"หมอแล็บแพนด้า" เตือนเทรนด์ วัยรุ่นลิ้นฟ้า "ยาลิ้นฟ้า" อันตรายอย่าหาทำ

"หมอแล็บแพนด้า" เตือนเทรนด์ วัยรุ่นลิ้นฟ้า "ยาลิ้นฟ้า" อันตรายอย่าหาทำ

"หมอแล็บแพนด้า" เตือนเทรนด์วัยรุ่นลิ้นฟ้า "ยาลิ้นฟ้า"อย่าหาทำ ชี้เป็นยาควบคุม ต้องจ่ายโดยแพทย์วินิจฉัยโรคไปยังผู้ป่วยเท่านั้น

กลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียล สำหรับวัยรุ่นนิยมใช้ "ยาลิ้นฟ้า" เพื่ออวดลิ้นที่เปลี่ยนเป็นสีฟ้านั้น 

ล่าสุด ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน โพสต์เฟซบุ๊ก “หมอแล็บแพนด้า” ระบุว่า 

"ตอนนี้วัยรุ่นบางกลุ่มชอบอัปคลิปตัวเองตอนเมา แล้วแลบลิ้นที่มีสีฟ้าออกมาซึ่งมันคือ "ยาโรฮิบนอล 542" หรือ "ยาลิ้นฟ้า" มันไม่ใช่จะซื้อขายกันได้ง่ายๆ เป็นยาควบคุมต้องเป็นหมอที่จ่ายยาให้ ไม่ใช่ขายกันตามออนไลน์แบบตอนนี้นะครับ

ยาตัวนี้ไม่ได้ให้เอามาเคี้ยวเล่น มันมีฤทธิ์บรรเทาอาการวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้นอนหลับ สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ คลายกล้ามเนื้อ และกดระบบการหายใจ ทางการแพทย์ก็เลยเอามาใช้เป็นยานอนหลับ ยาสลบก่อนการผ่าตัด

อันที่จริงไม่อยากแจงรายละเอียดเยอะ เพราะวัยรุ่นที่ชอบใช้ยาผิดประเภทถูกใจนักแล เขาจะเอามาใช้ในทางที่ผิดทั้งกับตัวเอง และผู้อื่น เช่น เอามากินให้มึนงง เดินเซ เมา แลบลิ้นอวดโชว์กันในโซเชียล

ช่วยกันสอดส่องดูแลบุตรหลานด้วยนะครับ เคี้ยวยาลิ้นฟ้ารึเปล่า อันตรายจริงๆ"

 

\"หมอแล็บแพนด้า\" เตือนเทรนด์ วัยรุ่นลิ้นฟ้า \"ยาลิ้นฟ้า\" อันตรายอย่าหาทำ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ขณะที่ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "ยาลิ้นฟ้า" คือ "ยาโรฮิบนอล" ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าของยาในกลุ่มฟลูนิแทรซิแพม (Flunitrazepam) หรือ อาจเป็นกลุ่มยาลักษณะเดียวกัน จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ถือเป็นยาควบคุม ไม่มีขายทั่วไป ต้องจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น

หากสถานพยาบาลใดจ่ายยาดังกล่าวต้องทำรายงานส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยยาดังกล่าวออกฤทธิ์ในการบรรเทาอาการวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้นอนหลับ สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ คลายกล้ามเนื้อ ต้านการชัก และกดระบบการหายใจ ในทางการแพทย์จึงนิยมใช้เป็นยานอนหลับ ยานำสลบ และสงบประสาทก่อนทำการผ่าตัด 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า ยาดังกล่าวมีผู้นำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปมอมผู้อื่นให้หมดแรงต่อสู้ จำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ เพื่อก่ออาชญากรรม โดยส่วนใหญ่ใช้ผสมในเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อทำให้ Flunitrazepam ออกฤทธิ์กดประสาทแรงขึ้น ขณะนี้พบว่า มีการนำไปเสพเพื่อให้เกิดอาการมึน และอวดลิ้นที่เปลี่ยนเป็นสีฟ้า

จึงขอเตือนว่า เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมากอาจเกิดผลข้างเคียงจนถึงแก่ชีวิตได้ เช่น หยุดหายใจ หากเสพปริมาณมาก หรือเสพร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่สูงมาก

ทั้งนี้ ผู้ที่ลักลอบจำหน่าย ยา Flunitrazepam และผู้ที่นำไปใช้เสพ ผู้จำหน่าย โฆษณาเชิญชวน ถือว่ามีความผิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด โดยผู้ขาย ผู้เสพ ผู้โฆษณา หรือชวนผู้อื่นมาเสพ มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับสูงสุด 700,000 บาท

 

 

 

ขอบคุณภาพจาก หมอแล็บแพนด้า

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์