สปสช. รณรงค์ "วันดาวน์ซินโดรมโลก" ชู "สิทธิบัตรทอง" คัดกรองตั้งแต่ในครรภ์

สปสช. รณรงค์ "วันดาวน์ซินโดรมโลก" ชู "สิทธิบัตรทอง" คัดกรองตั้งแต่ในครรภ์

"สปสช." รณรงค์ 21 มีนาคม “วันดาวน์ซินโดรมโลก” ให้สาธารณชนตระหนัก สนับสนุนพัฒนาการเด็กให้ดีขึ้นเท่าที่จะทำได้ พร้อมชู "สิทธิประโยชน์บัตรทอง" คัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พร้อมขยายจำนวนครั้งฝากครรภ์ไม่จำกัด

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ทุกวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปีถือเป็น วันดาวน์ซินโดรมโลก (World Down's syndrome Day) ซึ่งในวันนี้องค์การดาวน์ซินโดรมทั่วโลกจะจัดและเข้าร่วมงานที่ต้องการให้สาธารณชนเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับดาวน์ซินโดรม โดยมีการจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2549 ที่ประเทศสิงคโปร์ และจัดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันโดยสมาคมดาวน์ซินโดรม

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับเด็กที่มีกลุ่ม "อาการดาวน์ซินโดรม" จะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันในลักษณะเฉพาะตัว อันเกิดจากยีนหรือสารพันธุกรรมบนโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินเป็น 3 แท่ง ซึ่งเป็นที่มาของวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี โดยเด็กที่มีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม จะมีปัญหาสุขภาพรวมถึงพัฒนาการที่ล่าช้า จำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพ การสนับสนุนพัฒนาการต่อเนื่อง ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากและกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ ทั้งนี้ ประเทศไทยมี ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( บัตรทอง )

ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ ดูแลคนไทยให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมถึงผู้ที่มีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้าถึงการรักษา บริการสาธารณสุข การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ตามสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง เพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้ดีขึ้นเท่าที่เด็กสามารถจะทำได้

 

สปสช. รณรงค์ \"วันดาวน์ซินโดรมโลก\" ชู \"สิทธิบัตรทอง\" คัดกรองตั้งแต่ในครรภ์

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณรายปีให้กับ สปสช. เพื่อบริหารจัดการสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ให้กับประชาชนคนไทยทุกสิทธิ ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต และประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลในระยะยาวได้ โดยในปีงบประมาณ 2565 สปสช.ได้จัดหมวดงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้น

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สปสช. ได้จัดหมวดหมู่สิทธิประโยชน์ออกเป็นตามช่วงวัย ประกอบด้วย

1. สิทธิประโยชน์ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด

2. กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-5 ปี

3. กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี

4. กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี

5. กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยในส่วนการดูแลการตั้งครรภ์ใน สิทธิประโยชน์ของบัตรทอง นั้น ล่าสุดในปีนี้ ได้มีการขยายกำหนดจากเดิม ฝากครรภ์ 5 ครั้ง เปลี่ยนเป็นไม่จำกัดตามดุลยพินิจของแพทย์

 

พร้อมกันนี้ สปสช.ยังได้แยกการจ่ายสำหรับบริการ "ฝากครรภ์" และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) ที่จำเป็นออกจากกัน รวมถึงการจ่ายเฉพาะการตรวจและบริการพิเศษ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับบริการได้อย่างสะดวกและได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด โดยให้บริการตรวจ Lab ประกอบด้วย ตรวจซิฟิลิส ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจคัดกรองโลหิตจางธาลัสซีเมีย (MCV และ/หรือ DCIP) และหมู่โลหิต (ABO/Rh) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีบริการตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจสุขภาพช่องปากและบริการขัดทำความสะอาดฟัน การตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรม และการตรวจยืนยันธาลัสซีเมียและภาวะดาวน์ซินโดรม ตั้งแต่การมาฝากครรภ์ครั้งแรกหรือครั้งถัดมา และตรวจซิฟิลิส ไวรัสเอชไอวี ซ้ำอีกครั้งเมื่อใกล้คลอด

 

"ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้พ่อ-แม่สามารถวางแผนการดูแลครรภ์ หรือเตรียมความพร้อมด้วย สปสช.จึงขอเชิญชวนหญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิการรักษาสามารถไปรับบริการฝากครรภ์ได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิของท่านเพื่อรับการดูแลตามสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ตามมาตรฐานการฝากครรภ์คุณภาพของกระทรวงสาธารณสุข"

 

“ส่วนกลุ่มของเด็กแรกเกิด เมื่อทารกคลอดออกมาก็จะได้รับการตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนและโรคฟินิลคีโตนูเรีย โดยในปีนี้ได้มีการขยายสิทธิประโยชน์ใหม่สำหรับการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก 40 โรคด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry ซึ่งปัจจุบันตรวจประมาณ 24 โรค ให้กับเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือสงสัยจากการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ สิทธิประโยชน์บัตรทอง ที่มอบให้กับคนไทยตั้งแต่อยู่ในครรภ์” นพ.จเด็จ กล่าว

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso