รมว.สธ.เอเปคหารือสร้างสมดูลสุขภาพ-เศรษฐกิจ เร่งฟื้นตัวหลังโควิด-19
สธ.ไทยนำ 21 เขตเศรษฐกิจประชุม APEC Health Week 22-26 ส.ค.นี้ ภายใต้แนวคิด”เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หารือสร้างสมดุลสาธารณสุข-เศรษฐกิจ ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ BCG เร่งฟื้นตัว-เติบโตให้มากที่สุดหลังวิกฤติโควิด-19
เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 และการประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพของเอเปค (ครั้งที่ 2/2565)ระหว่างวันที่ 22-26 ส.ค.2565ว่า ในปี 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
สนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขของเขตเศรษฐกิจเอเปคภายใต้หัวข้อ “Open to partnership. Connect with the World. Balance Health and the Economy. หรือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์กับภาคี เชื่อมโยงกันกับโลก สู่สมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ”
การจัดประชุมด้านสาธารณสุขครั้งแรกของประเทศไทย (APEC Health Week) ระหว่างวันที่ 22-26 ส.ค. 2565 ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขจากเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เข้าร่วมแบบออนไซต์ และมี จีน จีนฮ่องกง เกาหลีใต้ และรัสเซีย เข้าร่วมในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงมีผู้นำระดับสูงของหน่วยงานระหว่างประเทศ 3 ท่าน ได้แก่ 1. เลขาธิการอาเซียน 2. รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย และ 3. ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปค และมีข้าราชการระดับสูงและภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมอีกกว่า 150 คน
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า การจัดประชุมดังกล่าวมี 4 เป้าหมาย เพื่อระดมสมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อแสดงศักยภาพด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย และเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและประเพณีอันงดงามของไทย ซึ่งประกอบด้วย 10 กิจกรรม ได้แก่ การหารือทวิภาคีกับ 3 เขตเศรษฐกิจ, การประชุมวิชาการเรื่องครอบครัวคุณภาพและโรคมะเร็งปากมดลูก
การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขและภาคเอกชนในรูปแบบการเสวนาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ (Balancing Health and the Economy) โดยเฉพาะหลังสถานการณ์ระบาดโควิด 19 ที่จะต้องฟื้นตัวให้เร็ว และการประชุมโต๊ะกลม (Round Table) เรื่องการลงทุนด้านสุขภาพ (Investment in Global Health Security) เพื่อเป็นการกระตุ้นและตอกย้ำให้ทุกเขตเศรษฐกิจเพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพ เพื่อรองรับการระบาดต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาดูงานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทยให้กับเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อาทิ ศูนย์โปรตอน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ , ศูนย์สมเด็จพระเทพฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ และสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย รวมถึงช่วงบ่ายวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ประเทศไทยจะทำการแนะนำสถานที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED : ASEAN Center for Public Health Emergencies and Emerging Diseases) ที่บางรักด้วย
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า การหารือของรมว.สธ.เอเปคที่เกิดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในเดือนพ.ย.2565 จะส่งผลให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยและสมาชิกทุกเขตเศรษฐกิจ ทำให้มีความเชื่อมั่นและเกิดการเจรจาต่างๆที่เกิดหลังจากช่วงนี้เป็นต้นไป จะทำประโยชน์อย่างมากมาย ให้พร้อมเดินออกจากสภาวะวิกฤติโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปด้วยความมั่นคงแข็งแกร่ง
“สธ.ต้องปรับในช่วงนี้ คงไม่ใช่เน้นเรื่องการแพทย์ การสาธารณสุข สุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่จะต้องเป็นกระทรวงที่แพ้วทางให้เกิดการเคลื่อนไหว ขยายตัวทางเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่จะต้องเดินออกจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อเร่งให้มีการเติบโตทางเศรษบกิจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว การค้าการลงทุน และอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ครบทุกภาคส่วน สร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศ ควบคู่กับการมีสุขภาพแข็งแรงจากบทเรียนที่ได้จากสถานการณ์โควิด-19”นายอนุทินกล่าว
อนึ่ง สมาชิก APEC ปัจจุบันมี 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน จีนฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม