“วันสตรีสากล” ชวนทบทวนมายาคติ ที่ทำให้ผู้หญิงยังเป็น “เครื่องผลิตลูก”
เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2565 “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาทุกคนไปทบทวนมายาคติที่กดทับเพศหญิงให้กลายเป็นเพียง “เครื่องผลิตลูก” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี คือ “วันสตรีสากล” (International Women's Day) เพื่อส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคทางเพศให้แก่ผู้หญิงทั่วโลก นอกจากนี้ ความเสมอภาคทางเพศ ยังถูกบรรจุให้เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ได้ร่วมลงนามรับรองวาระการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2573
แม้ในปัจจุบัน ผู้หญิงจะมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าในอดีต ทั้งนี้เป็นผลจากการมีสิทธิสตรีในเรื่องต่างๆ ที่ถูกยอมรับมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการเข้าถึงการศึกษาที่สูง สิทธิการเลือกประกอบอาชีพนอกบ้าน หรือสิทธิการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ได้ทำให้ผู้หญิงถูกยอมรับในบทบาทอื่นที่นอกจากภรรยาและแม่
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าบทบาทดังกล่าวยังถูกนำมาใช้วัดคุณค่าของเพศหญิงอยู่เสมอ ดังจะเห็นผ่าน “มายาคติทางเพศ” ที่ยังมีหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งบ่อยครั้งได้ทำให้ผู้หญิงถูกกดขี่และเข้าไม่ถึงสิทธิสตรีขั้นพื้นฐานอย่างที่ควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้ ความพยายามที่จะทำให้เพศหญิงเท่าเทียมกับเพศชายจึงเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญในระดับสากล แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่า เพราะเหตุใด เพศหญิงจึงต้องใช้ความพยายามในการมีความเสมอภาคทางเพศ
ความไม่เท่ากันของชาย-หญิง มีที่มาจากอะไร
เรื่องดังกล่าวนี้ตอบไม่ยากนัก เพราะหากหญิงและชายถูกมองว่าเป็นมนุษย์เท่ากันเสียตั้งแต่แรก คำถามเรื่องความไม่เท่ากันทางเพศจะไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้
ย้อนกลับไปในสมัยที่อังกฤษเป็นมหาอำนาจของโลก หรือที่เรียกว่า “ยุควิคตอเรียน” (Victorian era) ในยุคสมัยนี้เองที่คนให้การยอมรับมายาคติที่ว่า เพศหญิงมีคุณค่าความเป็นมนุษย์น้อยกว่าเพศชาย
เมื่อความเป็นมนุษย์ของเพศชายถูกมองว่ามีมากกว่า ทรัพยากรต่างๆ จึงตกอยู่ในความดูแลของเพศชายเสียส่วนใหญ่ ทำให้หน้าที่หารายได้และเป็นผู้นำของครอบครัว รวมถึงอำนาจถือสิทธิขาดในการตัดสินใจแทบจะทุกเรื่อง ตกเป็นของเพศชาย ส่วนเพศหญิงมีหน้าที่เพียงการบริการสมาชิกในครอบครัว หรือเป็นเพศผู้ถูกกระทำ (Submassive) เท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ เพศหญิงจึงมีสถานะที่ต้องพึงพิงเพศชายอยู่เสมอ เนื่องจากไม่ได้มีบทบาทที่จะสามารถทำอะไรได้มากนัก ส่งผลให้คุณค่าสูงสุดของเพศหญิงถูกผูกเข้าไว้กับ “ความเป็นแม่” เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตเพศหญิงต้องถูกเปลี่ยนมือผู้ดูแลจากพ่อแม่ไปสู่ชายผู้ซึ่งจะเป็นสามีผ่านการแต่งงาน
ดังนั้น บทบาทของเพศหญิงที่สำคัญในยุคดังกล่าวจึงเหลือเพียงการเป็นภรรยาและแม่ ทำให้สถานะผู้หญิงในขณะนั้นเสมือนเป็น “เครื่องผลิตลูก” เพราะหากไม่สามารถมีลูกได้ ก็หมายถึงไม่สามารถทำหน้าที่ภรรยาได้ดีด้วย ท้ายที่สุดแล้วเพศหญิงผู้นั้นมักจะไม่ถูกให้การยอมรับในสังคม
