ศบค.เห็นชอบ "สงกรานต์ 2565" พื้นที่จัดงาน “อนุญาตเล่นน้ำได้”
ศบค.เห็นชอบปรับพื้นที่สีจังหวัดคุมโควิด-19 ต่อ พรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน เม.ย. - พ.ค.2565 ปรับมาตรการผู้เดินทาง ยกเลิกตรวจเชื้อก่อนเข้า เริ่ม 1 เม.ย. เทศกาลสงกรานต์ 2565 พื้นที่จัดงานอนุญาตเล่นน้ำได้ ห้าม! ประแป้ง - ปาร์ตี้โฟมทุกพื้นที่
เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) แถลงข่าวภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ว่า ศบค.ชุดใหญ่เห็นชอบให้มีการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทั่วประเทศใหม่
สีส้ม พื้นที่ควบคุม จาก 44 เป็น 20 จังหวัด
สีเหลือง พื้นที่เฝ้าระวังสูง จาก 25 เป็น 47 จังหวัด
สีฟ้า พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว จาก 8 เป็น 10 จังหวัด (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่ 18 จังหวัด)
ทั้งนี้ ให้จังหวัดกำหนดพื้นที่ย่อยในระดับอำเภอ ให้เข้มกว่าที่ ศบค. กำหนดได้ตามสถานการณ์ของจังหวัด พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ใช้มาตรการเช่นเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง ทุกพื้นที่ต้องเน้นย้ำมาตรการ Universal Prevention, COVID Free Setting และมาตรการป้องกันควบคุมโรคตาม นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบต่อการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน คือ 1 เม.ย.- 31 พ.ค.2565
ศบค.ปรับระดับพื้นที่จังหวัด
พื้นที่ควบคุม ประกอบด้วย 20 จังหวัด
จังหวัดตาก จังหวัดนครนายก จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครราชสีมา
จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพัทลุง จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดระนอง จังหวัดระยอง จังหวัดราชบุรี
จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดอุดรธานี
จังหวัดอุตรดิตถ์
พื้นที่เฝ้าระวังสูง 47 จังหวัด ประกอบด้วย
จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดจันทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา
จังหวัดชัยนาท จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชุมพร จังหวัดเชียงราย จังหวัดตรัง จังหวัดตราด
จังหวัดนครพนม จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ
จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพะเยา จังหวัดเพชรบูรณ์
จังหวัดแพร่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยโสธร
จังหวัดยะลา จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดลพบุรี จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดเลย
จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสตูล จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสระแก้ว
จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดหนองคาย
จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอ่างทอง จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุบลราชธานี
พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 10 จังหวัด ประกอบด้วย
กรุงเทพมหานคร จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดกระบี่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดนนทบุรี
จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพังงา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเชียงใหม่ (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่)
ศบค.ปรับมาตรการเข้าประเทศ
ศบค.ยังเห็นชอบมาตรการปรับมาตรการป้องกันโรค สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร
ในรูปแบบ Test & Go (บก น้ำ อากาศ) Sandbox ,Quarantine (AO, O0, S0) และผู้ควบคุมยานพาหนะ ที่ไม่มีฐานปฏิบัติการในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 ดังนี้
-ก่อนเดินทางเข้าราชอาณาจักร ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง ทุกกลุ่ม
เมื่อเดินทางถึงราชอาณาจักร
- กรณี Test and Go และ Sandbox ตรวจ RT-PCR วันแรกเมื่อมาถึงไทย และ Self-ATK ในวันที่ 5
- กรณี Quarantine กักตัว 5 วัน และตรวจ RT-PCR วันที่ 4-5
- กรณี ผู้ควบคุมยานพาหนะ ที่ไม่มีฐานปฏิบัติการในไทย กักตัว 5 วัน และตรวจ Self-ATK วันที่ 5
