สธ.เผยยอดเสียชีวิตต่อวัน 10-30 %โควิด19ไม่ใช่สาเหตุ
สธ.เผยยอดเสียชีวิต 10-30 %โควิด19ไม่ใช่สาเหตุ เตรียมปรับระบบรายงาน แยกให้ชัดกลุ่มเสียชีวิตจากโรคอื่นแต่ติดโควิดเป็นองค์ประกอบ เผย 5 วันเปิดผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” 14 จังหวัดรอบกรุง พบผู้ใช้บริการราว 8,000 ราย กรมการแพทย์เตรียมทำแนวทางรักษากรณีเป็นโรคประจำถิ่น
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณียอดผู้เสียชีวิติโควิด19สูงขึ้นว่า ต้องดูสาเหตุของการเสียชีวิต โดยหากเป็นผู้ติดโควิด19ที่มีโรคร่วมอื่นๆ จะระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีการหารือถึงการรายงานผู้เสียชีวิตกรณีโควิด19 ควรดูถึงอาการหลักของโควิด เช่น ใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบ เชื้อลงปอดชัดเจน จึงถือว่าโควิด19เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตไม่ใช่เป็นเพียงองค์ประกอบที่ทำให้เสียชีวิต ส่วนกรณีผู้ป่วยติดเตียงซึ่งเดิมพักอยู่บ้าน ป่วยหนักอยู่แล้ว แต่พบว่าติดโควิด19จากคนใกล้ชิด เมื่อเสียชีวิตก็จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริง
“กรณีนี้ต้องแยกออกมา เพื่อทำให้เห็นว่าผู้เสียชีวิตจากโควิดที่คุกคามในระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ จะแยกจำนวนออกมาให้เห็นชัดเจน ซึ่งท่านปลัดฯ และท่านอธิบดีกรมควบคุมโรคได้หารือกันเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน” นายอนุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้านโยบายดูแลผู้ติดโควิด19อาการสีเขียวแบบผู้ป่วยนอก(OPD)เจอ แจก จบ ที่เริ่มเมื่อ 1 มี.ค.2565 นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ติดโควิด19 ดีพอสมควร เป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่า หากผู้ติดเชื้อเข้ารักษาแบบเจอ แจก จบ หรือ OPD สามารถดูแลได้ โดยไม่ต้องเข้ามาในรพ.เพื่อรอคิว และเป็นการช่วยกันดูแลระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพิ่มภาระให้กับรพ.และบุลคลากรแพทย์
“ผู้ที่เข้าตามระบบ เจอ แจก จบ เป็นคนที่เสียสละไม่รับอาหาร 3 มื้อ ทำให้การบริหารจัดการบุคลากรไปดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น ถือเป็นความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยการจะทำให้โควิด19เป็นโรคประจำถิ่น(Endemic) ต้องทำให้คนเข้าใจที่จะอยู่กับโรค สามารถเลี่ยงส่วนที่เป็นอันตราย ส่วนที่จะทำลายเชื้อได้ เช่น วัคซีน ก็เร่งการฉีดให้มากขึ้น เพื่อให้อัตราเสียหายลดลง จนเข้าเกณฑ์โรคประจำถิ่น ที่ต้องมีอัตราเสียชีวิตต่ำกว่า 1 ใน 1,000 ราย หรือ 0.1% จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่ยอมรับได้”นายอนุทินกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่รายงานสถานการณ์โควิด19แต่ละวัน มีประมาณ 10-30% ที่โควิด19ไม่ได้เป็นสาเหตุการเสียชีวิต แต่ตรวจพบติดโควิด19ด้วย เนื่องจากอาการของโควิดน้อย บางกรณีตรวจพบโควิดหลังจากเสียชีวิตแล้ว แต่เมื่อพบเสียชีวิตก็มีการตรวจหาเชื้อก้พบติดโควิด หรือบางกรณีที่อาการจากโรคประจำตัวมากขึ้น จนต้องเข้ารับการรักษาในรพ. ซึ่งต้องมีการตรวจโควิด19ก่อนเข้ารพ. ก็พบว่าติดโควิดทั้งที่ไม่ได้มีอาการของโรคโควิด กรณีเหล่านี้เมื่อเสียชีวิตก็ต้องรายงานเป็นผู้เสียชีวิตกรณีโควิด19ทั้งหมด ทั้งที่โรคโควิดไม่ได้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต โดยจะมีการปรับระบบรายงานผู้เสียชีวิตใหม่ แยกเป็นผู้เสียชีวิตที่มีปอดอักเสบ ไม่มีปอดอักเสบ และไม่ระบุ ซึ่งจะมีรายนงานสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงด้วย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า จากที่สธ.เปิดให้บริการผู้ติดโควิด19แบบผู้ป่วยนอกตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากสายด่วน 1330 มีคนโทรเข้าจำนวนมาก โดยประมาณ 60% เป็นสายจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) ดังนั้น เมื่อวันที่ 4 มี.ค. สธ.จึงเปิดรพ.สังกัดใน 14 จังหวัดรอบกทม. สามารถรองรับวันละ 18,000ราย ได้แก่ นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี จันทบุรี ชลบุรี และ สมุทรปราการ ข้อมูลระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค.2565 จำนวน 5 วัน ให้บริการสะสมแล้วราว 8,000 ราย โดยสัดส่วนของการจ่ายยา เมื่อประชาชนได้ปรึกษากับแพทย์แล้ว มีความเข้าใจมากขึ้น รับยารักษาตามอาการ เช่น ลดไข้ ยาแก้ไอ 50% ยาฟ้าทะลายโจร 22% และยาฟาวิพิราเวียร์ 28%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลโรงพยาบาลที่รายงานเจอ แจก จบ ใน 14 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ ที่มี 3 เขตสุขภาพ ระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค.2565 ให้บริการสะสม 7,839 ราย โดยวันที่มีการเข้าบริการมากที่สุดคือ วันที่ 7 มี.ค. มีผู้ใช้บริการสูงถึง 3,205 ราย รองลงมาวันที่ 8 มี.ค.2565 จำนวน 2,339 ราย วันที่ 4 มี.ค. จำนวน 1,179 ราย วันที่ 5 มี.ค. จำนวน 574 ราย และวันที่ 6 มี.ค. จำนวน 542 ราย โดยเป็นผู้มีสิทธิรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง คิดเป็น 64% ประกันสังคม คิดเป็น 16% สวัสดิการข้าราชการ 7% สิทธิ์ว่างหรืออื่นๆ 9% และต่างด้าว 4%
ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในงานสถาปนากรมการแพทย์ 80 ปี ว่า ความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมให้โควิด19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ในช่วง 1 ก.ค.2565 ได้มีการเตรียมวางไกด์ไลน์ แนวทางการรักษา ที่ค่อยๆปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ จากเดิมรักษาผู้ป่วยแบบผู้ป่วยใน เป็นการรักษาแบบ Home Isolation จนมาเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอกโควิด(OPD) ซึ่งในอนาคต หากโรคไม่รุนแรง ก็อาจมีการปรับแนวทางการรักษาเป็น OPD ซึ่งแนวทางการเป็นโรคประจำถิ่น จะต้องดูเรื่องของความรุนแรงของโรคเป็นหลัก อัตราการเสียชีวิต พบแต่ 1 ใน1,000 หรือ 0.1% โรคไม่มีรุนแรงก็รักษาแบบผู้ป่วยนอกเหมือนไข้หวัดใหญ่ มีการฉีดวัคซีนป้องกัน เหมือนกับโรคตามฤดูกาลทุกปี
“ส่วนยารักษา ขณะนี้เน้นการรักษาตามอาการ จ่ายยาตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องได้รับประทานยา เพราะได้รับผลข้างเคียงจากยา ทั้งผลต่อตับ ไต ตาและผิวมีสีฟ้า จากการรับยาฟาวิพิราเวียร์ ส่วนความคืบหน้าการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์(Molnupiravir)มาถึงไทยแล้ว อยู่ระหว่างการติดฉลาก และกระจายยาไปรพ.ต่างๆ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้ในกลุ่ม 608 เนื่องจากมีการทดลองใช้ในกลุ่มนี้ ส่วนยาแพ็กซ์โลวิก อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาใหม่ ในเดือนเมษายนนี้”นพ.สมศักดิ์กล่าว