วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) แก้ปัญหาจุดประทัด สร้างอาคารลดเสียงลดฝุ่น
วัดเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช มีผู้มาสักการะจุดประทัดจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเรื่องเสียงดังและฝุ่นควัน กรมควบคุมมลพิษและวัดเจดีย์ จึงได้สร้างอาคารปลอดมลพิษขึ้นมา
สภาพแวดล้อมมีผลต่อการดำเนินชีวิต ดังเช่น ชาวบ้านละแวก วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) ที่ได้รับผลกระทบจากการ จุดประทัด แก้บน ก่อเกิดเสียงดังและฝุ่นควันมากมาย เป็นเวลาหลายปี จึงได้ออกมาร้องเรียน
ซึ่งก่อนหน้า ทางวัดได้กำหนดสถานที่สำหรับจุดประทัดไว้กลางแจ้ง ปล่อยให้ลมพัดสลายควันไป แล้วให้เจ้าหน้าที่ใช้น้ำควบคุมดับไฟเป็นระยะ ๆ
- ผนังสามด้าน การจัดการระยะแรก
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า
"กรมควบคุมมลพิษได้รับร้องเรียนเรื่องเสียงดังและฝุ่นควันจากการจุดประทัดของ วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ไปแก้ปัญหา
Cr.วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่)
“คพ.ได้มอบหมายให้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 (สสภ.14 สุราษฏร์ธานี) ลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหากับหน่วยงานในจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากพลังศรัทธาต่อ ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ มีเยอะมาก ทางวัดก็รับทราบยินดีสนับสนุนนโยบายลดฝุ่นด้วยการสร้างอาคารจุดประทัดปลอดมลพิษขึ้นมา
วันที่ 8 กันยายน 2563 มีการลงพื้นที่ พบว่า ทางวัดได้จัดทำผนังปิดกั้นสามด้าน แต่ก็ยังมีเสียงดังและฝุ่นควันจากการจุดประทัด มีน้ำเสียจากการฉีดพรมดับประทัดเล็กน้อย
ทางวัดได้มี มาตรการระยะสั้น จุดประทัดครั้งละไม่เกิน 10,000 นัด โดยเจ้าหน้าที่ของวัดเป็นผู้จุด และมีการดูแลทิศทางลมและสภาพภูมิอากาศ กำหนดให้จุดในเวลา 09.00-16.00 น.
ส่วน มาตรการระยะยาว ได้แต่งตั้งคณะทำงาน ศึกษา,ดูแล,ออกแบบ ที่จุดประทัดปลอดมลพิษ ลดเสียงและฝุ่นควัน ซึ่งได้ออกแบบเรียบร้อยแล้ว
คณะผู้ร่วมตรวจสอบมีข้อเสนอแนะว่า ให้วัดควบคุมกลิ่นและมลพิษอื่นๆ จากการจุดประทัดที่ชัดเจน และเร่งจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง”
Cr.วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่)
- อาคารจุดประทัดปลอดมลพิษ
ต่อมา วันที่ 2 กันยายน 2564 การก่อสร้าง อาคารจุดประทัดปลอดมลพิษ ได้แล้วเสร็จ อยู่ห่างจากจุดเดิม 500 เมตร ไปทางด้านหลังวัด แต่ยังไม่ได้ติดตั้งระบบกำจัดมลพิษ เนื่องจากโควิด-19 ช่างไม่สามารถเข้าทำงานได้
ยังคงมีการจุดประทัด ณ จุดเดิม แต่โควิด-19 ทำให้มีคนจุดน้อยมาก เนื่องจากวัดมีมาตรการจำกัดจำนวนคน และกำชับเจ้าหน้าที่วัด จุดประทัดให้ตรงตามกำหนดเวลาและดูทิศทางลม
- ทดลองใช้ระยะแรก
ล่าสุด วันที่ 27 มีนาคม 2565 ยงยุทธ พนิตอังกูร ผอ.สสภ.14 ได้ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช, อบต.ฉลอง, กำนันตำบลฉลอง, ตัวแทนวัด และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอาคารจุดประทัด ลงพื้นที่
แล้วกล่าวว่า ระบบเดิม มีการจุดประทัดประมาณ 1-2 ล้านนัดต่อวัน ระยะ 1-2 ชั่วโมงจุดหนึ่งครั้ง ส่วนระบบใหม่ก่อสร้างอาคารจุดประทัดพร้อมติดตั้งระบบกำจัดมลพิษดำเนินการแล้วเสร็จ โดยใช้ระบบกำจัดมลพิษแบบห้องเผาควันด้วยระบบน้ำมัน
"ขณะนี้อยู่ในระหว่างทดสอบระบบและแก้ไขปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในเดือนเมษายน 2565 สามารถรองรับการจุดประทัดได้วันละ 5 ล้านนัด"
- ใช้มอเตอร์ดูดอากาศ 6 ตัว
ยงยุทธ กล่าวต่อว่า การทำงานของ ระบบกำจัดมลพิษ เมื่อจุดประทัดแล้ว ควันในห้องจะถูกดูดโดยมอเตอร์ดูดอากาศ จำนวน 6 ตัว
"เข้าเตาเผาควันที่อยู่บนหลังคาอาคาร มีหัวเผาด้วยน้ำมัน จำนวน 2 หัวเผา แล้วระบายควันออกสู่ภายนอก
มีระบบสเปรย์น้ำเพื่อดับไฟและลดฝุ่นควันภายในอาคาร โดยใช้น้ำปริมาณน้อย จึงไม่เกิดน้ำเสียออกสู่ภายนอก
จากการทดสอบการจุดประทัด จำนวน 200,000 นัด ปรากฏว่าในห้องมีฝุ่นควันเยอะมาก แต่ถูกดูดขึ้นไปเผาด้านบนและระบายควันออกมาด้านนอกเล็กน้อย แต่เสียงยังดังอยู่ เมื่อมีการใช้งานจริง"
ทางด้านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษก็กล่าวว่า ต่อจากนี้จะมีการติดตามปรับปรุงแก้ไขปัญหานี้ต่อไป เพื่อให้วัดและประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข