ถนนวิภาวดีฯไม่มีขยะ (2) ตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน
รัฐบาลบรรจุเรื่องการจัดการขยะอย่างยั่งยืนไว้ในโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวาระแห่งชาติด้านเศรษฐกิจBCG (Bio-Circular-Green Economy Model)
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับ 28 องค์กรพันธมิตร ได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ (ระยะที่ 2) : ร่วมขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน”นำเสนอกรอบแผนการดำเนินงานโครงการฯ ระยะที่ 2 พร้อมทั้ง รายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ ระยะที่ 1 ที่ผ่านมา ให้กับองค์กรภาคีเครือข่ายและสังคมได้รับทราบข้อมูลในวงกว้าง
องค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 2 ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนและขยายผลการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อพัฒนาสู่โมเดลการบริหารจัดการขยะภายในองค์กร โดยเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศไทยดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืน
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)กล่าวว่าปัจจุบันสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้มีการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ
ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับเชิงนโยบายและการปฏิบัติในระดับพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ การพัฒนาและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล อันจะเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
- จัดการขยะผ่านโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน
โดยปัจจุบันประเทศไทยและทั่วโลกต่างก็ประสบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัญหาจากขยะ ขยะพลาสติกและการบริหารจัดการขยะที่ไม่เต็มประสิทธิภาพก็ได้กลายมาเป็นปัญหาหลักทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งได้บรรจุอยู่ในวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติเช่นกัน
ประเทศไทยทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้มีความตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย และขยะพลาสติก โดยรัฐบาลไทยได้ประกาศให้การจัดการปัญหาขยะมูลฝอยยกระดับเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยการมุ่งเน้นการลดการเกิดขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ควบคู่กับการนำวัสดุใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำและนำมาใช้ประโยชน์ใหม่
นอกจากนี้รัฐบาลยังบรรจุเรื่องการจัดการขยะอย่างยั่งยืนไว้ในโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวาระแห่งชาติด้านเศรษฐกิจBCG (Bio-Circular-Green Economy Model)อีกด้วย
ทั้งนี้ การร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาของประเทศ ด้านการบริหารจัดการขยะสามารถดำเนินการได้โดยการเริ่มต้นจากการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และส่งต่อความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ในกลุ่มธุรกิจและถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่สังคมภายนอก
เพื่อแสดงถึงพลังจากการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสามารถขยายผลไปสู่ธุรกิจต้นแบบด้านความยั่งยืนและธุรกิจคาร์บอนต่ำ(Low Carbon Business)พร้อมทั้ง ร่วมสนับสนุนและผลักดันนโยบายระดับประเทศ โดยจะร่วมสร้างต้นแบบที่ถนนวิภาวดี
- ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ เฟส2 แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
โครงการในระยะที่ 2 นี้ จะเป็นการดำเนินงานที่สานต่อการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรและประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินงานในระยะแรกไปใช้ในการวางแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ต่อยอดขยายผลการดำเนินงานโครงการ เพื่อพัฒนาสู่โมเดลการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรที่จะนำไปปรับใช้และขยายผลต่อไป มีองค์กรพันธมิตรจากภาคธุรกิจไทยเข้าร่วมจำนวน 29 องค์กร จาก 19 อาคารหลักที่ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินงานธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม
ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศ
ได้แก่ วาระแห่งชาติ BCG และการมุ่งไปสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามเป้าหมายระยะยาวของประเทศต่อไป เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคต
- ก.ล.ต.กำหนดความยั่งยืนผ่านเศรษฐกิจใหม่
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดประเด็นความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเรือธงของแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy:BCG) ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การได้ค่สหประชาชาติ(UN SDGs)
สำหรับมิติด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจในตลาดทุน อันนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย
"ในฐานะสมาชิกและผู้ริเริ่มโครงการถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม รวมทั้งได้ผลักดันและสนับสนุนโครงการ ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ ระยะที่ 2 โดยให้การสนับสนุนมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นผู้ดำเนินโครงการ เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลต่อยอดไปสู่พื้นที่อื่นในวงกว้างต่อไป" เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว
นอกจากนั้น ได้สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะสะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนยังสามารถนำผล การดำเนินงานภายใต้โครงการฯ นี้ เปิดเผยข้อมูลใบ 56-1 One Report ตามหลัก ESG ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2565 ได้อีกด้วย
การร่วมประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรพันธมิตรครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ภาคธุรกิจได้ร่วมแสดงพลังความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล ของภาคธุรกิจในตลาดทุนเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นที่เชื่อถือและยอมรับในระดับสากล
โดยมีผู้บริหารจากองค์กรพันธมิตรจากภาคธุรกิจไทยมาร่วมประกาศเจตนารมณ์ เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินงานธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้ง เพื่อช่วยขับเคลื่อนวาระแห่งชาติต่าง ๆ ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันเป็นแบบอย่างอันดีให้แก่องค์กรอื่น ๆ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศต่อไป