ส่อง 'อำนาจกสทช.' ตามข้อกฎหมาย ยื่นดาบ!! กำกับ 'ดีลทรูควบดีแทค'

ส่อง 'อำนาจกสทช.' ตามข้อกฎหมาย ยื่นดาบ!! กำกับ 'ดีลทรูควบดีแทค'

การรับฟังความเห็น หรือ โฟกัส กรุ๊ป จากนี้ ต้องรัดกุมมากกว่าเดิม และมีเสียงจากผูัมีส่วนได้เสียจากอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ขณะที่ ยังต้องพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจของ กสทช.ตามกรอบกฎหมาย !!

หลังจาก Focus Group รอบแรก หรือที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงานกสทช.) เรียกว่า การรับฟังความเห็นในวงจำกัดรอบแรกของการรวบธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จบลงเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา แม้ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาที่แน่ชัดในการจัดครั้งที่ 2 ในรอบ “นักวิชาการ” และในครั้งที่ 3 ที่เป็นในส่วนของผู้บริโภคนั้น

แหล่งข่าวจากบอร์ดกสทช. กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า การรับฟังความเห็นต้องรัดกุมมากกว่าเดิม และมีเสียงจากผูัมีส่วนได้เสียจากอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง และยังต้องพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจของกสทช.ตามกรอบกฎหมาย
 

มีอำนาจสั่งห้ามดีลให้หยุดหรือไปต่อ

แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวว่า หากหากพิจารณาประเด็นกฎหมายในเรื่องดังกล่าวมีการระบุไว้ชัดเจนว่า กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 ที่บัญญัติไว้ว่า

การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยกรณีนี้ทรู และ ดีแทค ได้มีการยื่นรายงานการควบรวมตามข้อ 5 (1) ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 
 

ซึ่งตามข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวยังระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 กสทช. มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมนี้ได้ หากเข้าข่ายเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน

ไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตแต่มีอำนาจคุม

 ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการแข่งขัน โดยเสรีอย่างเป็นธรรม และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขันและการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 27(11) (24) และมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคม พ.ศ. 2553ประกอบมาตรา 21และมาตรา 22(3) (4) (5) แห่งพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ระบุถึง

"ผู้มีอํานาจควบคุม” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลอื่นซึ่งโดยพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อ การควบคุมนโยบาย การบริหารกิจการ การ อํานวยการ หรือการจัดการของผู้รับใบอนุญาตอย่างมีนัยสําคัญ ไม่ว่าอิทธิพลดังกล่าวจะสืบเนื่องจากการเป็นผู้ถือหุ้น หรือได้รับมอบอํานาจ ตามสัญญา หรือการอื่นใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบุคคลที่เข้าลักษณะข้อหนึ่งข้อใด

ยก3ประกาศฯมีสิทธิตรวจสอบ

กนกนัย ถาวรพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กสทช.มีอำนาจห้ามการควบรวมในฐานะผู้กำกับดูแลตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายชัดเจน ตามที่การใช้อำนาจห้ามควบรวมในฐานะผู้กำกับดูแลจากข้อมูลเท่าที่ปรากฏต่อสาธารณะ การควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทค เป็นการควบรวมระหว่างบริษัทแม่ กล่าวคือซีพี (ผู้มีอำนาจควบคุมของทรู) และเทเลนอร์ เอเชีย (ผู้มีอำนาจควบคุมของดีแทค) เพื่อร่วมกันตั้ง Citrine Global และให้บริษัทนี้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่เกิดจากการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคอีกทอดหนึ่ง

ดังนั้น การควบรวมครั้งนี้จึงเป็นการควบรวมระหว่างผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตโดยตรงจากกสทช.เป็นการรวมธุรกิจตามข้อ 3 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 (ประกาศ 2561) และต้องขออนุญาต กสทช. ก่อนการควบรวมเสร็จสิ้น ตามข้อ 5 และ 9 ประกาศ 2561 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549