เปิดรายงานยูนิเซฟ พบเด็กวัยรุ่นไทยผิดปกติทางจิตประสาท-อารมณ์
เปิดรายงานยูนิเซฟ พบเด็กไทย 5-9 ปี 1 ใน 14 คน และวัยรุ่นไทย 10-19 ปี 1 ใน 7 มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ อายุ 13-17ปี 17.6% มีความคิดฆ่าตัวตาย เร่งขับเคลื่อนเชิงรุก เข้าถึงการช่วยเหลือทุกมิติ
เมื่อวันที 30 ส.ค.2565 ที่ รพ.ศรีธัญญา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดยกรมสุขภาพจิต ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยว่า นโยบายภาครัฐตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มีการกำหนดให้การดูแลสุขภาพจิตและสวัสดิภาพของคนทุกกลุ่มอายุ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เด็กและวัยรุ่นในปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่รวดเร็วหลายประการ และภัยคุกคามอื่นๆ ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 การส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพจิต การป้องกันและบรรเทาภัยคุกคามต่อสุขภาพจิตที่ดี การคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยสุขภาพจิต และการปรับปรุงการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กและวัยรุ่นมีสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี จำเป็นต้องมีนโยบายบูรณาการสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนระดับชาติ เพื่อมีแนวทางในการปิดช่องว่างในการดูแลสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน โดยการประสานงานและการดำเนินการระหว่างภาคส่วนที่สำคัญ ๆ เช่น การสนับสนุนผู้ปกครองและผู้ดูแล ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและครอบคลุมเพื่อปกป้องนักเรียน หรือสร้างความมั่นใจ เด็กในระบบยุติธรรมและกลุ่มเปราะบางได้รับการสนับสนุนและการดูแลด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการสังคม ในการเสริมสร้างบริการด้านสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่นในทุกระดับต่อไป
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ สอดคล้องกับผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School - based Student Health Survey) พบว่า 17.6 %ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งการฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย จึงเป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยต้องกำหนดวิสัยทัศน์และแผนงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและป้องกันการฆ่าตัวตายของเด็กและวัยรุ่นที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนั้น
ต้องเร่งสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างหลักประกันให้เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้มีสุขภาพจิตที่ดี และได้รับการสนับสนุนการดูแล และบริการที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการในเวลาที่เหมาะสมและทันท่วงที
ด้านพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความร่วมมือในการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่เด็กและเยาวชน กรมสุขภาพจิต มีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย โดยเน้นให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก อีกทั้งการช่วยเหลือเชิงรุกร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในด้านการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ผ่าน App HERO โดยครูสามารถส่งต่อปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตนักเรียนกับ HERO Consultant ที่เป็นบุคลากรสาธารณสุข ผ่าน App มีหลักสูตรอบรมออนไลน์ให้ครู เรื่องการให้การปรึกษา การฟังเชิงลึก และ การปรับพฤติกรรม ส่วนวัยรุ่นที่อยู่ในระดับอุดมศึกษาได้มีการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยราชมงคลจำนวน 38 แห่ง เพื่อพัฒนาศักยภาพอาจารย์ดูแลนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิต
กลุ่มเด็กเปราะบาง ได้ประสานความร่วมมือกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน เพื่อดูแลเด็กในบ้านพักเด็ก มีระบบสารสนเทศการคุ้มครองเด็ก รวมทั้งมีการอบรมเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็ก ให้ดูแลภาวะวิกฤตสุขภาพจิตเบื้องต้นกับเด็กในบ้านพักได้
สำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีการอบรมทักษะการฟังเชิงลึกให้กับผู้พิพากษาสมทบ เรื่องการเข้าถึงบริการของเคสในศาลเยาวชนและมีแผนการดูแลเด็กในสถานพินิจ
แผนงานต่อไปคือการบูรณาการระหว่าง 4 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงยุติธรรม ผ่านการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ในการสร้างระบบป้องกันปัจจัยเสี่ยง แก้ไข เยียวยา ฟื้นฟูปัญหาสุขภาพจิตเพื่อรองรับการบริการสำหรับเด็กทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ สิ่งนี้อาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาที่ใหญ่ยิ่ง เด็กและวัยรุ่นหลายล้านคนในประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต ทั้งโรคเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากปัจจัยมากมาย เช่น ความรุนแรง การถูกกลั่นแกล้ง ความโดดเดี่ยว ความไม่แน่นอน รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่น่าเสียดายที่ปัญหาดังกล่าวมักถูกบดบังเอาไว้ เนื่องจากการตีตราทางสังคม และการเข้าไม่ถึงข้อมูล การคัดกรอง การสนับสนุน ตลอดจนบริการด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม
"ปัญหาสุขภาพจิตอาจก่อผลกระทบรุนแรงในระยะยาวต่อสุขภาพ การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งเป็นการจำกัดความสามารถของพวกเขาในการพัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ ยูนิเซฟ มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและทุกหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อสร้างหลักประกันให้ระบบสนับสนุนทางจิตใจสอดคล้องกับความต้องการ และเข้าถึงเด็กและวัยรุ่นก่อนที่จะสายเกินไป"นางคยองซอนกล่าว