“ความรุนแรงจากคำพูด” ภัยร้ายที่ครอบครัวไม่ควรมองข้าม
เมื่อความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้มีเพียงแค่การลงมือทำร้ายร่างกาย แต่ยังหมายถึงคำพูดด้วย ที่อาจจะทำให้เป็นปมฝังในใจเด็กตั้งแต่เล็กจนโตและเกิดผลเสียตามมามากมาย
จากกรณี ด.ญ. วัย 14 ปี วางแผนร่วมกับแฟนหนุ่มวัย 16 ปี ฆ่าผู้เป็นแม่ เมื่อคืนวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา โดย ด.ญ. เอ (นามสมมุติ) ให้เหตุผลว่าถูกแม่กีดกันในเรื่องความรักมาโดยตลอด เมื่อตนอยากออกจากบ้านไปอยู่บ้านแฟนแม่ก็ไม่อนุญาตและไปตามตัวกลับ พร้อมอ้างว่าตนมีอาการทางจิต จิตตก ตนก็ไม่สามารถห้ามอะไรได้เมื่ออาการนี้กำเริบ นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าอีกสาเหตุที่ทำไปมาจากความโกรธแค้นแม่ที่ดุด่าตนตั้งแต่เล็กจนโต ทั้งที่ในบางครั้งตนต้องการกำลังใจ แต่กลับถูกซ้ำเติม จนกลายเป็นคนเก็บกดและเกิดความแค้นสะสมจึงตัดสินใจลงมือในครั้งนี้
แม้ว่าจะยังไม่สามารถสืบทราบได้ว่าคำให้การของ ด.ญ. เอ จะเป็นความจริงหรือไม่ มีน้ำหนักมากเท่าไร แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชวนให้ผู้ปกครองได้คิดว่า “ความรุนแรงจากคำพูด” นั้น ถือเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจต่อเด็ก และอาจส่งผลให้เกิดโรคทางจิตเวชตามมา เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคแพนิค ภาวะเครียด เป็นต้น และที่สำคัญอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจเด็กต่อไปในอนาคตจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพียงเพราะความไม่ตั้งใจ ไม่ใส่ใจ หรือไม่เคยทราบว่าคำพูดของผู้ปกครองนั้นสามารถทำร้ายเด็กได้
ความหมายของการทำร้ายจิตใจทางคำพูด (Verbal abuse)
เป็นหนึ่งในรูปแบบของการทำร้ายที่พบได้ในทุกความสัมพันธ์และในทุกสังคม โดยมักจะมาในรูปแบบของการใช้คำพูดเพื่อทำร้ายความรู้สึก เพื่อควบคุมหรือทำให้ผู้ฟังรู้สึกต้อยต่ำ ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทำเพื่อให้รู้สึกโง่ ไม่มีค่า มักมาในรูปแบบการใช้คำพูดดูถูกหรือทำให้ผู้ถูกกระทำอับอาย หากอีกฝ่ายเกิดความรู้สึกเสียใจ ผู้กระทำก็จะโทษว่าเป็นเพราะความอ่อนแอของผู้ถูกกระทำเอง และตัวผู้กระทำแค่พูดเล่นเท่านั้น และผู้กระทำยังอาจตะคอกบ่อยครั้ง ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกผิดและให้ตัวเองรับบทเหยื่อแทน อีกทั้งผู้กระทำบางคนยังทวงบุญคุณ อ้างว่าตนเองดีแค่ไหนแล้วที่ไม่ลงมือทำร้ายร่างกายผู้ถูกกระทำอีกด้วย
Verbal abuse ส่งผลต่อผู้ถูกกระทำอย่างไร ?
เมื่อผู้ถูกกระทำโดยทำร้ายจิตใจด้วยคำพูดอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับ “ครอบครัว” ประสิทธิภาพในการทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และหากผู้ถูกกระทำถูกทำร้ายจิตใจด้วยคำพูดติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจได้ เช่น รู้สึกผิด สิ้นหวังและละอายใจ เกิดภาวะวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า เกิดภาวะเครียดเรื้อรัง เกิดอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง (PTSD) มีภาวะตัดขาดจากสังคม อันเนื่องมาจากความผิดปกติทางอารมณ์และความมั่นใจในตัวเองที่ลดลง และสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ มองว่าความรุนแรงที่เกิดกับตนเป็นเรื่องปกติ เพราะตนเองถูกกระทำมาเป็นเวลานาน อาจมีแนวโน้มหรืออาจกลายเป็นผู้ส่งต่อความรุนแรงกระทำในอนาคต
ดังนั้นแล้วผู้ปกครองควรไตร่ตรองให้ดีก่อนว่าจะเลือกใช้ชุดคำพูดอะไรกับลูกหลานของตน เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องมีเด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากคำพูดอีก เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวโดยตรงแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าเด็กโตขึ้นและต้องก้าวเข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ ๆ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน อาจจะทำให้มีปัญหาในการปรับตัวหรือการเข้าสังคมได้ หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายคนรอบข้าง ดังนั้นสุขภาพจิตที่ดีของเด็กจะต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อนเป็นสำคัญ
อ้างอิงข้อมูล sherothailand