เปิดหลากมุมมอง หากผู้หญิงพก "ถุงยางอนามัย"
การพก "ถุงยางอนามัย" ของผู้หญิงไทยอาจถูกมองในแง่ลบ แต่หากมองอีกมุม การพกถุงยางอนามัยเป็นสิ่งสำคัญช่วยให้ผู้หญิง "ปลอดภัย" ได้
จากข้อมูลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและโรคหนองใน ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ HIV มากกว่าคนปกติ 5 - 9 เท่า
สำหรับกรณีนี้ Mirror Thailand ได้จัดแคมเปญรณรงค์ให้ผู้หญิงกล้าพกถุงยางอนามัย ล่าสุดทางทีมงาน Mirror Thailand ได้เชิญชวนผู้หญิงที่มีความสนใจในเรื่องของการผลักดันให้ผู้หญิงหลายๆ คน หันมาทำความเข้าใจว่าการพก "ถุงยางอนามัย" นั้นไม่ใช่เรื่องน่าอาย และไม่ใช่เรื่องผิดปกติมาพูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้หญิงมากขึ้นผ่านกิจกรรม Mirror Talk
การร่วมพูดคุย Mirror Talk
- ถ้าคุณไม่มี เรามี
"ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์" นักเขียนและทีมงาน Mirror Thailand กล่าวว่า ที่มาของการรณรงค์เรื่องนี้ จากเดิมผู้หญิงยังติดภาพว่า การคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัย ผู้หญิงยังไม่ค่อยมีความกล้าที่จะเป็นฝ่ายพก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความรู้สึกในใจตัวเอง หรือแรงจากสังคมภายนอกที่กระทบ เพราะที่ผ่านมามีเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งของตนไม่ได้พกถุงยาง และฝ่ายชายก็ไม่มีถุงยางเช่นเดียวกัน เมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้วทำให้ต้องอาศัย "ยาคุมฉุกเฉิน" รวมถึงต้องไปตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้มองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ควรเป็นภาระของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว เมื่อผู้ชายยืนยันว่าตัวเองไม่มีและไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย ทำให้เกิดความคิดว่าถ้าเราชวนให้ผู้หญิงมาพกถุงยางอนามัยไว้กับตัว อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า
"ฉัตรรวี" มองว่าอย่างน้อยเมื่ออยู่ในสถานการณ์นั้น เรายังป้องกันตัวเองได้ เพราะ Safe Sex ไม่ใช่เรื่องที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ หรือต้องเหนียมอาย จากสิ่งที่ต้องเตรียมป้องกันไว้ โดยหนึ่งประโยคที่ใช้ในการรณรงค์ก็คือ “ถ้าคุณไม่มี เรามี” เพื่อไม่ให้ผู้หญิงพาตัวเองไปเจอความเสี่ยงที่น่ากลัวในอนาคต
"ไม่จำเป็นที่ผู้หญิงจะต้องมาจัดการตัวเองคนเดียวเลย อยากชวนให้ผู้หญิงพกได้อย่างเป็นเรื่องปกติเหมือนพกเครื่องสำอางอย่าให้สังคมมาตีตราคุณเพราะปัจจุบันสังคมก้าวหน้าไปมากแล้ว"ฉัตรรวี ระบุ
- ถุงยางมีขนาดเล็ก ผู้หญิงพกเองได้
ด้าน "กฤตพร มณฑีรรัตน์" ศิลปินวง Olives ระบุว่า เราไม่รู้ว่าเซ็กซ์จะเกิดขึ้นในตอนไหน การที่ผู้หญิงพกถุงยางเองจะง่ายกว่าการที่จะไปรับประทานยาคุมภายหลัง เพราะอาจจะมีผลกระทบด้านสุขภาพตามมา "ถุงยางอนามัย" นอกจากจะป้องกันโรคแล้ว ยังสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมอีกด้วย
"ส่วนตัวมองว่าถุงยางมีขนาดเล็กเพราะฉะนั้นไม่เป็นไร หากผู้ชายไม่พกผู้หญิงก็สามารถพกเองได้ ไม่เช่นนั้นถ้าหากมาทราบภายหลังว่าผู้ชายมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภาระในการจัดการปัญหา และดูแลตัวเอง จะต้องมาตกที่ฝ่ายหญิง การรณรงค์ให้ผู้หญิงพกถือเป็นเรื่องที่ดีและไม่ใช่เรื่องเสียหาย"กฤตพร ระบุ
- ถุงยางอนามัย ทำให้เราปลอดภัย
ขณะที่ "มารีญา พูนเลิศลาภ" มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สปี 2017 มองว่า เมื่อเรารู้ว่าขนาดถุงยางอนามัยไม่ได้ใหญ่มาก และเป็นสิ่งที่ทำให้เราปลอดภัย ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาหากผู้หญิงจะพกถุงยางฯ เพราะการพกถุงยางถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการดูแลตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงเท่านั้นแต่รวมถึงฝ่ายชายด้วย เมื่อเรารู้ตัวว่าเราพร้อม เราอยู่ในช่วงเวลาของชีวิตที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะดูแลตัวเอง
สุดท้ายนี้เรื่องที่ผู้หญิงจะพกถุงยางอนามัยเองนั้น อาจจะถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้หญิงจะเลือกใช้เพื่อปกป้องดูแลตัวเอง เนื่องจาก "ถุงยางอนามัย" ไม่ได้มีราคาแพง และสามารถหาซื้อได้ง่าย
แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจมีคนบางกลุ่มที่ยังมองว่า เรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของผู้ชาย แต่ต่อไปในอนาคตเมื่อสังคมเกิดความเท่าเทียมการพกถุงยางอนามัย ไม่ว่าเพศใดจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ เราควรเริ่มให้ความรู้และความมั่นใจในการพกถุงยางอนามัยของผู้หญิงในสังคมตั้งแต่ตอนนี้
สำหรับการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นสำหรับผู้หญิงที่ได้รับการยอมรับมีดังนี้
1. การทำหมัน ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่เป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร
2. การกินยาคุมกำเนิด
3. การฉีดยาคุมกำเนิด
4. การแปะแผ่นยาคุมกำเนิด
5. การใส่ห่วงคุมกำเนิด
6. การฝั่งยาคุมกำเนิด
นอกจากนี้ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถิติปี 2562 พบเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคได้แก่ หนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง สูงถึง 124.6 ต่อประชากรแสนคน หากแยกรายโรคพบว่า โรคหนองในสูงถึง 69.7 และซิฟิลิส สูงถึง 39.3 ต่อประชากรแสนคน ดังนั้นการรณรงค์ให้ผู้หญิงเริ่มหันมาให้ความสนใจในการพกถุงยางอนามัยจึงถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญต่อสุขภาพ