น่าห่วง ! 3 อันดับแรกปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยกังวล
"มินเทล" เผยปัญหาสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรกที่คนไทยกังวล ระบุคนไทยให้ความสำคัญ “คุณภาพอากาศ” ขณะที่พฤติกรรมความยั่งยืนมุ่งเน้นความเรียบง่ายและความประหยัด
การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยฉบับใหม่ของ Mintel Consulting Sustainability Barometer ประจำปี 2565 เปิดเผยว่า 43% ของผู้บริโภคชาวไทยกล่าวถึงเรื่อง คุณภาพอากาศ ว่าเป็นปัญหาหลักด้านสิ่งแวดล้อมใน 3 อันดับแรก รองลงมาคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (42%) และการตัดไม้ทำลายป่า (28%)
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ตามรายงานของ International Trade Administration ในปี 2564 ยอดรวมการผลิตในประเทศมีมูลค่าถึง 43.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกิจกรรมทางการเกษตรมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนำไปสู่การผลิตโอโซนที่เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายเพิ่มมากขึ้น
แม้ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มขึ้นแต่จำนวนผู้บริโภคที่เชื่อว่ายังมีเวลาช่วยโลกหากเราลงมือทำตอนนี้กลับลดลง โดยลดลงจาก 62% เป็น 58% ระหว่างปี 2564-2565* เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย (42% vs 50%) และอินเดีย (51% เทียบกับ 56%) อย่างไรก็ตาม คนไทยจำนวนมากถึง 72% เห็นด้วยว่า สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก (เช่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน) กระตุ้นให้พวกเขาทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวเองเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- พฤติกรรมความยั่งยืนของคนไทยเน้นความเรียบง่ายและความประหยัด
ความต้องการที่จะช่วยโลกนำมาซึ่งปัจจัยแห่งความรู้สึกดี ๆ เนื่องจากผู้บริโภค 76% กล่าวว่าการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุข ในขณะที่เกือบครึ่ง (45%) กล่าวว่าพวกเขาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ประจำปีของตัวเอง (เช่น การคำนวณในช่องออนไลน์หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน)
ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พฤติกรรมความยั่งยืนอันดับต้น ๆ ของคนไทยมุ่งเน้นไปที่ความเรียบง่ายและความประหยัด นั้นคือ การซื้อผ้าใหม่น้อยลง (49%) การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ (47%) และการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองว่าไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (33%) นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางไปสู่การใช้ยานพาหนะขนาดเล็กนั้นชัดเจนขึ้น โดย 40% บอกว่าพวกเขาหันมาขี่จักรยานบ่อยขึ้น
เมื่อถามถึงวิธีแก้ปัญหาที่ผู้บริโภคเห็นว่ามีผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมสูงถึงปานกลาง ผู้บริโภคให้การสนับสนุนโครงการป่าไม้และการอนุรักษ์ รวมถึงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน
- เรื่องพลังงานหมุนเวียนนั้น คนไทย 41% คิดว่าผู้บริโภคเองมีส่วนรับผิดชอบต่อการใช้พลังงานหมุนเวียนมากที่สุด
- มีเพียง 28% เท่านั้นที่เชื่อมโยงกับภาครัฐ
- ผู้บริโภคเกือบสองในสาม (64%) ระบุว่าตนมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผ่านการรับรองด้านการประหยัดพลังงาน (เช่น เครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า) อยู่ที่บ้าน
- วิจัยชี้ชัดสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหลักที่ผู้บริโภคชาวไทยกังวล
Mintel Consulting Sustainability Barometer ประจำปีครั้งที่ 2 นำเสนองานวิจัยและให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทัศนคติด้านความยั่งยืน การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และพฤติกรรมของผู้บริโภคใน 16 ประเทศ
ริชาร์ด โคป Senior Trends Consultant บริษัท Mintel Consulting กล่าวว่าสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นเรื่องหลักในใจผู้บริโภคชาวไทย การเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนที่เราเห็นรุนแรงขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาด ภาวะเงินเฟ้อ และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงอันเลวร้าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพและสร้างรายจ่ายให้แก่พวกเขา
ขณะเดียวกันก็ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวและการรณรงค์ที่เพิ่มขึ้น กฎระเบียบที่เกิดขึ้นใหม่ และความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่รออยู่ รวมถึงวิธีแก้ปัญหาที่จำเป็น ต่างเป็นตัวบ่มเพาะให้ผู้บริโภคทั่วโลกสามารถแยกแยะได้ว่าแคมเปญรักษ์โลกไหนที่เป็นไปแค่แบบผิวเผิน
- การรีไซเคิลและการลดขยะเป็นพฤติกรรมที่มีความยั่งยืน
การตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคหมายความว่า บริษัทต่าง ๆ จะต้องมีจุดยืนและสื่อสารออกมาให้ได้อย่างชัดเจนถึงการดำเนินการในการลดการปล่อยมลพิษ แทนที่จะทำเพียงแค่ชดเชย หรือรณรงค์ “ลดการใช้พลาสติก” แบบตามน้ำ ความใส่ใจในการใช้ทรัพยากร
การตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดการปล่อยมลพิษและของเสียที่เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่จุดจบของวลีทางการตลาดอย่าง “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ที่เคยน่าเชื่อถือมาก่อนหน้านี้"
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงคนไทย ยังคงมองว่า การรีไซเคิลและการลดขยะเป็นพฤติกรรมที่มีความยั่งยืนและสำคัญ ซึ่งทำให้เราทราบว่า กลุ่มผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมที่เรียบง่ายและประหยัดมากที่สุด
"เน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงที่ว่า โครงการเพื่อความยั่งยืนต่าง ๆ ของแบรนด์จำเป็นต้องส่งต่อคุณค่าและมอบความสะดวกสบาย เมื่อมองไปถึงปี 2566 เราคาดที่จะได้เห็นถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร (อาหาร น้ำ เงิน) กันมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาปรับปรุงใหม่เพื่อให้เกิดความประหยัด และการเข้าถึงเศรษฐกิจแบบแบ่งปันของผู้คนในเมือง สำหรับผู้บริโภคแล้ว ความเชื่อมโยงระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากร และการเงินของพวกเขาจะแข็งแกร่งขึ้น”ริชาร์ด กล่าว