กัญชา-กัญชง ความหวัง "เกษตรกร" คาด 3 ปี มูลค่าทะลุ 4.2 หมื่นลบ.
"กัญชา" และ "กัญชง" นับเป็น "พืชเศรษฐกิจใหม่" ที่กำลังได้รับความนิยมหลังจากได้รับการปลดล็อก พบว่ามีผู้ประกอบการก้าวเข้ามาธุรกิจนี้มากขึ้น คาดว่ามูลค่าจะสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาทใน 3 ปี และสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงถึง 800,000 บาทถึง 1.2 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี
ปัจจุบันพบว่าผลิตภัณฑ์จาก กัญชา กัญชง ออกสู่ท้องตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารเครื่องดื่ม โดยกัญชา กัญชง และสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อผลิตจำหน่าย ต้องเป็นเฉพาะส่วนของพืชที่กำหนดในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน รากและใบ
โดยผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากสารสกัด CBD ผู้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร เงื่อนไขชนิดอาหาร ปริมาณ THC และ CBD และแสดงคำเตือนเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด
คาดกัญชา-กัญชง ทะลุ 4.2 หมื่นลบ.
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการประเมินมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมกัญชา โดยจากการประมาณการณ์พื้นที่เพาะปลูกกัญชง-กัญชา ล่าสุด ณ เดือน เม.ย. 2565 ไทย มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 7,500 ไร่ มีมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ รวมกว่า 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ
- มูลค่า 9,615 ล้านบาท
- ช่อดอกแห้ง 8,123 ล้านบาท
- ใบแห้ง 1,128 ล้านบาท
- เมล็ด 140 ล้านบาท
- ส่วนอื่นๆ 224 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์กลางน้ำ
- สารสกัดเข้มข้น 12,410 ล้านบาท
- น้ำมันกัญชา/น้ำมันกัญชง1,383 ล้านบาท
- เส้นใยกัญชง 896 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ
- ยารักษาโรคและอาหารเสริมมีมูลค่า 1,500 ล้านบาท
- อาหารและเครื่องดื่ม 1,200 ล้านบาท
- เครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล 800 ล้านบาท
- เครื่องนุ่งห่มและของใช้ส่วนตัว 250ล้านบาท
และยังมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะโตได้ 10-15% มีมูลค่าสูงถึง 42,800 ล้าน โดยผลิตภัณฑ์ปลายน้ำจะเติบโตเร่งกว่าปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงถึง 800,000 บาทถึง 1.2 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หรือเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หากเทียบกับการปลูกข้าว เกษตรกรจะมีรายได้จะอยู่ที่ 10,000-15,000 บาทต่อปี
ปักหมุด 10 จังหวัดท่องเที่ยว
วานนี้ ( 18 ส.ค.) มีการแถลงข่าว เปิดตัว ร้าน กัญชา RG420 cannabis store ร้านขายกัญชาครบวงจร แห่งแรกของไทย ณ ถนนข้าวสาร และต่อไปคือ ภูเก็ต 2 สาขา และพัทยาอีก 1 สาขา และมีแผนเปิดใน 10 จังหวัดท่องเที่ยว ภายในร้านสร้างให้เหมือนคาเฟ่ มีผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ผ่านการตรวจสอบจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และช่อดอกแห้งมากกว่า 5 สายพันธุ์ สามารถสูบได้ในร้าน มีระบบระบายอากาศ และห้ามคนอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้า โดยมีเจ้าหน้าที่คัดกรอง ตรวจบัตร พร้อมทำแบบสอบถามเรื่องความเข้าใจในกัญชาก่อนใช้บริการ โดยเปิดระหว่าง 16.20 - 01.20 น.
“เนตรนภา สิงห์สถิตย์” กรรมการบริหาร บริษัทรักษ์กัญ 420 จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน กัญชา RG420 cannabis store เปิดเผยว่า นับแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 ที่มีการ ปลดล็อกพืชกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด ประชาชนสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต การสูบกัญชา ไม่มีความผิดกฎหมายยาเสพติด แต่การสูบกัญชาในที่สาธารณะ รบกวนสิทธิผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท
สำหรับบริษัทก้าวเข้าสู่ตลาดกัญชาได้ราว 1 ปีเศษ โดยหวังว่าจะเป็นจุดกระจาย และช่วยเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนได้ทางหนึ่ง สำหรับ ร้าน RG420 cannabis store ปักหมุด 10 จังหวัดท่องเที่ยว โดยสาขาแรกที่ถนนข้าวสาร และต่อไปคือ ภูเก็ต 2 สาขา และพัทยาอีก 1 สาขา สำหรับช่อดอกที่ใช้ในร้านมาจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา และรับซื้อจากเครือข่ายเกษตรกร ต้องผ่านการตรวจตามมาตรฐานของร้าน ตั้งแต่สายพันธุ์ สาร THC CBD การตรวจโลหะหนัก สารปนเปื้อน หากไม่ผ่านมาตรฐานจะไม่มีทางนำมาขายเด็ดขาด ทุกตัวสินค้าไม่ว่าจะช่อดอก และอาหารต้องมีผลตรวจทั้งหมด
"สินค้าทุกตัวผ่านการตรวจสอบ และทำตามกฏกระทรวงทุกประการ อยากให้ภาครัฐสนับสนุนอาหารไทยที่ใส่กัญชา โดยอาจออกฎหมายให้ชัดเจนมาเลยว่าห้ามใช้ช่อดอกผสมในอาหาร ในชิ้นส่วนอื่นก็จะมีมูลค่าและสามารถแปรรูปอาหารได้ กัญชาไทยกับการท่องเที่ยวเกิดได้หากทำให้ได้มาตรฐาน วันนี้กัญชาสามารถปลูกได้ทุกบ้าน หากเกษตรกรปลูกและมีที่ขายจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สิ่งที่อยากให้ภาครัฐสนับสนุนคือการออก พ.ร.บ กัญชาให้ชัดเจน ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลดล็อกกัญชาเร็วที่สุด คนที่มองว่ากัญชาจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้น เกิดการจ้างงาน และทำแบบยั่งยืนได้"
ด้าน “องอาจ ปัญญาชาติรักษ์” ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน กัญชา RG420 cannabis store กล่าวว่าการที่ภาครัฐปลดล็อกกัญชา ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีโอกาสในการเปิดร้านในแหล่งท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา ลำปาง เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่มีความหวังเกี่ยวกับพืชกัญชาว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวและประเทศทำให้สังคมไทยได้เห็นสามารถยกระดับธุรกิจกัญชาให้เทียบเท่าสากลได้ พร้อมกับสอดแทรก อัตลักษณ์ความเป็นไทย
ทั้งนี้ การเปิดร้านต้องทำตามกฎกระทรวงสาธารณสุขไม่ขายและไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าใช้บริการ ไม่ขายให้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร รวมทั้ง ต้องไม่ขับรถและไม่ทำงานกับเครื่องมือ ที่สำคัญ คือ ไม่ใส่ช่อดอกในอาหาร สินค้าทุกตัวในร้านที่เป็นอาหารจะไม่มีส่วนผสมของช่อดอก โดยในร้าน มีสินค้าราว 20 รายการ
ปัจจุบัน ที่ถนนข้าวสารกว่า 90% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากที่เปิดมา 15 วัน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจจำนวนมาก เนื่องจากในร้านมีเครื่องฟอกอากาศ ต้องใช้ภายในร้านเท่านั้น ห้ามใช้ในพื้นที่สาธารณะโดยมีคำเตือนระบุชัดเจน วันธรรมดามีคนมาใช้บริการราว 100-200 คน ขณะที่วันหยุดจะมีผู้ใช้บริการมากถึง 300-400 คนจำกัดเวลาในการใช้ห้องคนละไม่เกิน 45 นาที
“เรามีต้นน้ำในการปลูก กลางน้ำโรงงานผลิตอาหาร และปลายน้ำที่เป็นร้านขาย และในอนาคตมีเป้าหมายที่จะมีโรงงานสกัดแต่ต้องรอให้กฏระเบียบขัดเจนก่อนสินค้าจึงแปรรูป ใบ ต้น ราก ในการทำอาหาร ส่วนช่อดอกขายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเน้นพันธุ์ไทยเป็นหลัก ทั้งหางกระรอกก้านแดง หางกระรอกตะนาวศรี หางกระรอกเพชรบุรี และพันธุ์นอกที่ปลูกในเมืองไทย ประมาณ 6 สายพันธุ์ และ CBD จากกัญชง รวมถึงใบรับรองและการตรวจสอบสาร THC CBD และสารตกค้างอื่นๆ ด้วย” องอาจ กล่าวทิ้งท้าย