‘เร่ง’มาตรการด่วน บรรเทาค่าครองชีพ
การหาแนวทางลดค่าครองชีพ เป็นอีกโจทย์สำคัญที่มีความท้าทายยิ่ง หากพลิกฟื้นประเทศได้อย่างจริงจัง ประชาชนจะไม่ต้องแบกค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่มีอัตราแพงด้วยตนเอง อีกทั้งการเสริมสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจประเทศจะทำให้ภาพรวมไปต่อได้พอสมควร
ยังไม่มีความชัดเจนว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน จะยุติลงเมื่อไหร่ และแบบใด หากระหว่างนี้โลกยังต้องเผชิญกับวิกฤติที่หนักหนาสาหัสมากมายเต็มไปหมด ประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น การถกเครียดของทีมเศรษฐกิจ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางมาตรการลดภาระค่าครองชีพ นับเป็นอีกบทพิสูจน์ของทีมเศรษฐกิจนี้ว่า จะพลิกฟื้นประเทศในห้วงเวลานี้ด้วยมาตรการแบบไหนและอย่างไร
ประเทศไทยเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง แถมสารพัดปัญหารุมเร้า ประชาชนในประเทศ รวมถึงธุรกิจห้างร้าน ต้องเจอกับวิกฤติรอบด้านทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อไม่ได้ลดลง มีการแพร่เชื้อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ขณะที่ปัจจุบันเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาทเงินจำนวนนี้รวมกับวงเงินที่ได้คืนมาจากวงเงินคงเหลือจากโครงการคนละครึ่งเฟส 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่ใช้ไม่หมด รวมถึงมีวงเงินส่งคืนมาให้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ อีกประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท
วิกฤติของประเทศวันนี้ จึงไม่ได้มีแค่โควิด สภาวะเงินเฟ้อที่มาพร้อมกับเงินฝืด ศึกสงครามระหว่างประเทศ ส่งผลให้ราคาพลังงานโลก และราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น แม้จะปรับลดลงมาบ้างในช่วงวันสองวันนี้ แต่ราคาสินค้าและค่าขนส่งที่มีน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตต่างขยับตัวสูงขึ้นนำหน้าไปมากแล้ว กระทบค่าครองชีพประชาชนอย่างหนัก ยากที่จะหลีกเลี่ยง สินค้าทุกอย่างปรับขึ้นราคาหมด โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องซื้อใช้ในชีวิตประจำวัน
แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจะมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนไปแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ค่าน้ำ ค่าไฟ อุดหนุนเงินให้ผู้ที่มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านโครงการคนละครึ่ง รวมถึงโครงการเยียวยาต่างๆ ซึ่งสามารถกระตุ้นกำลังซื้อ และเสริมสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจประเทศภาพรวมได้พอสมควร
เราเห็นว่าหลังจากนี้ รัฐควรต้องเร่งหามาตรการที่เข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเพิ่มเติมอีก นั่นแปลว่า รัฐอาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีกมหาศาล ศึกรัสเซียกับยูเครน จะยังเป็นปัญหาอยู่อีกสักระยะหนึ่ง อาจจะถึง 3 เดือน ดังนั้นรัฐต้องเตรียมมาตรการทุกอย่างให้พร้อม ทั้งมาตรการหลักมาตรการเสริม จากนี้ไปรัฐบาลจึงควรพิจารณาการใช้เงิน งบประมาณต่างๆ เพื่อไปอุดหนุนมาตรการที่จะออกมาอย่างรอบคอบ กำหนดเยียวยาให้ถูกจุด ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง บรรเทาความเดือดร้อนได้จริง ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด