ไขข้อสงสัย ทำไม "ไม้กลายเป็นหิน" หลังไทยเตรียมบันทึกสถิติยาวที่สุดในโลก
ไขข้อสงสัย ทำไม "ไม้กลายเป็นหิน" หลัง กรมทรัพยากรธรณี จับมือ สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย และ ภาคเอกชน เตรียมบันทึก "สถิติโลก" ใหม่ "ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก" อายุกว่า 1.2 แสนปี ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก
หลังจากที่ กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย จับมือภาคเอกชน เตรียมบันทึกสถิติโลก Guinness World Records ซากดึกดำบรรพ์ ไม้กลายเป็นหิน ที่ยาวที่สุดในโลก ยาว 69.70 เมตร อายุราว 1.2 แสนปี ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก
การบันทึกสถิติโลกในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และภาคเอกชน เพื่อขอรับรองสถิติไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการกับ Guinness World Records (GWR) คาดว่ากระบวนการขอรับรองสถิติโลกจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ และมีพิธีรับมอบป้ายในวันที่ 29 เมษายน 2565 ซึ่งจะถือว่าประเทศไทยได้เป็นเจ้าของสถิติใหม่ของ ไม้กลายเป็นที่ยาวที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการ
สถิติปัจจุบัน "จีน" ยาวเพียง 38 เมตร
นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวในงานแถลงข่าวออนไลน์ “การเตรียมการบันทึก สถิติโลก ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” เมื่อวันที่ โดยระบุว่า กรมทรัพยากรธรณี ได้ตรวจสอบสถิติข้อมูล ไม้กลายเป็นหินที่ถูกบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ พบว่าไม้กลายเป็นหินมีความยาวที่สุดในโลกที่บันทึกสถิติในปัจจุบัน เป็นไม้กลายเป็นหินพบที่มณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีความยาวเพียง 38 เมตรเท่านั้น กรมทรัพยากรธรณี จึงร่วมกับสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ประสานไปยัง GWR เพื่อยื่นเอกสารขอบันทึกสถิติโลกใหม่ของไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกให้เป็นปัจจุบัน
ไทยค้นพบ "ต้นทองบึ้ง" เมื่อ 18 ปีที่แล้ว
สำหรับ ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก นี้ เป็นหนึ่งในไม้กลายเป็นหินที่ถูกค้นพบในปี 2546 หรือเมื่อ 18 ปีที่แล้ว มีความยาวมากที่สุดถึง 69.70 เมตร เทียบเท่ากับความสูงของตึก 20 ชั้น เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เมตร มีอายุไม่ต่ำกว่า 120,000 ปี จากการตรวจสอบพบเป็น "ต้นทองบึ้ง" ซึ่งไม่พบในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันแล้ว แต่พบมากในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางภาคใต้และบริเวณคาบสมุทรมลายู
ไม้กลายเป็นหิน คืออะไร?
ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี ให้ความรู้เกี่ยวกับ "ไม้กลายเป็นหิน" (Petrified wood) โดยระบุว่า มีความหมายตามพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 คือ เนื้อไม้ที่กลายสภาพเป็นหิน เนื่องจากสารละลายซิลิกา เข้าไปแทนที่เนื้อไม้อย่างช้าๆ โดย แทนที่โมเลกุลต่อโมเลกุล จนกระทั่งแทนที่ทั้งหมดโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้าง ปรกติซิลิกาในเนื้อไม้นี้อยู่ในรูปของโอพอลหรือคาลซิโดนี
หากแปลตามคำนิยามข้างต้น แสดงว่าต้องมี “ไม้” เป็นวัตถุตั้งต้น ภายหลังจึงมีสารเคมี ชนิดหนึ่งเรียกว่า “ซิลิกา” เข้ามาทำปฎิกิริยากับเนื้อไม้โดยที่ไม้ยังคงรูปลักษณ์เดิมอยู่ และสารเคมี นั้นเข้าไปอยู่ในเนื้อไม้ในรูปของแร่ “โอพอล หรือ คาลซิโอนี” ไม้กลายเป็นหินเป็นซากดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่งที่สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับผู้คนทั่วโลก และนำไปสู่การศึกษามากมาย เพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับที่มาของมัน
เงื่อนไขที่เอื้อให้ไม้กลายเป็นหิน
ทั้งนี้ จากนิยามข้างต้น และผลการศึกษาวิจัยมากมายสามารถสรุปสมมุติฐานเงื่อนไขการกำเนิด ของไม้กลายเป็นหินในเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้
1. ไม้ต้นกำเนิด ต้องไม่ผุพัง หรือถูกย่อยสลายดัวยเชื้อเห็ด รา หรือแบคทีเรียก่อนถูก แทนที่ด้วยซิลิกา
2. ต้องมีแหล่งต้นกำเนิดสารซิลิกาจากหินภูเขาไฟ หินแกรนิต หรือหินอื่นๆ ที่มีซิลิกา
3. ต้องมีน้ำเป็นตัวปิดกั้นออกซิเจนไม่ให้ไม้ผุสลาย ทำหน้าที่ละลายซิลิกา และพาซิลิกา เข้าไปในเนื้อไม้
4. น้ำต้องมีสภาพเป็นด่างเพื่อให้ซิลิกาละลาย และเป็นกรดอ่อนเพื่อให้ซิลิกาตกผลึก
5. ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน
หินเข้าไปแทนที่ในเนื้อไม้ได้อย่างไร?
ซากดึกดำบรรพ์เกิดจากการซึมผ่านของสารละลายแร่เข้าไปในช่องว่างของเนื้อเยื่อ ของกระดูก หรือไม้จากนั้น แร่จึงตกผลึกแยกออกจากสารละลายและเติมเต็มช่องว่าง ในกรณีของไม้ เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน ที่อยู่ในผนังเซลล์เนื้อเยื่อไม้จะทำหน้าที่เป็นแบบพิมพ์ในการรักษาโครงสร้างของไม้เอาไว้ แม้ว่าจะมีแร่หลายชนิดที่สามารถแทนที่ได้ในเนื้อไม้แต่ซิลิกาเป็นแร่ที่พบมากที่สุดและสามารถรักษาสภาพโครงสร้างของเซลล์ได้ดีที่สุด
จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการเกิด ซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน ต้องเริ่มจากการมีไม้ที่ยังไม่ถูกทำลาย อาจเกิดอยู่กับที่ในแหล่ง หรือถูกพัดพามาทับถมพร้อมกับกรวด ทรายก็ได้และขั้นตอนต่อไป คือ
1. มีการซึมของน้ำบาดาลที่มีสารละลายซิลิกา เข้าไปในเนื้อไม้ผ่านรอยแตก
2. มีการลอกแบบพิมพ์เซลล์เนื้อไม้โดยสารละลายเริ่มเกาะผนังเซลล์ นี่เป็นเพียงการเริ่มกระบวนการแต่การ “กลายเป็นหิน” ที่สมบูรณ์ยัง คงต้องอาศัยชุดของกระบวนการต่อไป ดังนี้
- มีการแทนที่ (Replacement) โครงสร้างเนื้อไม้เมื่ออัตราการตกผลึก ของซิลิกาเร็วกว่าอัตราการสลายตัวของไม้เนื่องจากแบคทีเรีย และสารเคมี
- มีการตกผลึกของซิลิกาแบบเติมในช่องว่าง (Filling) ใน ลูเมนของ เซลล์ต่างๆ เช่นไฟเบอร์และเทรคีดในภายหลัง
- การกลายเป็นหินเกิดร่วมกับการสูญเสียน้ำจาก โอพอล ซึ่งเป็น ซิลิกาที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ และอาจมีการเปลี่ยนสภาพของแร่ซิลิกาชนิดหนึ่ง ไปเป็นแร่ซิลิกาอีกชนิดหนึ่งที่มีความเสถียรมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ทำการสำรวจพบไม้กลายเป็นหินหลายสิบท่อน และได้ทำการขุดค้น ศึกษาทั่วพื้นที่วนอุทยาน รวม 7 หลุม พบไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่ จำนวน 8 ท่อน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2548 แล้วจึงได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเรียนรู้ทางธรรมชาติ ของจังหวัดตาก โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในจังหวัด และจากส่วนกลาง ในการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง สำหรับการเผยแพร่สู่สาธารณชน
