เมื่อโลกเปลี่ยน “ครูบนดอย” ต้องปรับการศึกษาให้เด็กอมก๋อย
ตัวอย่างของโรงเรียนที่ปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาแบบเดิมมาเป็นระบบใหม่ เพื่อให้พวกเขารู้จักตัวเองและโลก สร้างทักษะให้เด็กนำไปแก้ปัญหาในชีวิต
การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 สร้างผลกระทบให้ระบบการศึกษาทุกพื้นที่ โรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอนและเปลี่ยนมาสอนออนไลน์ ทำให้เด็กจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษา ไม่เว้นแม้กระทั่งบนดอย
ที่ โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ก็เช่นเดียวกัน ต้องหยุดการเรียนการสอน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 เพิ่งเปิดสอนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565
และได้เริ่มใช้แนวทางของ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มาปรับระบบการสอนแบบใหม่ ครูหวาน-พวงชมพู เฮ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง กล่าวว่า
“โรงเรียนบนพื้นที่สูง การเดินทางค่อนข้างลำบากทุรกันดาร เด็ก ๆ ทั้งหมด เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าปกาเกอะญอ 100 เปอร์เซ็นต์ นักเรียนทั้งหมด 122 คน หายไปเกือบ 70 คน
ครูหวาน-พวงชมพู เฮ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง
เหลือ 40 คนอยู่ใกล้โรงเรียน ครูต้องไปหาเอาใบงานไปให้เด็กทำที่บ้าน ผู้ปกครองไม่สามารถช่วยสอนได้ เพราะส่วนมากไม่ได้เรียน เด็กที่ไม่ได้มาโรงเรียน การเรียนรู้ก็ถดถอย”
นอกจากนี้ ครูหวาน บอกว่า ตอนมาอยู่ใหม่ ๆ ระบบการศึกษายังเหมือนทุกที่ เน้นกิจกรรมในห้องเรียน มีหนังสือแบบเรียน ครูเป็นผู้สอน วัดผลด้วยการสอบ ใช้เกรดตัดสิน
ใครได้เกรดดีๆ คนนั้นเก่งที่สุด รู้สึกว่าไม่แฟร์กับเด็ก เราไปวัดไปตัดสินคน ๆ หนึ่งด้วยการเรียนเก่ง เรียนไม่เก่ง หรือมีคนชนะแค่คนเดียว
“เด็กบนดอย 80-90 เปอร์เซนต์ที่เรียนจบไปแล้ว โอกาสที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัย หรือไปทำงานข้างล่าง มีน้อย เพราะขาดโอกาสเรื่องเงิน
เราก็คิดว่าจะทำอย่างไร ให้เขาอยู่ที่บ้าน แล้วมีความสุขแบบยั่งยืน ต่อยอดสิ่งที่มี ไม่ต้องไปตัดไม้ทำลายป่า หรือปลูกพืชเชิงเดี่ยว ให้มีสารพิษตกค้าง ทำลายต้นน้ำ ถ้าสอนแบบเดิม ก็วนมาแบบเดิม
เราลองให้เขาเรียนรู้สิ่งใกล้ตัว สอนให้รู้จักคิด มีทักษะ มีเครื่องมือ เอาไปสู้กับปัญหาที่เจอ มันน่าจะดีกว่าลงไปแข่งขันกับคนข้างล่าง อยู่บนดอยมันยั่งยืน ทำยังไงให้เขาอยู่ได้ยาวนาน มีความสุข
เด็กๆ ในโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง
จนได้มาเจอวิธีของ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ตอนทำแรก ๆ ผู้ปกครองถามว่า ทำไมสอนแบบนี้ บางวิชาหายไปไหน ถึงขั้นจะไล่ผู้อำนวยการออก กว่าเขาจะยอมรับได้ใช้เวลา 5 ปี”
ครูหวาน เล่าถึงพัฒนาการการเรียนว่า เรื่องแรกที่เห็น คือ จากเดิมเด็กบนดอยไม่กล้าแสดงออก ไม่แสดงความคิดเห็น ไม่มั่นใจในตัวเอง
“พอเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ เด็กเขากล้าพูดในสิ่งที่คิด มีความคิดของตัวเอง กล้าแสดงความคิดเห็น เรื่องที่สองที่เห็น คือ เรื่องการเรียนรู้ โรงเรียนบนพื้นที่สูง ใช้ภาษาปกาเกอะญอ เป็นหลัก
เด็กอนุบาลตอนมาแรก ๆ จะพูดไม่ได้เลย ไม่รู้จักชื่อตัวเอง พอมาอยู่กับเราครึ่งเทอม ก็สื่อสารเป็น แล้วก็ไวด้วย เราใช้วิธีเรียนภาษาตามธรรมชาติ และให้รู้สึกมั่นใจไปพร้อม ๆ กัน
เราฝึกทักษะ กระบวนการเรียนรู้จากสื่ออื่น ๆ พยายามให้เขาใช้สื่ออินเตอร์เน็ตให้เป็นและถูกที่ถูกทาง เพราะห้ามไม่ได้แล้ว ไม่ว่าบนดอยหรือซอกหลืบที่ไหนในโลก เด็กบนดอยส่วนมากเขาไม่รู้เท่าทัน
ตอนมีสัญญาณไวไฟแรก ๆ มีเด็กแว๊นเยอะ แล้วก็ย้อมผม เราถามเขาว่าทำไมเป็นแบบนี้ เขาตอบว่า “อ้าว ก็ผมเห็นในอินเตอร์เน็ต ในอินเตอร์เน็ตดีทั้งนั้น” ก็เลยคิดว่าต้องฝึกให้เขาใช้เทคโนโลยี ถ้าใช้ถูกวิธี จะมีประโยชน์ แต่ถ้าใช้ผิดก็แย่”
เด็กๆ ในโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง
- นำแนวทางโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามาใช้
ระบบการเรียนการสอนแบบใหม่นี้ ครูหวานบอกว่า นำมาจาก โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ก่อตั้งโดย เจมส์ คลาร์ก การสนับสนุนมาจากการบริจาค ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 สอนชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น มี ครูวิเชียร ไชยบัง เป็นผู้อำนวยการ
เป็นระบบการศึกษาที่เน้นการพัฒนาตัวเอง สอนให้เด็ก ๆ รู้จักตั้งคำถาม มีทักษะการใช้ชีวิต พึ่งพาตัวเองได้ และมีจิตสำนึกช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม ซึ่งครูหวานได้มีการปรึกษากับครูวิเชียรตลอดเวลา
“เป้าหมายของเราคือ ฝึกฝนให้เขาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งปัญญาภายใน คือการจัดการตัวเอง ควบคุมตัวเอง และ ปัญญาภายนอก เรื่องไอคิว เรื่องความฉลาดในด้านวิชาการ ทั้งสองอย่างควรไปด้วยกัน เรามีกิจกรรม จิตศึกษา ที่มีเป้าหมายสามระดับ
เด็กๆ ในโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง
1) สอนให้รู้จักตัวเอง มีสมาธิอยู่กับการเรียนและสิ่งที่ทำ
2) เป้าหมายด้านคุณธรรม จริยธรรม ปรับเปลี่ยนตัวเองให้ถูกต้อง
3) เป้าหมายระดับสูงสุด ไม่ตัดสินอะไร มองทุกสิ่งเป็นธรรมชาติ
ก่อนการเรียนทุกวัน เราจะฝึกเขาให้มีสติ รู้ตัวเอง 20 นาที ในแต่ละวันครูจะมีเรื่องเล่าให้เด็กๆ คิดใคร่ครวญ ได้ขีด ได้เขียน ได้อยู่กับตัวเอง เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่เป็นความจริง
สิ่งสำคัญอยู่ที่คำถามที่ครูโยนให้ อย่างโรงเรียนเรามีปัญหาเรื่องทิ้งขยะ เราก็จะมีหัวข้อว่า อาทิตย์นี้เราจะทำเรื่องรับผิดชอบต่อสังคม สาธารณะประโยชน์ ดีไหม เป็นวิธีที่แยบยล
เด็กๆ ในโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง
1) เพื่อทำให้เด็กได้รู้ตัว
2) เรียนรู้สิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ใจเขา ใจเรา ทดลองเป็นคนอื่น แล้วเขาจะรู้สึกยังไง วิธีจิตศึกษา เราใช้วิธีฝึกฝนเรื่องปัญญาภายใน
ส่วน ปัญญาภายนอก คือการเรียนรู้วิชา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และกระบวนการ PBL หรือ Problem Based Learning ยุบรวม 5 วิชา สังคม, สุขศึกษา, ศิลปะ, ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ให้เด็กเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตจริง
ฝึกทักษะการคิดและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ คำถามในกระบวนการเรียนรู้ PBL จะเปลี่ยนทุกสัปดาห์ เด็ก ๆ จะหาข้อมูล วาดแผนภาพ Mind Map เชื่อมโยงความคิดให้เป็นระบบ นำมาเสนอหน้าชั้นเรียน ผลงานจะถูกนำมาติดไว้หน้าห้อง ทำให้ภูมิใจ สนุกที่ได้เรียนรู้ต่อไป”
เด็กๆ ในโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง
- ครูต้องเปลี่ยนความคิดก่อน
ระบบการศึกษาแบบเดิม สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ โครงสร้างตารางเรียนที่สอนเป็นรายวิชา เมื่อลองใส่กิจกรรมหรืออะไรลงไปแล้ว พฤติกรรมและรูปแบบการสอนจะไม่เปลี่ยน เราจึงต้องเปลี่ยนมายเซ็ท Mindset ของครูด้วย
“เรามีกระบวนการสร้างครู ผ่านชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ เรียกว่า PLC หรือ Professional Learning Community ครูแต่ละคนจะทดลองทำก่อน แล้วก็เอามาแชร์กันในวงสนทนา เกิดเป็นปัญญาร่วม
ทุกคนได้เรียนรู้จากกันและกัน เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันระหว่างครูในโรงเรียนเครือข่ายกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ที่นำรูปแบบนี้ไปใช้ โดยมีฐานข้อมูลออนไลน์ให้ครูทุกคนเข้าไปจัดทำแผนการสอนได้”
เด็กๆ ในโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง
- การศึกษารูปแบบใหม่ ได้ผลดี
ครูหวาน บอกว่า จากการเปลี่ยนระบบการศึกษามาเป็นระบบใหม่ มีนักเรียนจบไปแล้ว 5 รุ่น
“เห็นผลชัดเจนในเด็กที่จบไป ปีที่แล้ว มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เขาไปเรียนต่อมัธยม เขาได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เขาสามารถนำเพื่อน นำตัวเองได้ จนครูมัธยมถามว่า เด็กมัธยมหนึ่ง เขาทำแบบนี้ได้ยังไง แม้กระทั่งเด็กที่เรียนไม่เก่ง ก็ยังรู้จักตัวเอง ไม่พาตัวเองไปในทางที่ไม่ดี
มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งมาเข้าเรียนตอนป.3-ป.4 โรงเรียนอื่นไม่รับ เพราะเกเร แต่พอมาอยู่ที่เรา เราไม่ได้ตัดสินเด็ก จนเขาเรียนจบไปเมื่อปีที่แล้ว เขาก็ไปเป็นหัวหน้าชั้นของอีกที่หนึ่ง
ไม่ว่าเด็กที่ไหน เด็กข้างล่าง เด็กบนดอย เด็กด้อยโอกาส ถ้ามีวิธีการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้ อยู่ที่วิธีการฝึกฝน”
เด็กๆ ในโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง
- อนาคตที่เปลี่ยนไป
ครูหวานบอกว่า เราต้องสร้างเด็กที่สามารถดูแลตัวเองได้ทั้งร่างกายและจิตใจ
“เด็กในอนาคตจะต้องอยู่ในสังคมที่มีความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตที่ซับซ้อนมากขึ้น เด็กต้องเตรียมพร้อมรับมือกับโลกที่แปรปรวน โลกที่ถูกดิสรัปชันจากเทคโนโลยี สภาพอากาศ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไม่ว่าบนดอยหรือที่ไหนในโลก ถ้าเด็กไม่สามารถรับมือได้ เขาก็ไม่สามารถปรับตัวอยู่กับโลกที่เปลี่ยนไป
ปัญหาที่พบคือ ส่วนมากโรงเรียนทั่วไปจัดการศึกษาที่ไม่ค่อยตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่เปลี่ยนไป รวมถึงไม่ตอบโจทย์ให้ชีวิตเขานำไปใช้ในชีวิตได้ จึงต้อง
1) มีการศึกษาที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ของเด็ก
2) มีโอกาสทางเศรษฐกิจ เด็กส่วนมากไม่ค่อยมีเงินไปต่อยอด ทำให้เขาไปต่อไม่ได้ เราต้องทำให้เขามีทักษะ มีเครื่องมือ ที่ได้จากการจัดการเรียนในพื้นที่ที่มีคุณภาพให้เขา”