วิธีสังเกต "เห็ดพิษ"- "เห็ดกินได้" พร้อมหลักปฐมพยาบาลเบื้องต้น
วิธีสังเกต "เห็ดพิษ"- "เห็ดกินได้" พร้อมหลักปฐมพยาบาลเบื้องต้น เตือนระวังการนำเห็ดป่ามาปรุงอาหาร อาจเป็นเห็ดพิษเสี่ยงเสียชีวิตได้ “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่กิน”
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดพิษ เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก จนไม่สามารถแยกด้วยตาเปล่าได้ว่าเป็นเห็ดกินได้หรือเห็ดพิษ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดพิษมาปรุงประกอบอาหาร ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในปี 2565 พบผู้ป่วย จำนวน 1,206 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุบลราชธานี จำนวน 831 ราย ศรีสะเกษ จำนวน 187 ราย สุรินทร์ จำนวน 47 ราย ยโสธร จำนวน 31 ราย และเชียงราย จำนวน 28 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เช่น 1) เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน 2) เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม 3) เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า 4) เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้ เป็นต้น
สำหรับ วิธีทดสอบความเป็นพิษของเห็ดโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ต้มเห็ดกับข้าวหรือหอมแดง ถ้าเป็นเห็ดพิษจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี หรือจุ่มช้อน หรือตะเกียบเงิน หรือเครื่องเงินแล้วจะทำให้เงินเป็นสีดำนั้นไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะนำมาทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำลายพิษได้
“เมื่อกินเห็ดเข้าไปแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อย่าล้วงคอหรือกินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และการกินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่ม หรือติดเชื้อได้ และหากปล่อยไว้นานผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับ และไตล้มเหลว อาจเสี่ยงทำให้เสียชีวิต ดังนั้น ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นพ.โอภาส กล่าว
ด้าน นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เห็ด เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน 2565 พบว่ามีมูลค่าการส่งออกของเห็ดสด หรือเห็ดแช่เย็นรวมทั้งสิ้น 104.4 ล้านบาท ประเทศไทยเองมีแนวโน้มที่จะหันมาเพาะปลูกเห็ด และมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะสร้างมูลค่าสินค้าโดยการแปรรูปเห็ดให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคและการส่งออกมากยิ่งขึ้นด้วยคุณค่าทางโภชนาการเห็ดไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ
เห็ด 100 กรัมแห้งยังมีโปรตีนสูงร้อยละ 5 - 34 และ ไขมันต่ำร้อยละ 1 - 8 จึงเป็นอาหารที่เหมาะกับสุขภาพของทุกกลุ่มวัย ประโยชน์ของเห็ดมีสรรพคุณที่น่าสนใจหลากหลาย เนื่องจากมีไฟเบอร์สูงและไม่มีคอเลสเตอรอล จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีที่ควรนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารเพื่อควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ส่วนคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ เห็ดบางชนิดมีวิตามินบี และวิตามินดีสูง จึงเหมาะใช้แทนเนื้อสัตว์
นอกจาก ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการดังกล่าวแล้ว ทางด้านศาสตร์การแพทย์ แผนไทย เห็ดมีข้อบ่งชี้ว่ามีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณทางยาคือ แก้ไข้ แก้ช้ำใน บำรุงร่างกาย และช่วยเจริญอาหาร และมีเห็ดป่าที่ประชาชนทั่วไปรู้จัก และนิยมนำมารับประทาน ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่น่าสนใจ เช่น เห็ดเผาะ หรือ เห็ดถอบที่มีรสเย็น หวาน ช่วยบำรุงร่างกาย แก้ช้ำใน เห็ดระโงก ช่วยบำรุงร่างกาย เห็ดตับเต่า ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย เห็ดโคน บำรุงร่างกาย
