"เด็กเล็กติดโควิด" ต้องระวัง! เช็ค “อาการโควิด” ที่ต้องสังเกตก่อนจะสาย
สธ. เผยว่าเริ่มพบการติดเชื้อโควิด 19 ในกลุ่ม "เด็กเล็ก" อายุ 0-6 เดือนมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกตก่อนอาการทรุด และเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการดูแลรักษา
แม้ว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทยยังเป็นช่วงที่อยู่ในจุดที่คาดการณ์ และมีมาตรการรองรับอย่างเต็มที่ แต่ด้านหนึ่งกลุ่มโควิดที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กกลับเพิ่มสูงขึ้น และมีอัตราการเสียชีวิตสูง พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรับมือ และสังเกตอาการอย่างไรไม่ให้สายเกินไป
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวมคำแนะนำที่สำคัญไว้ให้แล้ว
- กลุ่มเด็กเล็กติดโควิดเพิ่ม อัตราเสียชีวิตสูง
กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า เริ่มพบการติดเชื้อโควิด 19 ในเด็กเล็กมากขึ้น โดยพบว่ากลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-6 เดือน มีความเสี่ยงที่ป่วยแล้วจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด ส่วนกลุ่มอายุ 5-12 ปี การเสียชีวิตค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะระลอกโอมิครอนนี้มีเพียง 3 ราย หรืออัตราตายน้อยกว่า 0.01% ดังนั้น กลุ่มวัยเรียนอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป การรับวัคซีนจะช่วยป้องกันการป่วยหนักได้อย่างดี
- ผู้ปกครองต้องป้องกัน และเตรียมพร้อมสำหรับการติดโควิดในเด็กเล็ก
สิ่งสำคัญที่ต้อง สธ. เน้นย้ำ คือการให้ผู้ปกครองคอยสังเกตอาการ หากที่บ้านมีผู้ป่วยโควิดหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเด็กมีอาการป่วยให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ มีคำแนะนำใน การสังเกตอาการและวิธีดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มเด็กเล็กเบื้องต้น ดังนี้
แม้การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กส่วนใหญ่กว่า 90% จะมีอาการไม่รุนแรง แต่มีกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว ที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ไตวายเรื้อรัง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
ดังนั้น ควรงดสัมผัสหรือหอมแก้มเด็กเล็กโดยไม่จำเป็น และแม้ระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ภายใน 14 วัน แต่เมื่อเด็กติดโควิดมักมีอาการของโรคใน 4-5 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อ
สำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็น ได้แก่ ปรอทวัดไข้ ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก
สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กเบื้องต้น ตามคำแนะนำของแพทย์คือ การประคับประคองตามอาการ โดยให้สังเกตอาการและมีวิธีดูแลดังนี้
- หากมีไข้/ปวดศีรษะ ให้ทานยาลดไข้ ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ไม่เกิน 2 - 3 วัน จะค่อยๆ ดีขึ้น
- หากมีน้ำมูก ให้ทานยาลดน้ำมูกเท่าที่จำเป็น หรือถ้าน้ำมูกข้นเขียว ในเด็กโตสามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือได้
- หากมีอาการไอ ให้รับประทานยาแก้ไอตามอาการ และจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ
- หากไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ถ่ายเหลว หรืออาเจียนมากต่อเนื่องกัน ควรรีบนำเด็กไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์หรือ โรงพยาบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
- แนะมาตรการป้องกันโควิด 4 ช่วงของเทศกาลสงกรานต์
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 พร้อมแนะนำว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยแล้วจะอาการหนัก 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้สูงวัยที่ไม่ค่อยออกนอกบ้านหรือกลุ่มติดเตียง ส่วนใหญ่รับเชื้อจากผู้ดูแล ญาติในบ้าน ผู้ที่มาเยี่ยม 2.กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการไปสังสรรค์กับเพื่อน/คนรู้จัก การรวมกลุ่มทำกิจกรรม หรือไปสถานที่แออัด เช่น ตลาด ร้านอาหาร เป็นต้น และ 3.เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จึงต้องย้ำกลุ่มเด็ก วัยเรียนและวัยทำงานให้ระมัดระวังเพราะเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อสูงและอาจนำไปแพร่ให้กับ 3 กลุ่มเสี่ยงนี้ได้
ส่วนสถานที่เสี่ยงและกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดวงกว้าง คือ 1.การดื่มสุรา รับประทานอาหารร่วมกัน เนื่องจากไม่ได้สวมหน้ากาก โดยเฉพาะในสถานที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี หรือรับประทานอาหารร่วมกันในบ้าน 2.การร่วมงานหรือกิจกรรมที่มีผู้คนแออัด มาตรการควบคุมโรครัดกุมไม่เพียงพอ และ 3.ขนส่งสาธารณะ รถโดยสารที่แออัด
สำหรับมาตรการป้องกันโควิดในช่วงสงกรานต์ แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ
1.ก่อนร่วมงาน/ก่อนเดินทาง ขอให้ฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยหนัก ผลตรวจ ATK เป็นลบก่อนไปร่วมงาน สวมหน้ากากอนามัยและสังเกตว่าสถานที่ที่ไปมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ดี เช่น เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนล่วงหน้า หรือตรวจ ATK ก่อนเข้างาน เป็นต้น
2.ระหว่างเข้าร่วมงานสงกรานต์ สถานที่จัดงานส่วนใหญ่มักมีมาตรการควบคุมโรค ที่ห้ามตอนนี้คือประแป้ง ปาร์ตี้โฟม เพราะทำให้ใกล้ชิดมากเกินไป ขอให้หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะมีความเสี่ยงสูง
3.กิจกรรมในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว การรับประทานอาหารร่วมกัน ขอให้สวมหน้ากากมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ระหว่างรับประทานอาหารเว้นระยะห่างให้มากขึ้น ใช้เวลาให้สั้นลง เพื่อลดความเสี่ยง
4.หลังกลับจากสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเองช่วง 5-7 วันแรกก่อนกลับไปทำงาน งดพบปะผู้คนจำนวนมาก และตรวจ ATK สถานประกอบการควรพิจารณาให้พนักงาน Work From Home 5-7 วันก่อนกลับเข้าไปทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด