ภาคเอกชน หนึ่งในกุญแจแก้ไขวิกฤติสภาพอากาศ | GCNT
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างโดดเด่น โดย 9 ใน 10 ของการจ้างงานในประเทศไทยอยู่ในภาคเอกชน ซึ่งทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 90 ของจีดีพีและตามมาด้วยความคึกคักของภาคเศรษฐกิจไทย
ทว่าการเติบโตดังกล่าวนั้นมาพร้อมกับความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ที่เราอาจจะยังเรียกไม่ได้เต็มปากนักว่านี่คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน
ด้วยความเชื่อมั่นในการป้องกันมากกว่าการแก้ไข เพื่อเลี่ยงความเสียหายร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างโลกที่ยั่งยืนกว่าเดิม แคมเปญ Raze to Zero จึงเกิดขึ้นด้วยมุ่งหมายระดับโลกเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์อย่างช้าที่สุดภายในปี 2050
แม้หนทางไปสู่เป้าหมายจะยังดูยาวไกล แต่ทุกอย่างเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มต้นของภาคธุรกิจเพื่อเปลี่ยนวิธีจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมแบบแยกส่วน ไปสู่การปฏิวัติการสร้างมูลค่าในระดับฐานราก
ให้เป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมตั้งต้นเป็นศูนย์กลาง จากนั้นจึงค่อย ๆ แตกหน่อเป็นการส่งเสริมการจ้างงาน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการที่มีความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายภาคส่วนจากหลายประเทศทั่วโลกหันมาดำเนินภารกิจ Raze to Zero อย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 ที่มีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2021
ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิบได้นำเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contributions: NDCs) เพื่อบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยของเราตั้งเป้าที่จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065
นอกจากนั้น เรายังมีสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ที่เป็นการรวมกลุ่มโดยสมัครใจของของกว่า 90 บริษัท ที่ตั้งมั่นจะทุ่มเทให้กับหลักการทำธุรกิจที่ยั่งยืน
บริษัทส่วนใหญ่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นอกจากนั้นในการประชุมประจำปี 2020 ของเครือข่าย GCNT ที่ผ่านมา เหล่าสมาชิกยังสัญญาว่าจะสนับสนุนทุนรวมกว่า 4 หมื่นดอลลาร์ ต่อเนื่อง 10 ปีไปจนถึงปี 2030 เพื่อร่วมกันผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
แต่เราไม่อาจให้ภาคเอกชนรับหน้าที่แต่เพียงผู้เดียว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือทางภาครัฐและการสนับสนุนจากภาคประชาสังคม เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานรวมถึงความโปร่งใสสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก
ปัจจุบันมีบริษัท 147 แห่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดการลงทุนทางเลือก ที่เข้าร่วมในบัญชีรายชื่อหุ้นยั่งยืน
จึงสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมและความใส่ใจที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน ไม่เพียงเท่านั้น ระเบียบใหม่จากการประชุม COP26 ที่กำหนดราคาของการปล่อยคาร์บอนจากภาคธุรกิจยังเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นการลงทุนและนวัตกรรมในตลาดคาร์บอนอีกด้วย
เมื่อภาคใหญ่ขยับ หน่วยย่อยลงมาก็อยากร่วมเขยื้อน ในช่วงโรคระบาดอยู่นี้เราจะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SMEs ที่เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจและมีสัดส่วนการจ้างงานมากที่สุดนั้นได้รับผลกระทบไม่แพ้ใคร แต่กลับอยู่ในสถานะตกร่อง
กล่าวคือภาคธุรกิจ SMEs ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินหรือความรู้เฉพาะทางจากสถาบันทางการเงินเท่าที่ควร ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเหล่านี้จึงไม่อาจร่วมมือเพื่อลดการสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างที่ตั้งใจไว้
การร่วมกันผลักดันในขั้นแรกจึงจะต้องทำความเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประเมินทั้งห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ SMEs อย่างรอบด้าน จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมเครือข่ายโกลโบลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และสหประชาชาติ ที่จะร่วมให้การสนับสนุนเชิงโครงสร้าง
ไม่ว่าจะเป็น การสร้างแรงจูงใจทางนโยบาย การให้คำแนะนำต่อการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนั้นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่ายอย่างไม่ทิ้งภาคส่วนใดไว้ข้างหลัง
ปัจจุบันภารกิจ Raze to Zero ได้ดำเนินการมาแล้วปีกว่า และนานาประเทศเองก็แถลงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง แต่เรื่องกลับไม่ง่ายขนาดนั้นเพราะต่อให้ทุกประเทศทำตามสัญญาที่ให้ไว้ อุณหภูมิของโลกก็จะยังคงจะเพิ่มขึ้นอีก 2.4 องศา ซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าหมายอย่างมากสุดที่ 1.5 องศาตามความตกลงปารีส
นั่นหมายความว่าในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP27 ณ เมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์ ในปี 2022 นี้ จะต้องมีการเคลื่อนไหวในประเด็นการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมินี้อย่างหนักแน่นกันกว่าเดิม
แม้การขับเคลื่อน Raze to Zero จะดูเป็นเรื่องที่ยาวไกล แต่การที่เราเริ่มตระหนักว่าทุกการกระทำนั้นมีผลกระทบต่อความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น ก็ถือเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงแล้ว
กระนั้นก็ตาม เรายังคงต้องมุ่งมั่นกันต่อเพื่อสนับสนุนให้เกิดพันธมิตรการทำงาน และเพื่อเปลี่ยนความตั้งใจให้เป็นการลงมือทำจริง โดยเฉพาะภาคเอกชนที่สามารถใช้โอกาสนี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ผู้เขียน :
กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย
ศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย