เปิดเหตุผล “เบี้ยผู้สูงอายุ” ทำไมควรได้ 3,000 บาท
เนื่องใน "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" 13 เม.ย. 2565 นี้ จะขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจเรื่อง “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ที่มีข้อเสนอว่า ควรจะได้ “3,000 บาท” เบื้องหลังตัวเลขนี้มาจากไหน แล้วการที่ผู้สูงอายุได้เงินเพิ่มขึ้น สำคัญ และส่งผลอย่างไร ?
หวนกลับมาอีกครั้งในปีนี้ สำหรับ “วันมหาสงกรานต์” 13 เม.ย. ซึ่งเป็นวันเริ่มเทศกาลสงกรานต์อย่างเป็นทางการในทุกพื้นที่ หลายคนคงได้ใช้เวลานี้กลับภูมิลำเนาเดิม เพื่อใช้เวลาวันหยุดยาวนี้ทำกิจกรรมทางประเพณีกับครอบครัว อาทิ การทำบุญ-สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ หรือกิจกรรมอื่นๆ เป็นต้น
ซึ่งนอกจากวันนี้จะเป็นวันสงกรานต์แล้ว วันที่ 13 เมษายน ยังถูกจัดให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” อีกด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับกิจกรรมของเทศกาลสงกรานต์ดังกล่าวไป อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุแค่เพียงช่วงเทศกาลก็ดูจะไม่เข้าท่าเท่าไรนัก
ดังนั้น วันนี้จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจประเด็นที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่าง “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” โดยรู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้ผู้สูงอายุบ้านเราได้รายได้ขั้นต่ำต่อเดือนเพียง 600 บาทเท่านั้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการตามมา จึงมีความพยายามผลักดันให้ปรับขึ้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปอยู่ที่ 3,000 บาท แต่ก็ยังไม่เป็นผลจนถึงปัจจุบัน
- ปัญหาของ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสวัสดิการอุดหนุนด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุทั่วไป หรือที่เราเข้าใจกันคือ การจ่าย “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ถึงกระนั้น มูลค่าเบี้ยดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำเพียง 600 - 1,000 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น
โดยจ่ายตามเกณฑ์อายุ ดังนี้
- อายุ 60 - 69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท
- อายุ 70 - 79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท
- อายุ 80 - 89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท (สูงสุดที่ 1,000 บาท)
ซึ่งหากเทียบกับค่าครองชีพในยุคนี้แล้ว เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่มีทางที่จะสามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีได้เลย
จากการมีเบี้ยยังชีพที่ต่ำดังข้างต้น ทำให้รายได้หลักของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีฐานะยากจนนั้น จึงหนีไม่พ้นต้องพึ่งพิงเงินจาก “ลูกหลาน” ทำให้หนุ่มสาววัยทำงานจำต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการส่งเงินกลับไปให้บุพการีหรือผู้สูงอายุที่บ้าน
ข้อมูลทางสถิติจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2562 พบว่า ตามการแบ่งครัวเรือนออกเป็น 10 กลุ่มตามฐานะ “ครัวเรือนยากจนที่สุด” คือ กลุ่มที่มีผู้สูงอายุต่อครัวเรือนมากที่สุด สะท้อนถึงการแบกรับภาระการเลี้ยงดูผู้สูงอายุของวัยแรงงานในครัวเรือนกลุ่มนี้ที่สูงกว่าวัยแรงงานในครัวเรือนกลุ่มอื่น โดยสูงกว่าครัวเรือนร่ำรวยที่สุดถึง 2 เท่า
ประเด็นข้างต้นนี้คือชนวนสำคัญ ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์" เร็วกว่าที่ควร เนื่องจากคนวัยหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันตระหนักถึงความพร้อมในการสร้างครอบครัวและการให้กำเนิดลูก ซึ่งองค์ประกอบของความพร้อมที่ว่านั้นคือ สถานะทางการเงิน เพราะมีผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กที่จะเกิดมา
ด้วยเหตุนี้ จึงมีผลไม่มากก็น้อยให้ "อัตราการเกิด" ของประเทศไทยนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการที่คนวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมดังกล่าว นอกจากนั้น การแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป มีผลต่อระดับเงินออมหรือเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ทั้งนี้ยังมีผลต่อการก่อหนี้เพื่อการบริโภคอีกด้วย
การไม่มีเงินเหลือพอสำหรับเก็บออมยังจะย้อนกลับมาสร้างปัญหาในช่วงที่ต้องเกษียณอายุจากวัยทำงานอีกด้วย เพราะหากไม่มีเงินมากพอ ขณะที่เบี้ยผู้สูงอายุที่ได้รับก็อยู่ในระดับต่ำ ท้ายที่สุดแล้วในบั้นปลายชีวิตก็อาจต้องเผชิญกับคุณภาพชีวิตที่ไม่ได้ดีมากนัก แม้ว่าจะทำงานหนักมาตลอดชีวิตที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
- ที่มาของ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 บาท”
จากทั้งหมดที่ได้กล่าวไปนั้นแสดงให้เห็นว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ต่ำเช่นทุกวันนี้ นอกจากจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุแล้ว ยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนใน "วัยแรงงาน" อีกด้วย ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการส่งต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่นของสังคมไทย
นอกจากนี้ ประเด็นคุณภาพชีวิตของคนหนุ่มสาววัยแรงงานยังมีส่วนต่อกำหนดทิศทางโครงสร้างประชากรและเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้แท้จริงแล้วเรื่องการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้นถือว่ามีความสำคัญมาก
การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุมีความสำคัญในแง่ของการช่วยแก้ปัญหาความยากจนในครัวเรือนที่ผู้สูงอายุ ทั้งช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของวัยแรงงาน โดยเฉพาะในครัวเรือนยากจนที่สุด ซึ้งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในวัยแรงงานนั้นสามารถมีเงินเหลือพอที่จะสร้างความมั่งคั่งให้ตน และสกัดการส่งต่อความยากจนได้ในที่สุด
โดยจากการประเมินเส้นความยากจนและค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือนยากจนที่สุดในปี 2563 นั้นสะท้อนว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขั้นต่ำควรอยู่ที่ราว 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน
ในช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายการเมืองได้มีการพยามยามผลักดันให้ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 บาท” ทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
จากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลคือ การผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ ในช่วงปลายปี 2563 โดย รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 3,000 บาท เพื่อความมั่งคงในชีวิตที่ประชาชนพึงมี และยังมองถึงความจำเป็นที่ต้องวางรากฐานระบบบำนาญของประเทศให้มีความยั่งยืนไว้
จากพรรคการเมืองฝ่ายค้านคือ นโยบายระบบสวัสดิการถ้วนหน้า โดยการปรับเพิ่มของเบี้ยยังชีพของผู้สูงขึ้นจะเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากปี 2565 ที่ควรปรับขั้นต่ำจาก 600 บาทขึ้นเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน หลังจากนั้นก็ปรับขึ้นอีกปีละ 500 บาท จนกระทั่งปี 2569 เบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุจะเท่ากับ 3,000 บาทต่อคนต่อปี
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังแสดงข้อมูลทางสถิติเพิ่มเติมอีกด้วยว่า หากมีการใช้ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าดังกล่าว จะส่งผลให้ทุกครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยครัวเรือนยากจนที่สุดจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากสุดถึง 40% และยังมีผลให้ทุกครัวเรือนมีระดับเงินออมเป็นบวกอีกด้วย
มีการคำนวณว่า หากขึ้นเบี้ยยังชีพเป็น 3,000 บาทได้สำเร็จ จะช่วยลดจำนวนผู้สูงอายุที่ติดอยู่ในภาวะยากจน เหลือเพียง 1% ซึ่งลดลงกว่า 5.7% จากการมีขั้นต่ำที่ 600 บาทเช่นในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ช่วยลดสัดส่วนผู้สูงอายุที่อยูในกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางการเงินลงราว 20%
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ควรร่วมพิจารณาไปด้วยคือ เงินงบประมาณในการจัดสรรสวัสดิการดังกล่าวที่จะต้องเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 6 แสนล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นภาระทางการคลังที่สูงมาก หากรัฐบาลยังมีรายได้เท่าเดิม
ถึงกระนั้น ประเด็นการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของไทยนั้นก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะด้วยจำนวนเบี้ยยังชีพเดิมนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้สูงอายุ
ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้ควรเกิดขึ้นไปพร้อมกับการหาช่องทางเพิ่มรายได้ของรัฐบาล อาทิ การปรับโครงสร้างภาษี การใช้นโยบายสร้างการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
------------------------------------------
อ้างอิง
ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)