"กองทุนฟื้นฟูฯ" สปสช. พัฒนาสุขภาวะ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

"กองทุนฟื้นฟูฯ" สปสช. พัฒนาสุขภาวะ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

"สปสช." จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริหารจัดการ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ ระดับจังหวัด เชิญ อบจ.-อปท. ทั่วประเทศร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานกองทุนร่วมกัน

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ปี 2565 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมาโดยมีตัวแทนจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯ ร่วมกัน

 

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประเทศไทยเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นจุดสำคัญมากในการดำเนินภารกิจสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพต่างๆ และต่อไปการทำงานในระดับพื้นที่ จะเป็นคำตอบในการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในจังหวัด ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

 

การประชุมในวันนี้จะการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จาก อบจ.สระบุรี อบจ.นครราชสีมา และ อบจ.สงขลา ว่าตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนากองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดอย่างไรบ้าง ได้ใช้กลไกนี้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีภาวะพึ่งพิงอย่างไรบ้าง และหวังว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นและนำไอเดียดีๆกลับไปพัฒนาพื้นที่จังหวัดของตนต่อไปได้

 

\"กองทุนฟื้นฟูฯ\" สปสช. พัฒนาสุขภาวะ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

โคราช ดูแลสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ

 

นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดนครราชสีมา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 และดำเนินงานครบถ้วนตามประกาศที่ สปสช.กำหนด ทั้งเรื่องการจัดตั้งศูนย์ซ่อมกายอุปกรณ์ ตั้งศูนย์ยืมคืนอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานอื่นๆ ดังนี้

 

1.การปรับสภาพบ้านผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะพึ่งพิงและผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน

เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันสามารถปรับปรุงสภาพบ้านได้ 1,504 หลัง โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งมีนายอำเภอของทุกอำเภอเป็นประธานคณะทำงานคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายในการปรับปรุงสภาพบ้าน โดย กองทุนฟื้นฟูฯ สนับสนุนค่าวัสดุอุปกรณ์ 5 หมื่นบาท/หลัง โครงการนี้ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายดีขึ้น

 

2. การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสุขใจใกล้บ้าน

เริ่มดำเนินการปี 2564 ปัจจุบันมี 9 แห่งและตั้งเป้าขยายให้ครบ 32 อำเภอในปี 2566 ศูนย์นี้ดำเนินการใน 4 รูปแบบเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือเป็นสถานีสุขภาพ ทำหน้าที่คัดกรองสุขภาพของคนในชุมชน โรงเรียนเบาหวาน โรงเรียนผู้สูงอายุ และเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังและกลุ่มที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพ ทั้งนี้ การดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสุขใจใกล้บ้านจะช่วยสร้างเสริมสุขภาวะในชุมชนและลดความแออัดในโรงพยาบาลอีกทางหนึ่งด้วย

สระบุรี บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน

 

ด้าน นายธนกฤต อัตถะสัมปุณณะ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสระบุรี เริ่มตั้งแต่ปี 2556 โดยกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานกองทุนคือผู้บริหาร เริ่มตั้งแต่นายก อบจ. ซึ่งให้ความสำคัญด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งคณะผู้บริหาร อบจ.

 

นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญคือการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย มีการบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนในรูปแบบของคณะกรรมการและอนุกรรมการ ตั้งแต่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในแต่ละพื้นที่ เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรผู้พิการ ตลอดจน องค์กรภาคเอกชนต่างๆ ทำให้ผลการบูรณาการออกมาค่อนข้างชัดเจน

 

สำหรับโครงการสำคัญของ กองทุนฟื้นฟูฯ จังหวัดสระบุรี มีหลายโครงการ อาทิ

  • โครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เริ่มตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันปรับสภาพบ้านได้ 470 หลังคาเรือน
  • โครงการจัดหากายอุปกรณ์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ ปัจจุบันสามารถผลิตหรือจัดหาได้กว่า 40 รายการ เช่น เตียง รถเข็น ที่นอน ฯลฯ และมอบให้ผู้ที่ต้องการใช้ ยืมไปใช้แล้วกว่า 1,500 ราย
  • โครงการศูนย์ซ่อมอุปกรณ์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้บริการซ่อมบำรุงฟรี เริ่มในปี 2564 และจะขยายพื้นที่เป็นอาคาร 2 ชั้น ซึ่งจะช่วยเก็บอุปกรณ์และใหบริการได้มากขึ้น

 

"นอกจากนี้ ยังมีโครงการเด่นอื่นๆ เช่น ศูนย์ร่วมสุข จ.สระบุรี ดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมี 72 ศูนย์ทั่วจังหวัด และยังตั้งศูนย์ต้นแบบเพิ่มอีก 14 ศูนย์ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจ มีนักกายภาพบำบัดลงพื้นที่ไปให้บริการ ตลอดจนอบรมนักฟื้นฟูชุมชนให้บริการดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ เป็นต้น โดยสรุปในภาพรวมแล้วสิ่งที่เราทำนั้นเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์และเกิดความสุขกับประชาชนจังหวัดสระบุรี ดังนั้นจึงอยากอยากเชิญชวน อบจ. ในทุกๆจังหวัด ให้ความสำคัญและเข้ามาร่วมกันดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูฯครับ" นายธนกฤต กล่าว

 

สงขลา ขับเคลื่อนกองทุนผ่าน 800 เครือข่าย

 

ขณะที่ นายอับดลรอหมาน กาเหย็ม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสงขลา เริ่มดำเนินการปี 2558 โดยเน้นการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม ปัจจุบันมีกว่า 800 เครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานของกองทุน และกระบวนการส่งเสริมความเข้มแข็งในการทำงานโดยให้ อบจ. เป็นศูนย์กลาง

 

ประสานการทำงานและแสวงหาหุ้นส่วนในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างกลไก เป้าหมายกลางในการทำงานร่วมกัน รวมทั้งการบูรณาการฐานข้อมูลกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจับมือกับ11 องค์กรเครือข่าย บูรณาการระบบฐานข้อมูลกลางร่วมกัน โดยมี อบจ.สงขลาเป็น Center บริหารจัดการข้อมูล ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนทำงานบนฐานข้อมูลเดียวกัน

 

ลดความซ้ำซ้อนและลดช่องว่างในการทำงาน นอกจากนี้ ยังเน้นการการจัดทำแผนงานโครงการแบบบูรณรการร่วมกันกับองค์กรเครือข่าย การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ ตลอดจนเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

 

ขณะเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนมีการสร้างความยั่งยืน จึงมีการประกาศข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2559 และข้อบัญญัติเรื่องศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ พ.ศ. 2559 ทำให้ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารไปเป็นชุดใหม่ แต่กองทุนฟื้นฟูฯยังคงได้รับการดูแล นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนการดำเนินงาน แผนอัตรากำลัง กำหนดนโยบายและจัดสรรทรัพยากร วางแนวทางพัฒนากองทุนอย่างมีระบบ สอดคล้องกับแผนพัฒนาท้องถิ่นระยะ 5 ปี เป็นหลักประกันว่ากองทุนนี้จะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่