ด้านนายสมหมาย เตชวาล นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย มีบันทึกความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี ในการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ทางธรณีวิทยาด้านต่าง ๆ โดยสมาคมฯ มีบทบาทสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา
สำหรับการขอรับรองสถิติ ไม้กลายเป็นหิน ที่ยาวที่สุดในโลกในครั้งนี้ สมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยสมาคมฯ ได้รับมอบหมายจากกรมฯ ให้ประสานงานกับ GWR เมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว และได้รวบรวมข้อมูลส่งให้ GWR เพื่อขอรับรองสถิติโลกอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการตรวจสอบว่าเป็นไม้กลายเป็นหินจริง จากองค์ประกอบของแร่ธาตุต่างๆ อายุของไม้กลายเป็นหิน และที่สำคัญ คือ ความยาว ที่จะขอรับรองเป็นสถิติที่ยาวที่สุดในโลก
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการ GWR เพื่อพิจารณาว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ เมื่อผ่านเรียบร้อยแล้ว GWR จะออกใบรับรองออนไลน์ (Online Certificate) ให้ก่อน จากนั้นผู้แทนของ GWR จะเดินทางมามอบป้าย GWR ให้กับประเทศไทย ซึ่งจะมีผู้บริหารจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทางจังหวัด รับมอบป้ายร่วมกัน
“คาดว่ากระบวนการขอรับรองสถิติโลกจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ และมีพิธีรับมอบป้ายในวันที่ 29 เมษายน 2565 ซึ่งจะถือว่าประเทศไทยได้เป็นเจ้าของสถิติใหม่ของ ไม้กลายเป็นที่ยาวที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการ” นายสมหมาย กล่าว
สู่การปลูกฝังเยาวชน "รักษ์ไม้"
นอกจากการดำเนินงานเพื่อขอรับรองสถิติโลกในครั้งนี้ สมาคมฯ ยังได้ร่วมมือกับ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำงานด้านการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหิน เพื่อให้คงสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ทางวิชาการต่อไป และยังร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ คือองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก (อบจ.ตาก) และอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) จัดกิจกรรม ค่ายเด็กรักษ์ไม้ตากขึ้น จำนวน 2 รุ่น ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของจังหวัดตาก
โดยมีเยาวชนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนในพื้นที่อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา และอำเภอเมือง ซึ่งเป็น 3 อำเภอ ใกล้เคียงแหล่งไม้กลายเป็นหิน เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งสองรุ่นราว 60 คน ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้กับเยาวชนและสถานศึกษา รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ไม้ตาก” จิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “ผืนป่าดอยสอยมาลัย” ป่าดึกดำบรรพ์ ป่าต้นน้ำสำคัญของจังหวัดและเป็นพื้นที่กำเนิด “ไม้ตาก” ไม้กลายเป็นหินสถิติโลก ในฐานะมรดกทางธรณีที่ทรงคุณค่าของจังหวัดตาก
ด้วยความมุ่งหวังที่จะสนับสนุนให้เยาวชนในพื้นที่ได้ทำหน้าที่ “มัคคุเทศก์น้อย” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ “ไม้ตาก” และ “ผืนป่าดอยสอยมาลัย” ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจที่มาเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหินในอนาคต และจากนี้จะได้ร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ส่งเสริมชุมชนให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่และเกี่ยวกับไม้กลายเป็นหิน เช่น ครก ซึ่งทำมาจากหินแกรนิต เพื่อร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย