"ล้างหนี้ กยศ." มองสองมุม นำไปสู่ "ความเท่าเทียม" หรือ "ปัญหา" ?

"ล้างหนี้ กยศ." มองสองมุม นำไปสู่ "ความเท่าเทียม" หรือ "ปัญหา" ?

จับกระแส "ล้างหนี้ กยศ." จากโซเชียลมีเดีย หลังมีโครงการ "ล่ารายชื่อล้างหนี้ กยศ." ที่ยังถกเถียงกันว่า แท้จริงแล้วนี่คือ โอกาส "ลดความเหลื่อมล้ำ" หรือเพิ่ม "ปัญหา" ​

#ล้างหนี้ กยศ. กลับมาอยู่ในความสนใจในโซเชียลอีกครั้ง หลังมีการชวน “ล่ารายชื่อล้างหนี้ กยศ.” 1 หมื่นรายชื่อเพื่อแก้กฎหมาย กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) เพื่อ “ยกเลิกหนี้คงค้าง” ให้คนที่เรียนจบครบ 2 ปีแล้ว ให้เก็บเงินจากรัฐบาลแทน แน่นอนว่าเรื่องนี้ เสียงแตกเพราะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยจากแนวคิดดังกล่าว

จุดเริ่มต้นของแนวคิดล้างหนี้การศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องนี้ถูกหยิบยกมาพูดอยู่ตลอดทั้งใน และต่างประเทศ เช่น ก่อนหน้านี้ในสหรัฐ กระแสการเรียกร้องให้ “ยกเลิกหนี้การศึกษา” ก็เกิดขึ้นเช่นกัน ช่วงก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 “เบอร์นี แซนเดอร์” หนึ่งในผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตได้รณรงค์นโยบายยกเลิกหนี้การศึกษาทั้งหมด การยกเลิกหนี้การศึกษายุติธรรมกับทุกคน แต่ถูกปัดตกไป

โดยกลุ่มคนที่สนับสนุนมองว่า การล้างหนี้ กยศ. เรียนฟรีตลอดชีพ ข้อเสนอเพื่อคน 99% ในขณะที่กลุ่มคนไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นหน้าที่ ที่ต้องใช้หนี้คืน เพราะการล้างหนี้ให้เฉพาะบางกลุ่มถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องยุติธรรม

  •  ล้างหนี้ กยศ. ข้อเสนอเพื่อคน 99% 

ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ” ได้เล่าถึงเหตุผลของการสนับสนุนการล้างหนี้ กยศ. เนื่องจากเรื่องทุนทรัพย์ ทำให้การศึกษาในประเทศเป็นเรื่องที่เข้าถึงยาก ผู้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไม่เรียนต่อ เสียสละให้พี่น้องคนใดคนหนึ่งได้เรียนต่อ มุ่งหน้าเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อหารายได้ประทังชีวิต ในขณะที่ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งกัดฟันสู้ เลือกที่จะอยู่ในระบบการศึกษา เลือกที่จะขายที่ ขายนา กู้หนี้ยืมสิน ทำงานดิ้นรนส่งลูก ส่งตัวเองเรียนหนังสือ

การช่วยกันผลักดันให้เกิดการเรียนฟรีถ้วนหน้า ทำให้การศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องบริการประชาชน ทำให้การศึกษาเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกระดับ

โดยเพจ “นักเรียนเลว” ที่เป็นหนึ่งกลุ่มสนับสนุนแนวคิดล้างหนี้ กยศ. ได้เปิดเผยข้อมูล รายได้ กยศ. ที่อ้างอิงจากข้อมูลของ กยศ. เอง โดยพบว่ารายได้รวมในปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 6.9 พันล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นรายได้ทั้งจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 400 ล้านบาท รายได้จากการรับคืนดำเนินคดี 69 ล้านบาท รายได้จากการรับคืนค่าสืบบังคับคดี 8.7 ล้านบาท รายได้จากการรับบริจาค 3.7 พันบาท และรายได้อื่นๆ 3.14 แสนบาท

นอกจากนี้ “ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ” ได้ยกบทความ “ทำไมการยกเลิกหนี้การศึกษาถึงยุติธรรมสำหรับทุกคน” ซึ่งยกวิจัยของ Ben Burgis อาจารย์คณะปรัชญา มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ ที่ระบุว่า “แนวคิดว่าการยกเลิกหนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นธรรมกับทุกคนเท่านั้น แต่ยังทำให้สถานศึกษาสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย”

เหตุผลของเขาคือ การศึกษา “ไม่ควรจะต้องทำกำไร” และไม่ควรมีใครติดหนี้จากการบริการของภาครัฐที่มาจากภาษีของประชาชน โดย Burgis ได้แย้งมุมมองที่ว่า “การยกเลิกหนี้ กยศ. จะสร้างความไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ชำระค่าหนี้ของตนเองสำเร็จแล้ว”  พร้อมโต้กลับ “หากเป็นเช่นนั้น การดำเนินการอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตของคนในปัจจุบันดีขึ้นก็ล้วนแต่ไม่ยุติธรรมกับคนในอดีตเช่นกัน”

  •  มองต่าง “ยกหนี้ กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. !?” 

อย่างไรก็ตาม อีกมุมหนึ่งคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นต่าง และมองว่าการล้างหนี้ กยศ. มีโอกาสส่งผลกระทบมากกว่าข้อดี

สำหรับประเด็นนี้ นพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงกรณีล่ารายชื่อยกหนี้ กยศ. ว่า การยกหนี้ กยศ. มองว่า “ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ กยศ.” แต่จะทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต

โดยกฎหมายปัจจุบัน พยายามเสนอแก้ไขให้การชำระหนี้ กยศ. ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิม “เป็นหนี้ต้องใช้หนี้” แต่หาทางผ่อนปรนการชำระหนี้ ให้สอดคล้องกับรายได้ และความสามารถในการใช้หนี้ของผู้กู้มากขึ้น โดย ณ เวลานี้ ร่างพระราชบัญญัติอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

ด้าน ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ก็ออกมาย้ำว่า “การยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา” ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้ว ยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ และวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้จำนวน 3,458,429 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท หากยกเลิกหนี้ดังกล่าวจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา

------------------------------------------------

อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการกยศ.twitter

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์