สำรวจมายาคติที่ทำให้ผู้หญิงยังเป็นเพียง “เครื่องผลิตลูก” อยู่ในปัจจุบัน
ยุควิคตอเรียนนั้น เทียบเท่ากับสมัยรัชกาลที่ 3 - 5 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยกำลังปฏิรูปประเทศ ได้รับเอาวิทยาการความรู้ รวมถึงค่านิยมจากประเทศจักรวรรดิอังกฤษเข้ามาด้วย แม้บทบาทและคุณค่าทางเพศจากยุควิคตอเรียนที่กล่าวไปนั้นจะเป็นเรื่องในอดีต แต่หารู้ไม่ว่า มายาคติที่ยังคงกดทับเพศหญิงให้กลายเป็นเพียงเครื่องผลิตลูกนั้นยังคงแทรกซึมอยู่ในสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้
- ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเล่าเรียนสูง
หากเคยได้ยินคำเตือนในทางที่ว่า “เป็นผู้หญิงอย่าเรียนสูงมาก เดี๋ยวจะหาแฟนยาก” หรือ “เป็นผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนสูง”
คำเตือนข้างต้นล้วนเป็นผลผลิตที่ออกมาจากการผูกคุณค่าของเพศหญิงไว้กับการเป็นภรรยาและแม่ เพราะบทบาทดังกล่าวถูกเข้าใจว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิชาการขั้นสูงด้านใดเป็นพิเศษ นอกจากนั้น การทำตัวมีความรู้เหนือเพศชายยังอาจมีสิทธิถูกปฏิเสธต่อการเลือกมาเป็นคู่ครองอีกด้วย
นอกจากนี้ แม้ในปัจจุบันสิทธิทางการศึกษาของสตรีจะถูกให้การยอมรับอย่างแพร่หลาย แต่หากพิจารณาไปยังครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หรือไม่มีความพร้อมมากพอที่จะส่งลูกทุกคนให้เรียนสูงได้ ในกรณีที่มีทั้งลูกสาวและลูกชาย ลูกชายมักจะได้รับโอกาสให้ได้เรียนสูงกว่าลูกสาวเสมอ ซึ่งเป็นผลมาจากความคิดที่ว่า สุดท้ายลูกสาวก็จะกลายเป็นเพียงแม่บ้านที่คอยดูแลสามีและลูกเพียงเท่านั้น เลยไม่มีความจำเป็นต้องเรียนสูง
ทั้งนี้ การศึกษาของสตรีคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ของชายและหญิงแคบลง และยังทำให้เพศหญิงเข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพที่หลากหลาย เพราะฉะนั้น การเข้าถึงการศึกษาจึงอาจทำให้เพศหญิงหลุดจากการถูกกดทับด้วยมายาคติเหล่านี้ได้
- การมีความต้องการทางเพศเป็นเรื่องผิด
แม้หญิงและชายจะมีสัญชาตญาณทางเพศที่ไม่ต่างกัน หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถมีอารมณ์ทางเพศได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ในทางปฏิบัติ เพศหญิงมักถูกมองว่าไม่เหมาะที่จะแสดงอารมณ์เหล่านั้นออกมา
จากยุควิกตอเรียน ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์เพียงเพื่อตั้งครรภ์เพียงเท่านั้น และไม่ควรมีอารมณ์ร่วมไปกิจกรรมทางเพศที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งกับสามีของตนก็ตาม โดยการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงเพื่อให้บรรลุหน้าที่ของความเป็นภรรยาและแม่เท่านั้น
ในปัจจุบัน อุดมคติเหล่านี้ก็คงมีอยู่โดยเฉพาะในสังคมไทย สังเกตได้จากการที่นิยายและละครหลายเรื่องที่ยังใส่บทขืนใจให้กับตัวละครพระนาง แม้จะเป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ แต่แล้วบทดังกล่าวกลับทำให้พระนางลงเอยกันได้ ซึ่งเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ว่า ด้วยความที่ผู้หญิงมีภาพมายาคติว่าต้องรักนวลสงวนตัว และไม่มีความพิศวาสทางเพศแต่อย่างใด การสร้างฉากขืนใจจึงนับเป็นการทำให้นางเอกได้รู้จักความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและก่อตัวเป็นความผูกผันต่อพระเอกในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดเรื่องราวเช่นนี้นับว่าเป็นการส่งต่อความเข้าใจผิดต่อสังคม มิหนำซ้ำยังเป็นการทำให้อาชญากรรมกลายเป็นเรื่องโรแมนติก (Romanticize) อีกด้วย
- การอยู่ก่อนแต่งเป็นสิ่งต้องห้าม
การมีความสัมพันธ์ทางเพศสมควรจะเกิดขึ้นหลังจากแต่งงานแล้วเท่านั้น การมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ที่ไม่ใช่สามี จึงนับว่าไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์เพื่อบรรลุหน้าที่ของความเป็นหญิงที่พึงกระทำ ทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความมีอารมณ์ทางเพศ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดบาปทางศีลธรรม
จากค่านิยมนี้เอง ที่ทำให้ผู้หญิงในยุควิคตอเรียนต้องทนทุกกับความความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว เพราะไม่ได้มีโอกาสรับรู้มาก่อนว่าคู่สมรสตนจะเป็นเช่นไร แต่เมื่อรู้เข้าแล้วก็ไม่สามารถหย่าได้ และยิ่งมีลูกร่วมกันแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากหน้าที่ของความเป็นหญิงมีเพียงการให้บริการต่อสมาชิกในครอบครัว นั่นคือการดูแลสามีและลูก ความไม่พอใจต่อคู่สมรสของเพศหญิงนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
ในปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องการอยู่ก่อนแต่งเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่ก็ยังมีค่านิยมเรื่องการรักษาพรหมจรรย์ของเพศหญิงที่คอยกดทับให้รู้สึกว่าการมีเพศสัมพันธ์จะต้องเกิดขึ้นกับชายที่ตนจะแต่งงานด้วยเท่านั้น เพราะหากผิดจากนี้ไปคือหมายถึงคุณค่าของในตัวเพศหญิงนั้นจะถูกด้อยค่าลง ขณะเดียวกันเพศชายกลับไม่มีมายาคติเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม หากลองทบทวนผ่านกรอบความเสมอภาคทางเพศในเรื่องดังกล่าว อาจพบว่า แท้จริงแล้วมายาคติทางเพศเช่นนั้นต่างหากที่กำลังลดทอนคุณค่าของเพศหญิงให้เหลือเพียงแค่เรื่องพรหมจรรย์
แม้ยุควิคตอเรียนจะกดทับคุณค่าของเป็นมนุษย์ของเพศหญิงให้เหลือเพียงสถานะเป็นเครื่องผลิตลูก อย่างไรก็ตาม สตรีในยุคนั้นต่างก็พยายามต่อสู้มาตลอด ซึ่งวิคตอเรียนก็คือยุคแรกที่มีการเริ่มพูดถึงเรื่องสิทธิสตรี ทั้งจากการเคลื่อนไหวผ่านงานทางวรรณกรรมบ้าง หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ัลงถนนเรียกร้องในประเด็นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
ทั้งหมดนี้ได้มีส่วนร่วมทำให้มายาคติทางเพศที่ไม่เป็นมิตรนั้นค่อยๆ ถูกกลืนหายไปตามสังคมที่มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีบางสังคมที่ยังคงยอมรับเอาไว้อยู่จนถึงปัจจจุบัน
ท้ายที่สุด จริงอยู่ที่เพศหญิงไม่ควรต้องมาเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ เพราะมันคือสิทธิที่พึงได้โดยกำเนิด แต่เป็นอย่างที่ทราบกันว่า สังคมมีการถูกกดทับด้วยมายาคติที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเพศหญิงมาอย่างยาวนาน ฉะนั้น การส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคของสตรีจึงยังคงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อผลักดันให้ความเสมอภาคทางเพศเกิดขึ้นในสังคมในเร็ววัน
-----------------------------------
อ้างอิง