9 ข้อปฏิบัติ สงกรานต์2565 เดินทางรถไฟ แบบลดเสี่ยงโควิด19
กรมอนามัย - รฟท. – ททท. – ตำรวจท่องเที่ยว ชวนประชาชนเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟ แบบ Next Normal แนะข้อปฏิบัติพนักงาน-ผู้โดยสาร
วันนี้ (9 เมษายน 2565) นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และพล.ต.ท.สุคุณ พรหมายน ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ร่วมแถลงข่าวการจัดกิจกรรม เดินทางด้วยรถไฟ ท่องเที่ยวปลอดภัย ใช้ชีวิตแบบ Next Normal ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) กรุงเทพมหานคร
นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและสร้างความมั่นใจ แก่ประชาชนในการเดินทางด้วยรถไฟ ท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ใช้ชีวิตแบบ Next Normal ตามเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เป็นต้นไป นั้น
กรมอนามัย ขอเน้นย้ำให้สถานีรถไฟปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยอาคารสถานีผู้โดยสาร และขบวนรถ ให้ปฏิบัติดังนี้
1) ภายในอาคารให้ทำความสะอาดในพื้นที่หรือจุดสัมผัสร่วม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสาร ลูกบิด ราวบันได เป็นต้น สำหรับยานพาหนะ ทุกรอบ ที่ให้บริการหลังมีการให้บริการ เน้นการเช็ดทำความสะอาดที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น ราวจับ ที่นั่ง กระจกภายในขบวนรถไฟ เป็นต้น โดยทำความสะอาดด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป
2) กรณีที่มีตู้นอนและมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น ผ้าห่ม ปลอกหมอน ต้องเปลี่ยนทุกรอบที่ให้บริการ และนำไปซักให้สะอาด
3) เน้นทำความสะอาด 7 จุดเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคในห้องส้วม ได้แก่ ที่จับสายฉีดชำระ บริเวณพื้นห้องส้วม ที่รองนั่งโถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือ และกลอนประตูหรือลูกบิด กำจัดขยะทุกรอบหลังเสร็จสิ้นการขนส่งผู้โดยสาร
นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ผู้ปฏิบัติงานให้ปฏิบัติมาตรการส่วนบุคคล VUCA ตามหลักการ UP (Universal Prevention) เมื่อปฏิบัติงาน ต้องประเมินตนเองด้วย Thai Save Thai (TST) เพื่อคัดกรองความเสี่ยง จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันไว้ให้บริการ เช่น เครื่องวัดไข้ เจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดทุกครั้ง ก่อนและหลังให้บริการด้วยน้ำยาเช็ดทำความสะอาดในจุดที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น เบาะนั่ง ประตู และราวจับ พร้อมทั้งจัดการเดินรถไฟโดยไม่ให้มีความแออัดของผู้โดยสารทั้งบริเวณสถานีและบนรถไฟ
ส่วนพนักงานทำความสะอาด ต้องสวมหน้ากากผ้า และถุงมือยางขณะปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรค
สำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟ
1.ให้ตรวจ ATK ก่อนการเดินทาง 72 ชั่วโมง
2.หากมีความเสี่ยง ควรงดการเดินทาง
3.เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์
4.ขณะเดินทางสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
5.ไม่กินอาหารและเครื่องดื่ม
6.งดหรือหลีกเลี่ยงการพูดคุย
7รักษาระยะห่าง
8.หมั่นล้างมือบ่อย ๆ
9.อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที เมื่อกลับถึงที่พัก
ทั้งนี้ ในช่วง สงกรานต์2565 กรมอนามัยยังคงต้องขอความร่วมมือประชาชน และทุกภาคส่วน ได้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเล่นน้ำให้ใช้วิธี “ริน รด พรม” สําหรับพื้นที่ที่จัดงานก็ต้องขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน ซึ่งสิ่งสําคัญ คือการตกลงร่วมกันระหว่างผู้จัดงาน คนที่จะเข้ามาร่วมงาน และผู้ควบคุมกํากับ ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย ให้ผู้เข้าไปร่วมงานต้องรับผิดชอบ ให้ผู้จัดงานจัดแบบรับผิดชอบต่อสังคม และผู้ควบคุมกํากับ ทําความเข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเชื่อว่า เราสามารถมีสงกรานต์ และมีการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและ เศรษฐกิจ รวมทั้งสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทย ควบคู่ไปกับการป้องกันและควบคุมโรคให้อยู่ในระดับที่ยอมรับ นั่นหมายถึงว่า กรณีมีการติดเชื้อ ก็มีเตียงที่เพียงพอในการรองรับ ซึ่งต้องขอย้ำนะครับว่า การเคลื่อนที่ของคนจํานวนมากย่อมมีความเสี่ยงต่อการระบาดแต่ให้อยู่ในขอบเขตที่สามารถรองรับได้ ก็จะช่วยให้ปลอดภัยกัน ทุกฝ่าย เพื่อให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาของความสุขสําหรับคนไทย ทุกคน และปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ด้วย