เขตสุขภาพที่ 1 ขับเคลื่อน "กัญชาทางการแพทย์" เน้นใช้กัญชารักษาผู้ป่วย
"อนุทิน" เปิดประชุมวิชาการ "กัญชาทางการแพทย์" เขตสุขภาพที่ 1 ขับเคลื่อนนโยบาย "กัญชาทางการแพทย์" ครอบคลุมหลายมิติ ย้ำส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง ช่วยกันสอดส่องดูแลการนำไปใช้ในทางที่ผิด
วันนี้ (20 สิงหาคม 2565) ที่ห้องประชุมอาคารคชสาร (สนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย) องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 1 พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์” โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อสม.และประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน
นายอนุทิน กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลปลด กัญชา และ กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติด เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้เดินหน้าขับเคลื่อนการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องในทุกเขตสุขภาพ รวมถึงส่งเสริมให้นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ สามารถพลิกโฉมให้เกิดการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในภาพรวมของประเทศ สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เป็นมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท
"ซึ่งเป็นความตั้งใจของกระทรวงสาธารณสุขที่จะนำพืชกัญชามาใช้ทางการแพทย์อย่างปลอดภัย และสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศชาติ ไม่สนับสนุนการใช้เพื่อสันทนาการ และขอให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และบุคลากรทางการแพทย์ช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด"
โดยเขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน มีการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ในหลากหลายมิติ อาทิ
- รพ.นครพิงค์ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เปิดบริการคลินิกกัญชาทั้งออนไซต์และออนไลน์ ตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วย ตำรับยากัญชา ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย
- รพ.ปาย ใช้ยาศุขไสยาศน์ร่วมกับการใช้ยาแผนปัจจุบันในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการนอนไม่หลับ
- รพ.แพร่ สร้างระบบแจ้งเตือนการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาและยากัญชาทางการแพทย์ และมีการอำนวยความสะดวกในการขอรับใบอนุญาตเกี่ยวกับกัญชา กัญชง โดยปัจจุบันมีประชาชนได้รับใบ อนุญาตปลูกกัญชา 11 ราย พื้นที่ 1,137 ตรม. และกัญชง 147 ราย พื้นที่ 2,480 ไร่
รวมถึงร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันกัญชา กัญชง เพื่อให้ได้สาร CBD ที่เหมาะสม เตรียมพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น สบู่ แชมพู บาล์ม และน้ำมันหอมระเหย ช่วยในกลุ่มผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับและรับประทานยายาก เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การประชุมวิชาการด้านการแพทย์ การเสวนาวิชาการและการบรรยายเกี่ยวกับ กัญชา กัญชง โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชน การจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางและภูมิภาค การให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย และการตรวจรักษาโรคต่าง ๆ