แพทย์ย้ำ! ไม้ Swab ไม่อันตราย พร้อมรู้วิธีใช้ ATK (Nasal Swab) ให้ถูกต้อง
อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม กรณีใช้ไม้ Swab เข้าไปกว้านลึกถึงเพดานจมูก จะสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อพังผืดเส้นประสาท ด้านกรมการแพทย์ชี้ชัดว่า ไม่จริง! ชวนรู้วิธีตรวจหาเชื้อโควิดด้วย ATK แบบที่ใช้ไม้ Swab ให้ถูกต้อง
จากกระแสการแชร์ "ข่าวปลอม"กรณีตรวจหาเชื้อ "โควิด-19" ด้วยวิธีสอดไม้ Swab เข้าไปกว้านลึกถึงเพดานจมูก จะทำให้เนื้อเยื่อพังผืดเส้นประสาทเกิดความเสียหาย ด้าน “กรมอนามัย” ออกมาโต้ตอบทันทีว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง!
โดยข่าวปลอมดังกล่าวอ้างว่า การสอดไม้ Swab เข้าไปกว้านลึกถึงเพดานจมูก จะสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อพังผืดที่ห่อหุ้ม Olfactory Nerve ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและอายุขัยของมนุษย์
เนื่องจาก olfactory nerve เป็นปราการของกะโหลกศีรษะ ซึ่งเชื่อมระหว่างโพรงจมูกกับสมอง หากเนื้อเยื่อตรงนี้เสียหาย ไวรัส และแบคทีเรียก็จะสามารถผ่านไปยัง blood-brain barrier และเข้าสู่สมองได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ข้อมูลเท็จ! Swab ถึงเพดานจมูกทำเนื้อเยื่อพังผืดเสียหาย ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- เช็ค “วิธีใช้ ATK” ตรวจวิธีไหนให้ผลแม่นที่สุด
- จุด "ตรวจโควิด" แบบ ATK , RT-PCR อัปเดตล่าสุด เริ่มต้น 150 บาท
ด้าน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวและชี้แจงว่า การสอดไม้ Swab เข้าไปในจมูกมีโอกาสขึ้นไปที่ตำแหน่งของเส้นประสาทรับกลิ่นได้จริง แต่ไม่สร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทอย่างที่หลายคนกังวล
อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าการสวอปทำให้เส้นประสาทรับกลิ่นเสียหายจนสูญเสียการรับกลิ่น
ดังนั้น การสวอปควรทำให้ถูกวิธีคือ แหย่เข้าไปตามแนวของพื้นจมูก เพื่อให้เข้าไปยังบริเวณโพรงหลังจมูกซึ่งมีโอกาสเจอเชื้อโรคได้มาก ซึ่งจะไม่โดนตำแหน่งของเส้นประสาทดังกล่าวอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังคือ ในกรณีที่คนไข้เคยได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับฐานสมอง หรือเคยผ่าตัดซ่อมฐานสมองมาก่อน ควรให้แพทย์หู คอ จมูก หรือแพทย์ที่ชำนาญเป็นผู้ทำการสวอปให้
นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำจาก "องค์การเภสัชกรรม" เกี่ยวกับการสวอปเพื่อตรวจคัดกรองโควิดด้วย ชุดตรวจ ATK แบบ Nasal Swab ซึ่งจะต้องใช้ไม้แหย่เข้าไปในโพรงจมูก โดยมีขั้นตอนที่ถูกต้อง ดังนี้
1. ล้างมือให้สะอาด
2. สอดก้านเก็บตัวอย่างเข้าไปในโพรงจมูกลึกประมาณ 2.5 เซนติเมตร หมุนข้างละ 5 รอบ
3. คลายเกลียวฝาหลอดสกัดตัวอย่าง นำสารสกัดใส่ลงไปในหลอดสกัด
4. นำก้านเก็บตัวอย่างใส่ลงไปในหลอดสกัดทำการหมุนก้านเก็บตัวอย่าง 3-5 ครั้ง
5. ปล่อยก้านเก็บตัวอย่างไว้ในหลอดสกัดเป็นเวลา 1 นาที
6. ทำการบีบใต้หลอดสกัดแล้วดึงก้านเก็บตัวอย่างขึ้นจากหลอดสกัด
7. ปิดฝาหลอดสกัดให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้สารสกัดไหลออก
8. หยดสารสกัด 3 หยด ลงไปยังตลับทดสอบ
9. อ่านผลการทดสอบใน 15-20 นาที
หากพบว่าติดเชื้อ จะขึ้นแถบสีแดงที่ แถบ C และ T
หากพบว่าไม่ติดเชื้อ จะขึ้นแถบสีแดงที่ แถบ C เท่านั้น
หากพบว่า ไม่สามารถแปลผลได้ จะไม่ปรากฏแถบสี หรือปรากฏแถบสีเฉพาะที่ตัว T และต้องตรวจด้วยชุดทดสอบอันใหม่
10. เมื่อตรวจเสร็จแล้วให้ทิ้งทุกอย่างในซองพลาสติกที่ให้มา แยกทิ้งเป็นขยะติดเชื้อ
นอกจากนี้ หากต้องการผลตรวจ ATK ที่แม่นยำ ก็มีข้อปฏิบัติที่ต้องทำตาม ขณะที่ตรวจด้วยตัวเอง ได้แก่
- ห้ามนำชุดตรวจ ATK ไปทดสอบกับของเหลวอื่นที่ไม่ใช่สารคัดหลั่ง อาจให้ผลลัพธ์เป็นบวกปลอม
- ไม่ควรอ่านผลตรวจ ATK หลังผลออกเกิน 20 นาที
- ชุดตรวจ ATK เมื่อแกะออกจากซองแล้วต้องใช้ทดสอบทันที ห้ามทิ้งไว้นานก่อนทดสอบ
-----------------------------------
อ้างอิง : ศูนย์ข้อมูล COVID-19 (ข้อมูล ณ 28 มี.ค.65), องค์การเภสัชกรรม
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์