ผ่ากลยุทธ์นอกตำรา “สมิติเวช” ทรานฟอร์มยุคใหม่ ไร้ "Vision"
ยุคที่หลายองค์กรเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อหลีกหนีการดิสรัปชั่น ธุรกิจโรงพยาบาล เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการทรานฟอร์มแบบก้าวกระโดดโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 “สมิติเวช” หนึ่งตัวอย่างการทรานฟอร์มสู่ “Hospital Digitalization” ด้วย “สไตล์นอกตำรา” แบบไร้ "Vision"
ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน รูปแบบธุรกิจให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนไป หรือ “Digitalization” เริ่มมีให้เห็นในวงการแพทย์ ซึ่งหลายโรงพยาบาลได้นำดิจิทัลมาใช้ และปรับรูปแบบบริการเพื่อตอบรับเทรนด์ของโลก
“โรงพยาบาลสมิติเวช” ภายใต้การนำของ นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม รพ.สมิติเวช และ รพ.บีเอ็นเอช บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการทรานฟอร์มสู่ “Hospital Digitalization” ด้วย “สไตล์นอกตำรา” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสุขภาพ
นพ.ชัยรัตน์ กล่าวในงาน สัมมนา Digital Transformation for CEO#3 หัวข้อ Hospital Digitalization ณ ห้องบอลรูม โรงแรม โซ แบงค็อก ว่าก่อนจะทำ Digital Transformation ต้องจัดระเบียบก่อน ด้วยการนำทฤษฎี “สวนสัตว์สมิติเวช” เข้ามาจัดการองค์กร “Self-Disruption”
สิ่งแรก คือ “ปลิง” อะไรที่ไม่ดีให้จัดการ จากนั้น “เต่าติดสเก็ต” สิ่งสำคัญ คือ รู้บทบาทหน้าที่ตนเอง แต่ละตำแหน่งต้องรู้บริบทของตัวเอง ทำแต่ละเรื่องให้ดี
ถัดมา คือ “อินทรีย์” เพราะโลกเปลี่ยนทุกวัน ดังนั้น รพ.สมิติเวช จึง “ไม่มีวิชั่น” (No Vision) ต้องเป็นจอมยุทธ์ไร้กระบี่ และ ทุกอย่างต้องทำให้ง่าย สั้น เฉียบ เร็ว , ปัญหาใหญ่ให้แตกย่อยๆ และจัดการ ปัญหาทำให้เกิดปัญญา ปัญญา ทำให้เกิด “ปันผล” หากไม่มีโจทย์ดีๆ จะมีแผนดีดีได้อย่างไร เช่น โควิดถือเป็นโจทย์ที่ดี
เก่ากับใหม่รวมเป็นหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังต้อง “เก่งคน” คุม Behavior ให้ดี Attitude จะดีตาม ดูเป้าหมายส่วนบุคคลและเป้าหมายองค์กร การเปลี่ยนคนในองค์กร คนรุ่นเก่าใช้วิธีเก่า รุ่นใหม่ใช้วิธีใหม่ คนที่ไม่พร้อมเปลี่ยนก็ให้ทำสิ่งที่ไม่พร้อมเปลี่ยน ตอบโจทย์ลูกค้าที่ไม่พร้อมเปลี่ยน เก่ากับใหม่ต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน จะเปลี่ยนทั้งองค์กรไม่ได้ ขณะเดียวกัน กับดักคนเก่ง คือ คนสำเร็จจะไม่สำเร็จ คนไม่สำเร็จจะสำเร็จ เพราะคนเก่งบางทีไม่ฟังคนอื่นอีโก้เยอะจะไปต่อไม่ได้
สำหรับเคล็ดลับการบริหารคนในองค์กร นพ.ชัยรัตน์ อธิบายว่า ให้คิดเป็นสมการ “คนเลว ไม่เก่ง” เป็นตัวหาร , “คนดี แต่ไม่เก่ง” ถือเป็นตัวลบ , “คนดี และเก่ง” เป็นตัวบวก เพราะทำงานตามระบบ แต่ทำงานเป็นขั้นตอน ขณะที่ “คนเลว แต่เก่ง” เทาๆ คิดนอกกรอบ กล้าได้กล้าเสีย กล้าเสี่ยง ลุย เป็นตัวคูณ ส่วนคนเลวที่ปรับตัวเป็นคนดี เก่ง ให้เป็นตัวคูณ
“คนดีที่เก่ง จะสร้างระบบล้อมกรอบ แต่คนเลวที่เก่งจะสร้าง Innovation แบบก้าวกระโดด ดังนั้น ต้องเปิดช่องเล็กๆ ต้องหลับตาข้างหนึ่งให้ คนเลวที่เก่ง ลอดออกช่องได้บ้าง โดยต้องเอาคนดีที่เก่งมาคอยล้อมกรอบไว้”
ขณะที่ “เก่งงาน” ต้องจัดระเบียบ ทำอะไรก่อน หลัง ไม่ต้องทำ สำหรับ Budget ต้องเปลี่ยนตลอดเวลา Smart to ใช้ สอดรับตามการฉวย เวลามีความสุขต้องค้นหาความทุกข์ เพื่อให้เกิดสุขยั่งยืน
“การผลักดันให้คนมี Passion ต้องมีตัวเร้า ดังนั้น สิ่งที่จะเร้าคนเก่งได้ ไม่ใช่แค่ค่าตอบแทนอย่างเดียว แต่ต้องให้โอกาส คนเก่งชอบโอกาส ให้อำนาจการตัดสินใจ ชี้แนะได้ แต่อย่าชี้นำ ให้เขาตัดสินใจ ให้เกิดอิสระต่อการทำงาน และ ให้เขาเท่ Spotlight โชว์เมื่อทำสำเร็จ” นพ.ชัยรัตน์ กล่าว
องค์กรแห่งการสร้างคุณค่า
ขณะเดียวกันการเปลี่ยนกระบวนท่าใหม่ เป็น “ผีเสื้อ” ด้วยสโลแกนของ รพ.สมิติเวช คือ ไม่อยากให้ใครป่วย ถือเป็นการพลิกกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ จุดประสงค์ของโรงพยาบาล คือ ผลักคนไข้ออกจากโรงพยาบาล ทำให้คนกว่า 90% ไม่ป่วย เพราะหากเขาแข็งแรง GDP ประเทศจะเพิ่ม เราสร้างโรงพยาบาล เพื่อสร้าง GDP ของประเทศ สามารถดูแลสุขภาพตนเองก่อนจะป่วย สร้างความประทับใจ และกลายเป็นตัวเลือกแรกที่นึกถึงเวลาไม่สบาย ตามเป้าหมาย คือ ต้องเป็นองค์กรแห่งการสร้างคุณค่า (Value)
นอกจากนี้ยังต้องมีวิชา “คัมภีร์ปูเทวดา” ได้แก่ “ยุทธศาสตร์หลัก” Culture เท่าทันความยั่งยืน , “ยุทธศาสตร์ล้อม” หมากล้อม เท่าทันทุกกระบวนท่า , “ยุทธศาสตร์ไหล” Situation เท่าทันปัจจุบัน ดังนั้น องค์กรที่แก้ปัญหาในอดีต คือ องค์กรที่เดินถอยหลัง แต่องค์กรที่แก้ปัญหาปัจจุบัน คือ องค์กรที่เริ่มเดิน แต่ถ้าเป็นองค์กรที่สามารถดักรอปัญหาได้คือองค์กรที่เริ่มวิ่ง และควบคุมปัญหาได้ “ยุทธศาสตร์ล้ำ” Prediction เท่าทันอนาคต และสุดท้าย “ยุทธศาสตร์ล่อ” เท่าทันล่อ ลวง หลอก (ภายใต้หลักธรรม)
จะอยู่รอดได้ต้องมี “ผีเสื้อ” บวก “ปูเทวดา” เรือใหญ่พอจะอยู่ได้เพราะมี Agile และ Value โดย Corporate Transformation (Self-Disruption) เพื่อความยั่งยืน และ Digital Transformation เพื่อการก้าวกระโดด “ยั่งยืน” และ “ก้าวกระโดด” ต้องไปคู่กัน