โควิดทำเด็กเล็กความรู้ถดถอย วางนโยบายหนังสือ 3 เล่มในบ้านเด็ก
เวทีรวมพลังคนเมือง ชี้โควิดทำเด็กเล็กถดถอยทุกด้าน วอนว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. วาง นโยบายหนังสือ 3 เล่มในบ้านเด็ก หยุดภาวะ learning Loss เปิดพื้นที่ชุมชนร่วมดูแล
วันนี้ (5 เม.ย. 2565) ที่สถานีกลางบางซื่อ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และภาคีเครือข่าย กว่า 10 องค์กร จัดเสวนา “พลังการอ่านฟื้นวิกฤติเด็กปฐมวัย” รวมพลังชุมชนเมือง สร้างวิถีวัฒนธรรมการอ่านเพื่ออนาคต
น.ส.สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า หนังสือสำหรับเด็กจำเป็นอย่างยิ่งต่อความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการของเด็ก
จากข้อมูลพบว่า มีเด็กปฐมวัยเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้น ที่มีหนังสือเด็กอยูที่บ้านอย่างน้อย 3 เล่ม สถานการณ์เหล่านี้ยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้นในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ล่าสุด พบว่ามีเด็กไทยกว่า 1.1 ล้านครัวเรือนที่ไม่มีหนังสือเหมาะสมวัยในบ้าน ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กปฐมวัย 0 – 6 ปีมีพัฒนาการล่าช้า 32.50%
- เร่งนโยบายหนังสือฟรีในบ้านเด็ก อย่างน้อย 3 เล่ม
ยิ่งในภาวะวิกฤติโรคโควิด 19 ยิ่งซ้ำเติมภาวะความรู้ การเรียนถดถอย (learning Loss) ทั้งนี้ มีข้อมูลน่าสนใจพบว่าหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพคือการกำหนดเวลาอ่านทุกวัน (Daily Reading) เพียงวันละ 20 นาที ช่วยฟื้นฟูความรู้ที่สูญหายให้กลับมา
ดังนั้น สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายได้รณรงค์ทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติการทางสังคมเพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือในเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สมองพัฒนาสูงสุด กว่า 80% ของชีวิตมนุษย์
“เราทำงานมานาน เห็นปัญหาสั่งสมในสังคมไทย โดยเฉพาะเกิดการระบาดของโควิด 19 ยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำ เปราะบางในวิกฤติเด็กเล็กชัดเจนมาก ขาดมาตรการดูแลพัฒนาเด็กในช่วงโควิด ทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้ผลเร็วมากที่สุด คือรัฐบาลต้องเร่งให้มีนโยบายหนังสือฟรีในบ้านเด็ก อย่างน้อย 3 เล่ม” น.ส.สุดใจ กล่าว
โดยเฉพาะกทม. อยากให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาต้นทุนชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่ม จึงอยากได้ยินสัญญาการบรรจุนโยบายการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กในการหาเสียงด้วย
ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา กล่าวว่า การอ่านเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นความรู้พื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรมี เพราะจะนำไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ
- ข้อเสนอแนะผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมการอ่าน
ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายต้องมีความเข้าใจ และส่งเสริมการอ่านดังนี้
1. ส่งเสริมให้มีหนังสือเล่มแรกแก่หญิงที่ไปฝากครรภ์ เพื่อให้รู้เรื่องการดูแลตัวเอง ดูแลลูกในครรภ์ การดูแลหลังคลอด โดยจัดสรรงบให้กับสถานที่รับฝากครรภ์เป็นผู้จัดหาและส่งถึงมือ
2.จัดสรรหนังสือเล่มที่ 2 ให้กับเด็กก่อนปฐมวัยผ่านแม่ โดยคำนึงถึงแม่ที่อาจจะไม่ได้มีความรู้เท่ากันทุกคน
3.เด็กปฐมวัยส่วนใหญ่จะอยู่กับพ่อ แม่ และชุมชน ดังนั้นในชุมชนควรคิดถึงนโยบายห้องสมุดที่มีหนังสือหรือสื่อสำหรับแม่
4.ศูนย์เด็กเล็กต้องจัดให้มีมุมหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ที่ผ่านมาคิดว่าในระดับพื้นที่น่าจะมีหลายแห่งที่ทำแล้ว แต่ควรผลักดันเป็นนโยบายระดับประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเคยมีแนวคิดที่จะทำแต่ไม่เป็นรูปธรรมเพราะรวมศูนย์ไว้ที่กรมวิชาการเลยเกิดยาก
