เปิดตัว “วิทยาลัยแสงอาทิตย์” แห่งแรกของภาคอีสาน

เปิดตัว “วิทยาลัยแสงอาทิตย์” แห่งแรกของภาคอีสาน

กองทุนแสงอาทิตย์และกรีนพีซประเทศไทย ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร เปิดตัว วิทยาลัยแสงอาทิตย์ แห่งแรกของภาคอีสาน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โครงการ วิทยาลัยแสงอาทิตย์ ต้องหยุดชะงักไประยะเวลาหนึ่ง แต่ตอนนี้ กองทุนแสงอาทิตย์ และ กรีนพีซ ประเทศไทย ได้กลับมาเดินหน้าต่อแล้ว

ล่าสุด มีการเปิดตัว วิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งแรกของภาคอีสาน ที่ติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป นั่นคือ วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร

วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2565 นิพล แก้วกาหลง รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ได้เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการโซลาร์เจนอเรชั่นวิทยาลัยแสงอาทิตย์ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 10 กิโลวัตต์ จาก กองทุนแสงอาทิตย์

พร้อมกับเปิดตัวเป็น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ ของภาคอีสานอย่างเป็นทางการ โดย สถิต สำราญสุข อนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษาวุฒิสภา อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร เป็นประธานในพิธี ณ วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร

เปิดตัว “วิทยาลัยแสงอาทิตย์” แห่งแรกของภาคอีสาน

  • เปิดตัว วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION)

กองทุนแสงอาทิตย์ เปิดรับเงินบริจาคเพื่อติดตั้งระบบ โซลาร์รูฟท็อป ให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว

โดย วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ถือเป็นแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 3 ของประเทศจากการบริจาคของประชาชน ที่เริ่มโครงการโซลาร์เจเนอเรชั่นนี้

เปิดตัว “วิทยาลัยแสงอาทิตย์” แห่งแรกของภาคอีสาน

  • โครงการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปครั้งนี้ มีประโยชน์มากมาย  

-ลดค่าไฟฟ้าให้วิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อปี

-ลดค่าใช้จ่ายได้ราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ (มากกว่า 25 ปี)

-ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ราว 9,010.3 kgCO2e ต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1,010 ต้น

(การปลูกต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 8 กิโลกรัมต่อปี)

เปิดตัว “วิทยาลัยแสงอาทิตย์” แห่งแรกของภาคอีสาน

  • การพัฒนาหลักสูตรพลังงานแสงอาทิตย์และติดตั้งโซลาร์เซลล์

วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นสถานศึกษาที่ผลิตนักเรียน นักศึกษาสายอาชีพกว่า 5,600 คน ในด้านวิชาชีพ

ตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. กลุ่มวิชาอุตสาหกรรม กลุ่มวิชาพาณิชยกรรม และระดับปริญญาตรีเทคโนโลยีบัณฑิต

วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร มีการพัฒนาหลักสูตรการสอนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์และการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับนักเรียนด้วย

เปิดตัว “วิทยาลัยแสงอาทิตย์” แห่งแรกของภาคอีสาน

  • กรีนพีซเสนอแนวทาง ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้โรงเรียนรัฐ

กรีนพีซ มีข้อเสนอเกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของสถานศึกษา “การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา 31,021 โรงเรียนของรัฐ” และเสนอแนวทางการดำเนินงานติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงเรียน

จะช่วยให้โรงเรียนประหยัดงบประมาณและมีรายได้เพิ่มทั้งหมด 5,098 ล้านบาทต่อปี หรือสามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 4.48 ปี

ซึ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการจ้างงานโซลาร์เซลล์เป็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของวิทยาลัย

เพื่อให้นักเรียนที่จบการศึกษาสามารถประกอบอาชีพหรือเป็นผู้ประกอบการด้านพลังงงานแสงอาทิตย์ได้ด้วย

การลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เป็นการมีส่วนร่วมของทุกคนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

หยุดยั้งหายนะจากสภาพอากาศสุดขั้ว เพิ่มความสามารถพึ่งพาตนเองเป็นรากฐานของความยั่งยืนของทุกคนในอนาคต