เมื่อเด็กเล็ก "ติดโควิด" ต้องสังเกตอาการและรักษาอย่างไร
กรมการแพทย์ แนะวิธีป้องกันเด็กเล็กไม่ให้เสี่ยงติดโควิด แต่หากบุตรหลาน "ติดโควิด" แล้ว ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการและรู้วิธีรักษาเบื้องต้นตามที่แพทย์แนะนำ
การระบาดของ “โควิดโอมิครอน” ระลอกล่าสุดนี้ มีแนวโน้มว่าจะพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม “เด็กเล็ก” มากขึ้น เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดในระดับครัวเรือน โดยเฉพาะครอบครัวใหญ่ มักพบการระบาดได้มาก
สำหรับบ้านไหนที่มีเด็กเล็กอยู่ด้วย และพบว่าบุตรหลานเริ่มมีอาการป่วย พ่อแม่หรือผู้ปกครองบางคนอาจจะกังวลใจ และไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้คือติดโควิดหรือไม่? และอาการแบบไหนถึงควรรีบพบแพทย์?
ล่าสุด.. สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ มีคำแนะนำใน การสังเกตอาการและวิธีดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มเด็กเล็กเบื้องต้น ดังนี้
1. เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี คือกลุ่มเสี่ยง
แม้การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กส่วนใหญ่กว่า 90% จะมีอาการไม่รุนแรง แต่มีกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว ที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ไตวายเรื้อรัง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
ดังนั้น ควรงดสัมผัสหรือหอมแก้มเด็กเล็กโดยไม่จำเป็น และแม้ระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ภายใน 14 วัน แต่เมื่อเด็กติดโควิดมักมีอาการของโรคใน 4-5 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อ
2. ยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมี
สำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็น ได้แก่ ปรอทวัดไข้ ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก
ส่วนเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ไม่ค่อยมีความจำเป็น เนื่องจากสายพันธุ์ในปัจจุบันไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการปอดบวม อีกทั้งการจับออกซิเจนปลายนิ้วในเด็ก มักจะไม่ค่อยแม่นยำ เนื่องจากขนาดของเครื่องมักจะไม่กระชับกับนิ้วของเด็ก แพทย์จึงเน้นให้สังเกตอาการเป็นหลัก
3. ผู้ป่วยเด็กรักษาเบื้องต้นตามอาการ
สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กเบื้องต้น ตามคำแนะนำของแพทย์คือ การประคับประคองตามอาการ โดยให้สังเกตอาการและมีวิธีดูแลดังนี้
- หากมีไข้/ปวดศีรษะ ให้ทานยาลดไข้ ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ไม่เกิน 2 - 3 วัน จะค่อยๆ ดีขึ้น
- หากมีน้ำมูก ให้ทานยาลดน้ำมูกเท่าที่จำเป็น หรือถ้าน้ำมูกข้นเขียว ในเด็กโตสามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือได้
- หากมีอาการไอ ให้รับประทานยาแก้ไอตามอาการ และจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ
- หากไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ถ่ายเหลว หรืออาเจียนมากต่อเนื่องกัน ควรรีบนำเด็กไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์หรือ โรงพยาบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
------------------------------------------
อ้างอิง : กรมการแพทย์