“SDGs Mega Trends” 6 ซีอีโอประกาศลดโลกร้อน

“SDGs Mega Trends” 6 ซีอีโอประกาศลดโลกร้อน

UNITED NATIONS GLOBAL COMPACT ร่วมกับ ACCENTURE สำรวจความคิดเห็นของผู้นำองค์กรธุรกิจ หรือ ซีอีโอทั่วโลก 1,232 คนจาก 113 ประเทศทั่วโลก ใน 21 อุตสาหกรรม

ซีอีโอมากกว่า 49% ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหานานาประการในห่วงโซ่อุปทาน และมีเพียง 1 ใน 4 ของซีอีโอเท่านั้น ที่เตรียมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและปัจจัยเสี่ยง

ซีอีโอ 29% ที่มีการประกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ผ่านมาเกิดความสูญเสียจากผลกระทบนี้แล้วมากกว่า 67 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่กลับมีเพียง 3 พันล้านเหรียญเท่านั้นที่ได้รับการประกันความเสียหาย

 นอกจากนั้นกว่า 46% ของซีอีโอทั่วโลกพบว่าความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมมีสาเหตุมาจากสงครามการค้าภายในประเทศ และ 37% เห็นว่าต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจตามแรงขับเคลื่อนของประชานิยม และ 40% ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของตลาด

ในส่วนของไทย สมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ( GCNT) ได้รวมพลังประกาศเจตนารมณ์ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070 นับเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนไทยจากหลายอุตสาหกรรม ร่วมกันตั้งเป้าหมายเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 “ศุภชัย เจียรวนนท์” นายกสมาคม GCNT กล่าวว่าการสร้างความตระหนักรู้ผ่าน SDGs Mega Trends จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ไม่เพียงภาคธุรกิจหรือภายใต้กรอบ Bio-Circular-Green ที่รัฐบาลส่งเสริมเท่านั้น

แต่ยังรวมถึงการใช้เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ รักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพโดยวิถีจากธรรมชาติ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะพลังงานสะอาด รวมทั้งด้านสังคม เช่น สิทธิมนุษยชนและการลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ

 

  • ปตท.ลดก๊าซเรือนกระจกเปลี่ยนผ่านพลังงาน    

ในส่วนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีสิ่งใหม่ๆ ให้เรียนรู้ ทุกนาทีมีความท้าทายใหม่ๆ ให้เผชิญ ปตท. จึงได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่พัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Low Carbon Society)

“ด้วยงบการลงทุน (CAPEX) อีก 10 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2021-2030) ของกลุ่ม ปตท. มุ่งเน้นที่การลงทุนพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน มากกว่า 30% ของงบลงทุนทั้งหมด โดยครอบคลุม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ปตท. จึงวางกลยุทธ์และเป้าหมายภายใน ปี ค.ศ. 2030”อรรถพล กล่าว

“SDGs Mega Trends” 6 ซีอีโอประกาศลดโลกร้อน

  • “บางจากฯ”สร้างสมดุลธุรกิจสู่พลังงานสีเขียว

“ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ กล่าวว่าตอนนี้สัดส่วนธุรกิจโรงกลั่น ปั้มน้ำมันลดเหลือ 50- 60% ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าและพลังงานสีเขียวเติบโตขึ้นเป็นสัดส่วนสูงสุด 40-50% เราขยับขยายการลงทุนโดยให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงานสีเขียวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และดำเนินธุรกิจสีเขียวผ่านบริษัทในกลุ่มอย่าง BCPG และ BBGI

“เป้าหมายแรกคือ carbon neutral ในปี 2030 การ offset คาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากธุรกิจ เราปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและการทำงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนด้วยตัวเองให้มากที่สุด พร้อมศึกษานวัตกรรมต่างๆ การลงทุนในช่วงต่อไปจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานและนวัตกรรมสีเขียว”ชัยวัฒน์ กล่าว

 

