หลักปรับ"สมดุลร่างกาย"ตามแพทย์แผนไทย
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้หลักการเกิดโรคตามหลักการแพทย์แผนไทย แนะการปรับสมดุลร่างกาย เพื่อส่งเสริมสุขภาพ เนื่องในวันอนามัยโลก
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 7 เมษายนของทุกปี เป็นวันอนามัยโลก (World Health Day) จึงอยากให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน มีสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์การอนามัยโลก สุขภาพร่างกายของคนเรานั้น นอกจากโรคทางพันธุกรรมแล้ว การก่อให้เกิดโรค ที่สำคัญ คือ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้นหลักการแพทย์แผนไทย จึงกล่าวถึงมูลเหตุของการเกิดโรคตามหลักการแพทย์แผนไทยนั้น มี 8 ประการ ได้แก่ 1.การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารที่มากหรือน้อยเกินไป หรืออาหารที่ตนเองไม่คุ้นชิน 2.การนั่งทำงานนานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบท ทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาทและหลอดเลือด ทำงานไม่ปกติ 3.ปล่อยให้ร่างกายกระทบความร้อนเย็น เช่น การอยู่ในห้องแอร์แล้วเดินออกไปตากแดด
4.การอดข้าว อดน้ำ และอดนอน ทำให้ร่างกายรับสารอาหาร น้ำ และพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้ 5.กลั้นอุจจาระ กลั้นปัสสาวะ จะทำให้ธาตุในร่างการแปรปรวนและเจ็บป่วยได้ 6.ทำงานเกินกำลังที่จะรับได้ 7.เกิดความเศร้าโศกเสียใจ โดยปราศจากการปล่อยวาง จิตใจหดหู่ นอนไม่หลับ จะทำให้ร่างกายเสื่อมและถดถอย 8.เกิดโทสะหรือมีความโกรธตลอดเวลา ทำให้เกิดการไม่ระวังตัวจนเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดการทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมูลเหตุของการเกิดโรคทั้งสิ้น ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงมูลเหตุการเกิดโรคทั้ง 8 ประการนี้
นายแพทย์ธิติ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากต้องลด ละ เลิก มูลเหตุ 8 ประการดังกล่าวแล้ว ควรรู้วิธีส่งเสริมสุขภาพของตนเอง ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนไทยแบ่งธาตุเจ้าเรือนของคนเราเป็น 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยเช็คจากวันเดือนปีเกิด และเวลา ตกฟากอย่างละเอียด แต่หากจะดูแลสุขภาพในเบื้องต้น อาจเช็คธาตุเจ้าเรือนของเราจากเดือนเกิดง่าย ๆ ดังนี้ ธาตุดิน ได้แก่ผู้ที่เกิดช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม ธาตุน้ำ คือ ผู้ที่เกิดในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ธาตุลม คือ ผู้ที่เกิดในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน และคนธาตุไฟ คือ ผู้ที่เกิดในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม เมื่อรู้ธาตุเจ้าเรือนเบื้องต้นแล้ว เราจะนำมาใช้ในการปรับธาตุเพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุล เป็นการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วย
ดังนี้ คนธาตุดิน มักมีร่างกายแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย ยกเว้นผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรม คนกลุ่มนี้สามารถรับประทานอาหารได้ทุกรส ฝาด หวาน มัน เค็ม แต่ก็ให้รับประทานแต่พอดี คนธาตุน้ำ จุดอ่อนด้านสุขภาพ คือ มักเจ็บป่วยด้วยหวัด เจ็บคอ และ มีเสมหะได้ง่าย ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานสมุนไพรรสเปรี้ยวและรสขม โดยสมุนไพรรสเปรี้ยว ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ ช่วยระบายท้อง เช่น ยอดมะขาม, มะนาว, ผักติ้ว, ใบชะมวง ส่วนสมุนไพรรสขมช่วยลดไข้ เช่น มะเขือพวง, ฝักเพกา, ดอกขี้เหล็ก, ยอดมะเฟือง, สะเดา คนธาตุลม มีจุดอ่อนด้านสุขภาพ คือ ท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียนศีรษะ และปวดเมื่อยได้ง่าย
ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานสมุนไพรรสเผ็ดร้อน เพราะช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กระตุ้นเลือดลมให้ไหลเวียน เช่น ข่า, ตะไคร้, แมงลัก, กะเพรา, โหระพา, พริกไทย และคนธาตุไฟ มีจุดอ่อนด้านสุขภาพ คือ มักเป็นไข้ตัวร้อน เป็นแผลร้อนใน เป็นสิว ผิวหนังอักเสบ นอนไม่ค่อยหลับ อารมณ์แปรปรวน ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานอาหารที่มีสมุนไพรรสขม จืด เย็น จะช่วยแก้ไข้ ลดความร้อนภายในร่างกาย ช่วยให้นอนหลับสบาย และลดการอักเสบของผิวหนัง เช่น มะระ, ขี้เหล็ก, สะเดา, ฟัก, แฟง, ตำลึง, ผักบุ้ง, แตงกวา เป็นต้น
ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด 19 เรายิ่งต้องสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย เมื่อร่างกายแข็งแรงก็จะสามารถสร้างภูมิในการป้องกันโรคได้ ดังนั้น นอกจากสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ทั้งหลีกเลี่ยงมูลเหตุการเกิดโรค การปรับสมดุลธาตุในร่างกาย ต้องคำนึงถึงการออกกำลังกาย ที่เพียงพอ ปลอดภัย และต้องพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากาก และหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัดโดยไม่จำเป็นด้วย
หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถติดต่อที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.facebook.com/dtam.moph และ line @DTAM