เคลียร์ชัดๆ กลุ่มติดโควิด-19 ที่ยังรักษาฟรี ได้ทุกที่ UCEP โควิด พลัส
สธ.ย้ำ UCEP โควิดพลัส รักษาฟรี ทุกที่ กลุ่มติดโควิดอาการเหลือง - แดง ส่วนกลุ่มสีเขียวรักษาฟรี ตามสิทธิ หากต้องการเข้า รพ.เอกชนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ขณะที่บัตรทอง - ประกันสังคม ลั่นสีเขียวรับบริการได้ใน รพ. เครือข่ายทุกแห่ง
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การปรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติโควิด-19 (UCEP โควิด พลัส) โดยกลุ่มสีเหลือง และแดงยังสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกแห่งจนหาย โดยไม่ต้องย้ายโรงพยาบาล และผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนกลุ่มอาการสีเขียวสามารถเข้ารับการรักษาฟรี ในโรงพยาบาลตามสิทธิ เน้นการดูแลแบบผู้ป่วยนอก(OPD) ผู้ป่วยที่มาตรวจ ATK ที่โรงพยาบาลให้รับยาที่จุดตรวจ ATK ก่อนกลับบ้าน ผู้ป่วยที่ตรวจด้วยตนเองสามารถมารับยาที่โรงพยาบาลหรือการแจ้งโรงพยาบาลให้ส่งยาไปที่บ้าน และเยี่ยมติดตามอาการหลังครบ 48 ชั่วโมง
“จะเน้นการรักษาจากที่บ้าน(HI) ทำให้เตียงใน รพ.เพียงพอสำหรับผู้ที่มีอาการปานกลางขึ้นไป ดังนั้น UCEP โควิด พลัส สำหรับกลุ่มสีเหลือง สีแดง รับบริการฉุกเฉินได้ สำหรับคนที่ไม่มีอาการก็ดูแลที่บ้าน เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่ทุกคนต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์ได้ เพราะอาจจะเกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งกรมการแพทย์กำลังจะออกไกด์ไลน์ในการดูแลรักษา แม้จะผลิตได้เองแต่ขณะนี้ใช้เฉลี่ยวันละ 1.5 – 2 ล้านเม็ด ถือเป็นจำนวนมาก ก็ต้องบริหารส่วนนี้ จะปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ไม่ได้ ต้องให้ผู้ติดเชื้อได้รับยาที่เหมาะสม” นายอนุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังวันที่ 16 มี.ค.2565 กลุ่มอาการสีเขียวรับการรักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิ นายอนุทิน กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่มีอาการสีเขียว และไม่เข้าข่ายนิยามอาการสีเหลือง แดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรีทุกที่ แต่หากเป็นกลุ่มอาการสีเขียวแล้วต้องการไปรักษารพ.เอกชนที่ไม่ได้เป็นสถานพยาบาลตามสิทธิรักษาของตัวเอง ก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง และเป็นดุลยพินิจของ รพ.ว่าจะรับเข้ารักษาใน รพ.หรือไม่
UCEP โควิดพลัส เริ่ม 16 มี.ค.
วันเดียวกัน ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ของสธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ กรณีโรคโควิด-19 ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่ 16 มี.ค.2565 แยกเป็นกลุ่มตามอาการ
สีเขียว เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กรณีระหว่างรับการรักษาแบบ Home/Hotel/Community Isolation เกิดอาการรุนแรงจนมีระดับความรุนแรงเป็นผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ส่งต่อ รพ.ที่สามารถดูแลได้ โดยใช้สิทธิ UCEP โควิด พลัส ได้
สีเหลือง และสีแดง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จะให้การรักษาผู้ป่วยจนหาย หากจำเป็นสามารถส่งต่อไปรักษา รพ.อื่นได้ ดังนี้ ส่งต่อไป รพ.อื่นเนื่องจาก รพ.มีศักยภาพไม่เพียงพอ ,ส่งต่อ รพ.ในเครือข่ายที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลือง แดง โดยหากผู้ป่วย/ญาติปฏิเสธต้องออกค่าใช้จ่ายเอง และกรณีผู้ป่วย/ญาติประสงค์ไปรักษาที่ รพ.อื่น ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
บัตรทอง-ประกันสังคมรักษาได้ รพ.เครือข่ายทุกแห่ง
ด้านทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า UCEP โควิดพลัส ถ้าคนมีสิทธิรักษาฟรีอยู่ในบัตรทองแล้วป่วยโควิดอยู่เกณฑ์สีเขียว ไปรับบริการตามสิทธิ หรือสถานพยาบาลปฐมภูมิในเครือข่ายบัตรทองได้ทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กรณีสีเหลืองหรือแดงก็ยังเข้ารับการรักษา รพ.ใดก็ได้ทั้งรัฐบาล เอกชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย รวมทุกรายการทั้งห้อง อาหาร อุปกรณ์ เว้นรายการอื่นๆ ที่เพิ่มเติม เช่น ห้องพิเศษ อาหารพิเศษ เป็นต้น
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกันตนที่เป็นสีเขียว หรือติดเชื้อาการเล็กน้อย ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาได้ใน รพ.คู่สัญญาทุกแห่งของประกันสังคม เช่น รพ.ตามสิทธิอยู่อีกจังหวัด แต่เดินทางไปทำงาน จ.เชียงใหม่ สามารถเข้า รพ.ที่เชียงใหม่ ที่เป็นคู่สัญญาของประกันสังคมได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนสิ้นสุดการรักษา กรณีสีเหลือง และสีแดงเข้า รพ.ไหนใดก็ได้ในประเทศไทย ทั้งรัฐและเอกชน หากพบปัญหาสามารถโทรสายด่วน 1506 กด 6 หรือ กด7 กรณีไปติดต่อสถานพยาบาลแล้วขัดข้อง
นิยามโควิดเหลือง-แดง
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) สำหรับ UCEP Plus หากมีอาการรุนแรงกลุ่มสีเหลือง สีแดง โดยนิยาม คือ ผู้ป่วยตรวจ ATK ผลเป็นบวก หรือ RT-PCR ผลติดเชื้อ ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ 1.หัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่ามีอาการซึมลง เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกตัวเดิมหรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก
2.มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ หรือ Oxygen Saturation แรกรับ Room Air น้อยกว่า 94% หรือ39 องศา โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือ ในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง หรือ Exercise-induced hypoxia in COVID-19 patients : มีการลดลงOxygen Saturation Room Air มากกว่าหรือเท่ากับ 3% หรือ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงตามดุลยพินิจของผู้คัดแยก
3.มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า1000 เซลล์ต่อไมโครลิตร อื่นๆ หรือ ตามดุลยพินิจของผู้คัดแยก
ขั้นตอนรับบริการUCEP โควิด พลัส
ขั้นตอนรับบริการ อาจจะโทร.แจ้ง 1669 และนำส่ง รพ.เอกชน ก็จะประเมินอาการเจ็บปวดและรักษาเบื้องต้น รพ.ก็จะแจ้งมา สพฉ.ผ่านโปรแกรม PA เพื่อกรอกอาการ หากเข้าตามเกณฑ์ดังกล่าวก็สามารถใช้สิทธิได้เลย กรณีไม่เข้าเกณฑ์เช่นเป็นอาการระดับสีเขียวก็จะใช้ไม่ได้ เว้นแต่รักษาแล้วมีอาการแย่ลงเป็นเหลือง หรือแดง ก็จะเข้าสู่เงื่อนไขได้ หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการรักษา
ทั้งนี้ สพฉ.ได้เตรียมศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยวิกฤติ หากมีข้อติดขัดสงสัยการใช้สิทธิ หรือไปเข้าสู่สถานพยาบาลแล้วไม่ได้รับสิทธิทั้งที่ประเมินตัวเองแล้วควรได้รับสิทธิ ก็สามารถแจ้งมาที่ศูนย์ได้เพื่อให้คำแนะนำชี้แนะ สามารถโทร.02-872-1669 รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนที่ให้บริการกว่า 300 กว่าแห่ง สามารถใช้หมายเลขดังกล่าวประสานงานกับ สพฉ.ในการกรอกข้อมูลหรือสอบถามข้อติดขัดต่างๆ ได้
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์