- การอ่านช่วยเสริมเด็กมีจินตนาการ พัฒนาสมอง
นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า การอ่านจะช่วยให้เด็กมีจินตนาการ เกิดพัฒนาการทางสมอง เราจึงมีโครงการมหัศจรรย์ 2500 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่สมองเติบโตที่สุดก็จะพยายามสนับสนุนสิ่งที่จะมาเสริมพัฒนาการเด็กในช่วงนี้
ทั้งนี้ กทม.มีศูนย์สำหรับดูแลเด็กโดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส รวมๆ เกือบ 700 แห่ง มีชุมชนร่วมดูแล มีการอบรมครูผู้ฝึกสอน มีการจัดสรรงบประมาณค่าวัสดุอุปกรณ์ หนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน เครื่องเล่น หัวละ 100 บาทต่อคนต่อปี และกำลังแก้ระเบียบอุดหนุนงบฯ เพิ่มราวๆ 600 บาท
นอกจากนี้ ยังร่วมกับกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติทำกล่องวิเศษที่มีเครื่องเล่น ชุดการอ่านอยู่ในนั้น มีการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง วัยใส ส่งเสริมให้มีความรู้ มีทักษะ เพราะแม่ถือเป็นหนังสือเล่มแรกสำหรับลูก และมีโครงการครูข้างถนนค้นหาเด็กเร่ร่อนเข้ามาดูแลแบบวันต่อวัน จัดทำคู่มือเดย์ บาย เดย์ให้เด็กก่อนวัยเรียนให้มีมาตรฐานเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อาจจะต้องรอนโยบายจากผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เพราะเท่าที่ฟังจากนโยบายก็เห็นว่าได้ให้ความสำคัญกับเด็กเช่นเดียวกัน เพราะ กทม.ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตาย
- แนะส่งเสริมการอ่านเด็กปฐมวัย พัฒนาคุณภาพชีวิต
ส่วนนางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ และกรรมการแผนคณะที่ 8 สสส. แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา (แผน10) กล่าวว่า สถานการณ์การอ่านหนังสือปัจจุบันไม่ได้น้อยลง แต่มีลักษะการอ่านเปลี่ยนไป จากการอ่านตัวอักษรในหนังสือ มาเป็นการอ่านในรูปแบบดิจิทัล แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ให้คุณค่าเหมือนกัน เป็นการนำเข้าสรรพสิ่ง ประสบการณ์ที่อยู่รอบตัวเรา ลงลึกถึงความรู้สึกของผู้อ่าน ก่อให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่
อย่างไรก็ตาม การอ่านอักษรในเครื่องมือดิจิทัลเป็นการอ่านเร็ว อ่านสั้นๆ และมีหลายสิ่งมาเร้าความสนใจ ดังนั้นที่เราต้องการคืออ่านให้ครบถ้วน แต่ก็ต้องเรียกร้องคนเขียน เขียนให้ครบถ้วนด้วย
สิ่งสำคัญตนมองว่า วิถีการอ่านต้นตอมาจากระบบการศึกษาที่วางหลักสูตรความรู้มากเกินไป เด็กต้องเรียนหนักตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้รู้สึกว่าโลกการอ่านเป็นโลกที่เคร่งเครียด ทำให้เราไม่สามารถกระตุ้นให้เด็กอยากอ่านหนังสืออย่างแท้จริง มองการอ่านเป็นเรื่องที่ถูกบังคับ ต้องปรับตรงนี้ให้เด็กรู้สึกสนุกกับการอ่าน
นางอังคณา ขาวเผือก คณะทำงาน สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กทม. กล่าวว่า ในพื้นที่เด็กปฐมวัยมีปัญหาการอ่านค่อนข้างเยอะ ประกอบกับการระบาดของโควิด 19 เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนจึงทำให้ไม่ค่อยได้จับหนังสือ
การอยู่กับโทรศัพท์อาจจะเป็นหนึ่งในการเรียนรู้ แต่ก็เป็นภัยเงียบที่กระทบการอ่านและพัฒนาการของเด็กได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้ กทม.ให้ความสำคัญกับการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน กทม.ควรส่งเสริมให้มีหนังสือสำหรับเด็กเข้าไปอยู่ในชุมชน เพื่อให้เด็กหรือพ่อแม่ สามารถหยิบยืมหนังสือนั้นเพื่อนำไปพัฒนาลูกได้
รวมถึงส่งเสริมให้แต่ละบ้านมีหนังสือ 3 เล่ม และอีกสิ่งสำคัญคือครูในศูนย์เด็กเล็กปัจจุบันมีการจ้างแบบลูกจ้างรายวัน ทำให้เวลาเจอโครงการดีๆ อยากเข้าร่วมเพื่อพัฒนาทักษะก็ต้องลางานขาดรายได้ ดังนั้นหากสามารถเพิ่มสวัสดิการครูตรงนี้ก็จะได้มีเวลาทุ่มสรรพกำลังในการดูแลเด็กด้วย
ทั้งนี้ ขณะนี้ทางเครือข่ายชุมชนพัฒนาเด็กด้วยการอ่านเปิดรับข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อรวบรวมเสนอต่อว่าที่ผู้ว่ากทม.ผู้สนใจสามารถส่งข้อมูลได้ที่เพจ “อ่านยกกำลังสุข”