเรือน คิดเป็น 68% และครัวเรือนรายใหม่ (Add on) จำนวน 4,521 ครัวเรือน  คิดเป็น 32%

ทั้งนี้ ในระหว่างการดำเนินการนี้ ทีมนักวิจัยได้ส่งต่อความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย ให้แก่

1) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคใต้ ไปแล้วจำนวน 269 ครัวเรือน ครอบคลุม 27 ตำบลใน 9 อำเภอ


ม.ทักษิณ ผุดโมเดลแก้จน สร้างผลิตภัณฑ์จากกระจูด สร้างรายได้แก่คนพัทลุง

2) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพัทลุง ประกอบด้วย ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่จำนวน 6,970 ครัวเรือน และครัวเรือนที่มีผู้ป่วยติดเตียงหรือพิการจำนวน 2,358 ครัวเรือน สำหรับผู้ป่วยติดเตียงหรือพิการส่งต่อข้อมูลความช่วยเหลือให้แก่

3) ระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดพัทลุง จำนวน 1,101 ครัวเรือน

 

  • โมเดลแก้จน ส่งเสริมการผลิตกระจูด

ทีมนักวิจัยได้ออกแบบโมเดลแก้จน (Operating Model : OM) ส่งเสริมการผลิตกระจูดเพื่อเพิ่มรายได้คนจนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ทีมนักวิจัย OM ประกอบด้วย รศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย ผศ.ดร.อุไรวรรณ ทองแกมแก้ว ผศ.ดร.ถาวร จันทโชติ ดร.สานิตย์ ศรีชูเกียรติ และ ดร.อภินันท์ เอื้ออังกูร ได้นำภูมิปัญญากระจูดของชุมชน มาออกแบบนวัตกรรมแก้จน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนจนตำบลทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง

ม.ทักษิณ ผุดโมเดลแก้จน สร้างผลิตภัณฑ์จากกระจูด สร้างรายได้แก่คนพัทลุง

ปัญหาของคนจนเกิดจากการมีฐานทุนดำรงชีพไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นทุนมนุษย์ ทุนเศรษฐกิจ ทุนสังคม หรือทุนธรรมชาติ นวัตกรรมแก้จนของมหาวิทยาลัยทักษิณ จึงมุ่งเพิ่มทุนดังกล่าวให้กับคนจน โดยใช้วิธีการ Coaching จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง (กระจูดวรรณี) ผนวกกับองค์ความรู้ทางด้านศิลปกรรมการออกแบบของมหาวิทยาลัย

โดยเน้นการเพิ่มทุนมนุษย์จากกระจูด จัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมให้ความรู้เชิงทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจริง ได้แก่ การพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเชิงสร้างสรรค์ (Production) การยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบยั่งยืน (Design/ Branding) และการพัฒนาการตลาดในยุคดิจิทัล (Marketing/ Selling)  เพิ่มทุนสังคม

  • เพิ่มทุกเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน

ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนจน เป็นวิสาหกิจชุมชนเลน้อยคราฟ (Lenoi Craft Community Enterprise) เพิ่มทุนเศรษฐกิจ สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนเลน้อยคราฟ มีช่องทางการหารายได้ระหว่างทาง คือ สามารถนำกระเป๋ากระจูดที่สานที่บ้านมาฝึกทดลองขายผ่านออนไลน์

หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรม วิสาหกิจชุมชนเลน้อยคราฟ จะนำผลิตภัณฑ์แบรนด์ เลน้อยคราฟ สู่ห้างโมเดร์นเทรด  ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน และ ศูนย์การค้าไบเทค บางนา ซึ่งเป็นการออกบูธ ขายจริง

ม.ทักษิณ ผุดโมเดลแก้จน สร้างผลิตภัณฑ์จากกระจูด สร้างรายได้แก่คนพัทลุง

อย่างไรก็ดี คนทะเลน้อยไม่สามารถทำนากระจูดได้เพียงพอกับกำลังการผลิต เนื่องจาก ปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ปัญหานกทำลายหัวกระจูด และพื้นที่หลายส่วนอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ชาวบ้านจำต้องซื้อวัตถุดิบ (กระจูด) จากที่อื่น

แนวทางการเพิ่มกระจูดในพื้นที่ทะเลน้อย คือ การหาหน่วยงานพันธมิตร และชุมชนพันธมิตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการปลูกกระจูดและพันธุ์กระจูด

ได้ทำแปลงกระจูดต้นแบบ จำนวน 2 ไร่ และร่วมดำเนินการนำร่องปลูกกระจูดจำนวน 6 สายพันธุ์ เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่  ในพื้นที่ของศูนย์ศิลปาชีพร่วมกับชุมชนพันธมิตร กลุ่มวิสาหกิจบ้านหัวป่าเขียว (หมู่ที่ 7) กระบวนการปลูก ใช้แนวทาง co-creation of knowledge คือ นำภูมิปัญญาชาวบ้านมาผสานกับความรู้ทางวิชาการ

  • นวัตกรรมแก้จน เตรียมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ปลายมี.ค.นี้

รศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย นักวิจัยโครงการวิจัยฯ  กล่าวว่า โครงการกระจูดแก้จนเรารับไม้ต่อจากทีมข้อมูลนำมาคัดเลือกกลุ่มคนแก้จนโดยสมัครใจ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้จน เรามีพันธมิตร ในการร่วมดำเนินงานประกอบด้วย สถาบันวิจัยและพัฒนา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน (วิสาหกิจชุมชนวรรณี) ผู้นำชุมชน และประชาชน  

ทั้งนี้ การปลูกกระจูดนำไปสู่ความสมบูรณ์ของพื้นที่ทรัพยากรเพิ่มขึ้น นำมาสู่กระจูดที่มีคุณภาพ ส่งผลให้นำมาสู่กระบวนการผลิตที่มีราคาถูกลง ความรู้และทักษนำไปสู่ความสามารถของบุคลากรเกิดความสามัคคี มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนในอนาคต

ม.ทักษิณ ผุดโมเดลแก้จน สร้างผลิตภัณฑ์จากกระจูด สร้างรายได้แก่คนพัทลุง

นวัตกรรมแก้จนครบกำหนดดำเนินกิจกรรมภายในเดือนมีนาคม 2565 นี้ และมีกำหนดจัดแสดงผลิตภัณฑ์แบรนด์ เลน้อยคราฟ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน และศูนย์การค้าไบเทค บางนา ปลายเดือนมีนาคม นี้