"อาหารแปรรูป" กินมาก เสี่ยงขาดสารอาหาร แก่ก่อนวัย สมองเสื่อม
กรมอนามัย ชี้ การกิน "อาหารแปรรูป" มากเกินไป เสี่ยงขาดสารอาหาร ส่งผลให้ดูแก่ก่อนวัย และอาจเสี่ยงสมองเสื่อม แนะ 7 เคล็ดลับ ช่วยให้สมองดี สุขภาพแข็งแรง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วิถีชีวิตที่เร่งรีบของสังคมเมือง
และความเครียดสะสมจากการทำงาน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาดูแลตนเอง โดยเฉพาะการเลือกกินอาหาร มีแนวโน้มบริโภคอาหารสำเร็จรูปหรือ อาหารแปรรูป มากขึ้น เช่น น้ำอัดลม มันฝรั่งทอด ไส้กรอกรมควัน เบคอน แฮม ขนมขบเคี้ยว อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารบรรจุกระป๋อง
อาหารแปรรูปตามท้องตลาดส่วนใหญ่ผ่านการจัดเตรียม ปรุงรส กลิ่น ปรับเปลี่ยนรูปร่าง บรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ง่ายต่อการกินและเก็บรักษา อาหารแปรรูปบางชนิดมีการเติมส่วนผสมต่าง ๆ เช่น
- สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
- สารเติมแต่งอาหารเพื่อเพิ่มสีสันและกลิ่นให้น่ากิน
- สารกันบูดเพื่อคงความสดใหม่และยืดอายุการเก็บรักษา
- บางชนิดอาจใส่น้ำตาลธรรมชาติ หรือน้ำตาลฟรุกโตสชนิดพิเศษ (High Fructose Corn Syrup) มากเกินไป เพื่อให้อาหารมีรสชาติ เนื้อสัมผัสและสีตามที่ต้องการ
ส่งผลให้อาหารแปรรูปมีปริมาณน้ำตาล โซเดียม และไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งหากกินในปริมาณที่มากเกินไป และติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกาย ขาดสารอาหาร ผิวพรรณเหี่ยวย่น หย่อนคล้อยดูแก่ก่อนวัย และเสี่ยง สมองเสื่อม ได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากกินอาหารแปรรูปมากเกินไป จะทำให้ร่างกายเสี่ยงขาดสารอาหารสำคัญ ได้แก่
1) วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ พบมากในผักผลไม้ มีส่วนช่วยให้กระบวนการต่างๆ ของร่างกายทำงานได้เป็นปกติ โดยเฉพาะระบบประสาทและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ผักผลไม้หลากสียังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันเซลล์ไม่ให้เกิดความเสียหาย หากร่างกายขาดสารอาหารเหล่านี้ จะส่งผลให้เซลล์ถูกทำลายได้ง่าย ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร
2) โปรตีน เป็นองค์ประกอบโครงสร้างของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งผิวหนัง กระดูก กล้ามเนื้อ เล็บ เอ็น และข้อ โปรตีนยังเป็นสารอาหารสำคัญในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และใช้สร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ด้วย อาหารแปรรูปมักจะมีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง แต่มีโปรตีนต่ำ หากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้ป่วยง่าย หายช้า ผิวหนังหยาบกร้าน ดูแก่ก่อนวัย และอาจเสี่ยงสมองเสื่อมจากการขาดกรดอะมิโนจำเป็นต่อสมองอย่างทริปโตเฟน ที่พบได้ในเนื้อสัตว์ นม ไข่
3) ใยอาหาร มีส่วนสำคัญในการช่วยระบบขับถ่าย ทำให้เกิดกระบวนการหมักในลำไส้ได้ กรดไขมันสายสั้นช่วยชะลอภาวะการอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้นตามอายุ สามารถกำจัดเซลล์มะเร็ง และลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่
7 เคล็ดลับ ช่วยสมองดี ร่างกายแข็งแรง
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า กรมอนามัยจึงขอแนะนำ 7 เคล็ดลับป้องกัน ช่วยให้สมองดี สุขภาพแข็งแรง ได้แก่
1) กินผักให้มาก กินผลไม้เป็นประจำ
2) กินธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเปลือกแข็ง และถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ
3) กินโปรตีนจาก ปลา ไข่ นม เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
4) ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม เลี่ยงอาหารแปรรูป
5) ศึกษาข้อมูลโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้กินอาหารมากเกินปริมาณที่กำหนด ได้รับพลังงานจากน้ำตาล และไขมันสูงเกินไป ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
6) ดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงสถานที่มลภาวะสูง
7) มีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกายเป็นประจำ ผ่อนคลายความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้แก่ก่อนวัย และส่งผลดีต่อสมองด้วย