บำรุงกำลัง ด้วยคุณค่าเหล่านี้เห็ดจึงเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนา และเชื่อว่าสามารถสร้างรายได้ในวงการอาหารสุขภาพ ได้อย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยเห็ดในประเทศไทย ที่มีหลากหลายจึงพบว่าประชาชนบางส่วนมีการนำเห็ดพิษมารับประทาน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นภูมิปัญญาชาวบ้าน มักมีจุดสังเกตเบื้องต้นว่าเห็ดพิษส่วนใหญ่เจริญงอกงามในป่า ก้านสูง
ลําต้นโป่งพองออกโดยเฉพาะที่ฐานกับที่วงแหวนเห็นชัดเจน สีผิวของหมวกมีได้หลายสี เช่น สีมะนาว ถึงสีส้ม สีขาวถึงสีเหลือง ผิวของหมวกเห็ดส่วนมากมีเยื่อหุ้มดอกเห็ดเหลืออยู่ในลักษณะที่ดึงออกได้ หรือเป็นสะเก็ดติดอยู่ ครีบแยกออกจากกันชัดเจน มักมีสีขาว บางชนิดสีแดงหรือสีเขียวอมเหลือง สปอร์ใหญ่มีสีขาวหรือสีอ่อน มีลักษณะใสๆ รูปไข่กว้าง เห็ดบางชนิดก็มีพิษร้ายแรง สามารถทําลายเซลล์ของตับ ไต
ระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด ระบบหายใจ ระบบสมอง และทำให้เกิดอันตราย ถึงแก่ความตายได้ อาการที่แสดงหลังจากได้รับสารพิษคือ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ท้องร่วง ความรุนแรงขึ้นกับเพศ อายุ และปริมาณในการรับประทาน การนำเห็ดไปต้มให้สุกก่อนรับประทาน ก็ยังไม่มีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเห็ดบางชนิด เช่น เห็ดระโงกหิน หรือเห็ดไข่ตายซาก (ฮาก) (Amanita verna และ Amanita virosa ) ซึ่งมีสารพิษในกลุ่ม cyclopeptide จะทนความร้อนได้ดี การนำเห็ดไปต้มก็ไม่สามารถทำให้สารพิษนี้สลายไปได้
แต่ที่สำคัญหากไม่มั่นใจว่าเห็ดนั้นรับประทานได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ ก็ไม่ควรนำมาปรุงหรือรับประทานก็จะปลอดภัยมากกว่า และในทางอุตสาหกรรมอาหารหากจะนำเห็ดเหล่านี้มาขายตามตลาดสุขภาพก็ต้องมีการพิสูจน์ได้ว่าเห็ดชนิดใดเป็นพิษหรือไม่ อาจต้องตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ “ ดังนั้นผมต้องฝากประชาชนทุกคนนะครับ สิ่งใดๆ ที่มีประโยชน์ก็อาจจะมีโทษแอบแฝง การรับประทานเห็ดก็ต้องสังเกตให้ดีว่าเห็ดมีพิษ หรือเห็ดนั้นรับประทานได้ และการนำมาใช้ประกอบอาหาร หรือประกอบอุตสาหกรรมทางอาหารที่ต้องทำขายเพื่อให้คนอื่นรับประทานยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น หากเผลอรับประทานเห็ดพิษ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เตรียมน้ำอุ่นผสมผงถ่าน activated charcoal แล้วดื่ม 2 แก้ว โดยแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อนแล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นมีการใช้สมุนไพร 2 ตัวในการถอนพิษต่างๆ คือ “ใบย่านาง” และ “รางจืด” ซึ่งหากเป็น “ใบย่านาง” สามารถนำรากมาล้างให้สะอาดแล้วโขลกละเอียดผสมนํ้าเปล่า จากนั้นก็กรองกากใยออก แล้วดื่มนํ้าที่เหลือซึ่งวิธีนี้จะช่วยทำให้อาเจียนออกมา ส่วน “รางจืด” ให้นำใบล้างให้สะอาดต้มกับนํ้าด้วยไฟปานกลาง แล้วดื่มเพื่อลดการดูดซึมสารพิษเข้าไปก็สามารถล้างพิษเห็ดเบื้องต้นได้แต่ต้องรีบส่งแพทย์ทันที พร้อมตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ ข้อห้ามที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หลังจากบริโภคเห็ดป่าโดยเด็ดขาด เพราะมีผลต่อระบบประสาท อาจทำให้พิษกระจายรวดเร็วขึ้น ถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้ นายแพทย์เทวัญ กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์