  •    ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เมืองคาร์บอนต่ำ

“บุญรอด เยาวพฤกษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด กล่าวว่าอนาคตเมืองที่เติบโตขึ้นในทุกมิติอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และเครื่องมือทางการเงิน

เมือง คือพื้นที่ต้นเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น หากพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน มิติเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมย่อมยั่งยืนด้วย

บริษัท เดอะ ครีเอจี้ ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและเมืองคาร์บอนต่ำ ฉายภาพความเป็นไปได้ในการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) โดยต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน อาทิ ภาครัฐกำหนดมาตรการนโยบายต่างๆ เช่นมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่การจราจรหนาแน่น รวมถึงภาครัฐและเอกชนควรนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้เพื่อสะท้อนต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของสินค้าและบริการ เป็นต้น

  • “ซีพีเอฟ”ธุรกิจอาหารแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

“ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่าความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหาร ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ผลิตอาหารปลอดภัยอย่างเพียงพอ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์สูงสุด จากกระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ซึ่ง ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ครัวของโลกที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนเป้าหมายสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัย และใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยการมุ่งสู่เป้าหมายครัวโลกที่ยั่งยืน ต้องครอบคลุมการเข้าถึงอาหารปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

  • ‘มิตรผล’กับเส้นทางสู่ธุรกิจใหม่

“บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า หนึ่งในทางออกของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมต่างๆ คือการต่อยอด เพิ่มมูลค่า ให้กับของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิต

ธุรกิจจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะทิ้งขว้าง การนำทรัพยากรเหลือทิ้งไร้มูลค่า มาสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น นับเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการสูญเสียทรัพยากร ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจ

  • ไอวีแอลหนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนครบวงจร

“ยาโชวาดัน โลเฮีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือไอวีแอล กล่าวว่าการตัดสินใจทางธุรกิจของไอวีแอลดำเนินการโดยใช้เป้าหมายที่อิงวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ปัจจุบันกำลังดำเนินการสู่เป้าหมายการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ และยังท้าทายตัวเองมากขึ้นด้วยเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30 %ในขอบเขต 1 (ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากโรงงานทางตรง)

ขอบเขต 2 (ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากพลังงานไฟฟ้าที่บริษัทซื้อมาใช้) ภายในปี 2030 และเราก็กำลังดำเนินการแผนลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขต 3 (ก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมของบริษัททางอ้อม) อยู่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อการปลดล็อกอนาคตการลดก๊าซเรือนกระจก แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือการทำให้เทคโนโลยีเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงและสามารถนำมาใช้เชิงพาณิชย์ได้ นวัตกรรมใหม่ๆ มากมายอยู่ในขั้นพัฒนาและยังมีผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอน และมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูง ดังนั้น การสนับสนุนทางการเงินและสิ่งจูงใจคือปัจจัยที่จะเร่งกระบวนการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เร็วขึ้น

  • Climate Ambition Accelerator

โดย United Nations Global Compact  สร้างหลักสูตร Climate Ambition Accelerator  เป็นหลักสูตร 6 เดือน สำหรับองค์กรสมาชิกของ United Nations Global Compact ที่ต้องการสร้างความก้าวหน้าในการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ และสร้างเส้นทางเพื่อให้บริษัทเปลี่ยนผ่านไปสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero)

เพื่อขยายการดำเนินการด้านสภาพอากาศที่น่าเชื่อถือในบริษัททุกขนาด ภาคส่วน และภูมิภาค ให้สามารถดำเนินงานตามความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย

 บริษัทที่เข้าร่วมจะสามารถเข้าถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับโลก โอกาสในการเรียนรู้แบบ Peer-to-peer และผู้เชี่ยวชาญจาก SBTi และ การเรียนแบบ on-demand ผ่าน UN Global Compact Academy  

เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย.2565 ที่ https://unglobalcompact.org/take-action/climate-ambition-accelerator หรือติดต่อ [email protected]