สกศ.ใช้ CSC โมเดลแก้ภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็กไทย
“สภาการศึกษา”ห่วงภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็กไทย ย้ำเป็นบาดแผลจากโควิด เตรียมเสนอ“CSC โมเดล”แก้ปัญหาทั้งประเทศหลังทดลองใช้ได้ผล
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการจัดการศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พบว่าเกิดภาวะความถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งไม่แตกต่างจากข้อมูลวิจัยจากต่างประเทศที่พบสถานการณ์ถดถอยทางการเรียนรู้เช่นกัน
เช่น ระดับชั้น ป.1-ป.3 วิชาภาษาต่างประเทศ คะแนนเต็ม 3 ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 ขณะที่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย การงานอาชีพ พลศึกษา และศิลปะ ได้ค่าเฉลี่ยไม่ถึง 2 โดยเฉพาะวิชาที่ใช้ฝีมืออย่างวิชาศิลปะยิ่งน่าเป็นห่วงที่มีความถดถอยมาก
- "CSC MODEL" พัฒนา 5 กลุ่มผู้เรียน
จากงานวิจัยระบุว่าการเรียนออนไลน์ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ส่วนระดับชั้นอื่น ๆ ในภาพรวมก็เช่นกันที่พบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ปี ซึ่งถือเป็นบาดแผลที่เกิดขึ้นจากโควิด
ดังนั้น สกศ.จึงได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ด้วยการเสนอแนวทางการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา CSC MODEL (Care plan connecting – Supportive networking – Centralink, provincial learning community)
ดร.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายของที่จะต้องเข้าไปดำเนินการพัฒนาจะมี 5 กลุ่ม คือ
1. เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา
2. เด็กอายุต่ำกว่า18 ปีที่ไม่เข้ารับการศึกษาแม้จะมีความพร้อมก็ตาม
3. เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ลงทะเบียนเรียน แต่ไม่เข้าเรียนหรือเสี่ยงมีแนวโน้มออกกลางคัน
4. เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน
5. เด็กและเยาวชนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีหรือประชาชนทั่วไป
- รูปแบบการพัฒนาผู้เรียนใน 3 ระยะ แก้การเรียนรู้ถดถอย
โดยการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะสั้น คือ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย หรือ C: Care plan connecting เริ่มต้นจากการพัฒนาให้เด็กและเยาวชนในทุกระดับและประเภทการศึกษามีเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพเป็น รายบุคคล
จากนั้นเชื่อมโยง และพัฒนา care plan ให้เกิดขึ้นในทุกระดับ มีการส่งต่อข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งระดับบุคคล สถานศึกษา จังหวัด เขตพื้นที่ฯ และประเทศ นำไปสู่การเกิดขึ้นของ Education passport ที่รวบรวมข้อมูลการพัฒนาผู้เรียนทั้งหมดไว้ในเล่มเดียว
ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทั่วไปของผู้เรียน ข้อมูลด้านการศึกษา ข้อมูลความต้องการในการพัฒนา เช่น ความต้องการ ความถนัด จุดอ่อน จุดแข็ง ตลอดจนปัญหาที่ผู้เรียนเผชิญและความต้องในการได้รับความช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ เป็นต้น
ระยะกลาง คือ การพัฒนาระบบสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ หรือ S: Supportive networking ทั้งในรูปแบบกลุ่มคน พัฒนาอาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ( ศธ.) จากกลุ่มสูงวัยที่ยังมีใจช่วยการศึกษา และ Digital platform เพื่อช่วยเหลือผู้เรียน ผู้ปกครอง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทุกรูปแบบ
เช่น การให้ข้อมูล ศึกษาต่อ การฝึกอบรม/ การพัฒนาทักษะต่าง ๆ หรือ การเป็นพี่เลี้ยง/ ที่ปรึกษาในประเด็นต่าง ๆ เพื่อ แก้ปัญหาร่วมกัน เป็นต้น โดย supportive network ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือ safe zone ที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนและการศึกษาร่วมกัน
ระยะยาว คือ การพัฒนาศูนย์กลางการเรียนรู้ (Learning Community) ในระดับจังหวัด หรือ C: Centralink, Provincial learning community เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาทุกช่วงวัยอย่างครอบคลุม ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สานต่อและพัฒนาแนวคิด learning ecosystem ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
รวมถึงการใช้กลไก/ เครื่องมือ/ รูปแบบ/ เครือข่ายการมีส่วนร่วมด้านศึกษาที่ สกศ. มีเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ดังกล่าวให้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีการทดลองนำร่องแล้วที่จังหวัดกาญจนบุรี และเสนอ รมว.ศธ.แล้ว ซึ่ง รมว.ศธ.เห็นชอบให้นำเสนอคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เพื่อให้มีการขยายผลในโรงเรียนในปีการศึกษา 2565 ต่อไป.