รวมถึง อนุมัติในหลักการแผนการเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร (เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565
ด่านทางบก วันที่ 1 เม.ย. เปิดเพิ่ม จ.สตูล ระยะถัดไปเดือนพ.ค. เปิดเพิ่ม จ.ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และทุกจังหวัดที่มีความพร้อมตามการประเมิน
ท่าเรือ วันที่ 1 เม.ย. เปิดเพิ่ม ท่าเรือในจ.สุราษฎร์ธานี ระยะถัดไปเดือนพ.ค. เปิดเพิ่มท่าเรือในจ.กระบี่ และทุกท่าเรือที่มีความพร้อมตามการประเมิน
ประเภทเรือ วันที่ 1 เม.ย. เปิดเพิ่ม เรือของหน่วยงานราชการในประเทศไทย ลูกเรือสัญชาติไทย บนเรือสินค้า ระยะถัดไปเดือนพ.ค. เปิดเพิ่มเรือสำราญขนาดใหญ่ เรือทั่วไป เรือของหน่วยงานราชการในต่างประเทศ
สนามบิน วันที่ 1 เม.ย. เปิดเพิ่มสนามบินหาดใหญ่ ระยะถัดไปเดือนพ.ค.ทุกสนามบินที่มีความพร้อมตามการประเมิน
สงกรานต์ 2565 พื้นที่จัดงานเล่นน้ำได้
ศบค.ยังเห็นชอบ มาตรการป้องกันโรคโควิด19 ในการจัดการช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 โดยสรุป คือ จัดได้ แต่เน้นเรื่องประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำ ถ้าจัดสันทนาการ ต้องขอนุญาตเพราะมีเรื่องของคนมาร่วมงาน ในส่วนของระหว่างช่วงงานสงกรานต์ อนุญาตให้เล่นน้ำได้ตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ
ㆍพื้นที่จัดงานสงกรานต์ ที่มีการจัดเตรียมสถานที่และควบคุมกำกับ
- อนุญาตให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น
การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ
COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด
- ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน
- กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน
(1 ต่อ 4 ตารางเมตร)
- สวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน
ㆍ พื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ฯลฯ ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าในพื้นที่ ที่ได้รับอนุญาตให้จัดงานสามารถเล่นน้ำได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เล่นน้ำได้ตามวิถีประเพณีไทย คือ รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ ไม่ควรต้องมีการประแป้ง ส่วนหากจะมีเรื่องบันเทิง สันทนาการจะต้องมีการขออนุญาตตามพ.ร.บ.โรคติดต่อโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณา ส่วนบนท้องถนนก็ไม่ควรต้องมีการเล่นน้ำ
ส่วนว่าคำว่าเล่นน้ำ หากหมายถึงประแป้งจะทำไม่ได้ และถ้าหมายถึงการสาดน้ำ ที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ คงเป็นส่วนที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ เช่น อาจจะต้องจัดหาน้ำมาอย่างสะอาด อยู่ระยะห่าง ก็เป็นหน้าที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุญาตหรือไม่ ศบค.ให้หลักการกว้างๆ
ㆍกิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว การรับประทานอาหารร่วมกัน ฯลฯ
-จัดกิจกรรมในที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง ไม่หนาแน่นหรือคับแคบ
-สวมหน้ากากตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน
-เลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน
-ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครอบตามเกณฑ์ ควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนร่วมกิจกรรมสังสรรค์และสัมผัสใกล้ชิดลูกหลาน
-ผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงห้ามร่วมกิจกรรม
การเฝ้าระวัง และควบคุมกำกับ
1. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มี "คณะทำงานควบคุม กำกับ เฝ้าระวัง" ให้เป็นไปตามมาตรการในพื้นที่จังหวัด/กรุงเทพมหานคร
2. ศปก.ต./ศปก.อ. ผู้นำชุมชน ควบคุมกำกับ เฝ้าระวัง ระดับชุมชน หมู่บ้าน ทั้งการรวมกลุ่ม บุคคลภายนอก และกิจการ/กิจกรรม/สถานประกอบ
3. ทุกหน่วยงานร่วมสื่อสารให้ประชาชน ร่วมกันเฝ้าระวังในชุมชน และแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางของรัฐ เช่น ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1111
Facebook ผู้พิทักษ์อนามัย (COVID Watch)
Website : Thai Stop COVID Plus หรือช่องทางอื่นในพื้นที่
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์