GULF-BCP-SCGP เปิดแผนก้าวสู่การเติบโตยั่งยืนด้วยนวัตกรรม
“กัลฟ์” เดินหน้าสู่ธุรกิจพลังงานยั่งยืน ชู4ทิศทางสู่เป้าหมาย การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 “บางจาก” มุ่งยุทธศาสตร์ BCP 316 “เอสซีจีพี” ตั้งเป้าผลิตแพ็กเกจจิ้งรีไซเคิล ใช้ใหม่-ย่อยสลายได้ 100% ภายในปี 2025
บนเวทีเสวนาในงาน Thailand Focus 2022: The New Hope จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หัวข้อ "Delivery Sustainable Growth with Innovation" (ก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม)
มี 3 ธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF , และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP และบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ให้แนวคิดเกี่ยวกับกระแสความยั่งยืนในภาคพลังงาน และแนวคิดและข้อปฏิบัติที่มีต่อสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า โดย ธุรกิจของ “กัลฟ์” คือ “การผลิตพลังงาน” ก่อนหน้านี้ก็ใช้พลังงานจากถ่านหิน แต่ก็มีปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการประท้วงทั้งจากภายในและต่างประเทศ
และเป็นเรื่องยากมากที่จะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นบริษัทจึงเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานสะอาด เช่น ก๊าซ
นายสารัชถ์ กล่าวว่า แนวโน้มภาคพลังงานจะหันมาใช้วิธีการที่ยั่งยืนมากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งกัลฟ์เองก็กำลังมาในแนวทางนั้นเช่นกัน ขณะนี้กำลังขยายไปในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น
นโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวนั้น แนะนำว่าประเทศไทยจะต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 คือ
1. ต้องเร่งเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน
2. จำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของผู้ผลิตรายใหญ่
3. ให้ทุนสนับสนุนเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน
4. รับรองมาตรฐานการปล่อยคาร์บอน
ด้าน นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า ในส่วนของบางจาก มุ่งยุทธศาสตร์ “BCP 316” ซึ่ง B ย่อมาจาก Breakthrough Performance คือการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพและขั้นตอนการผลิต ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 30% ส่วน C มาจาก Conserving Nature and Society คือการอนุรักษ์ธรรมชาติและสังคม ซึ่งสามารถทำได้โดยการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการปลูกป่าทดแทน ซึ่งจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ 10% และตัว P ย่อมาจาก Proactive Business Growth and Transition คือการเร่งลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนถึง60% ถ้าประเทศไทยสามารถทำได้ตามแนวทางนี้ ไทยก็สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ได้อย่างที่ตั้งใจ
นายวิชาญ จิตร์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า หลักการทำธุรกิจของบริษัท มีการทำเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้อยู่แล้ว โดยเรียกว่า เส้นทาง ESG ที่บริษัทตั้งเป้าไว้จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล
นอกจากนี้ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็เป็นตัวแปรที่สำคัญ หากสังคมมีความเท่าเทียมมากขึ้น โดยการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มทักษะการทำงาน หรือแม้แต่การส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ก็จะช่วยในเรื่องของการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อีกทางหนึ่ง
โดยในส่วนของเอสซีจีนั้น ใช้ยุทธศาสตร์ “โอบกอดความร่วมมือ (embrace collaboration) ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อใจ และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน
โดยเอสซีจีตั้งเป้าว่าจะผลิตแพ็กเกจจิ้งที่รีไซเคิลได้ นำมาใช้ใหม่ได้และย่อยสลายได้ 100% ภายในปี 2025