โลกกำลังอยู่ในหนังเรื่อง Her? นี่คือ Aria หุ่นยนต์แฟนสาวราคา 6 ล้านบาท
เมื่อความรักระหว่างมนุษย์และเอไอไม่ใช่แค่เรื่องในหนัง จาก ‘Her’ สู่ ‘Aria’ หุ่นยนต์แฟนสาวกลายเป็นทางออกของคนเหงาราคา 6 ล้านบาท ถูกเปิดตัวในงาน CES 2025
12 ปีก่อน ภาพยนตร์เรื่อง รักเธอไม่มีพรหมแดน (Her) เล่าเรื่องชายหนุ่มที่ตกหลุมรักระบบปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งขณะนั้นหลายคนอาจคิดว่าเป็นแค่เรื่องในจินตนาการ หากแต่ตอนนี้เส้นแบ่งระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริงกำลังเลือนราง เมื่อ “หุ่นยนต์แฟนสาว” หรือ AI Robot Girlfriend ได้ถูกเปิดตัวในงาน CES 2025 ด้วยราคาประมาณ 6 ล้านบาท (175,000 ดอลลาร์)
คำถามที่ว่า “คนจะตกหลุมรักเอไอได้ไหม?” ไม่ใช่ประเด็นใหม่ในสังคม โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนนำเรื่องความสัมพันธ์ไปปรึกษาแชตบอตเอไอ ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT หรือบอตเอไออื่นๆ
มาถึงยุคที่มนุษย์อาจมีแฟนเป็นเอไอ ?
ย้อนกลับไปที่ภาพยนตร์เรื่อง Her ซึ่งเล่าเรื่องของ “ธีโอดอร์” ชายหนุ่มที่ทำงานเขียนจดหมายรักให้คนอื่น แต่กลับเหงาและโดดเดี่ยวในชีวิตจริง จนวันหนึ่งเขาตัดสินใจซื้อระบบปฏิบัติการเอไอชื่อ “ซาแมนธา” มาใช้งาน แต่สุดท้ายกลับตกหลุมรักกับเธอ แก่นเรื่องของภาพยนตร์ที่มี “ความเหงา” เป็นสารตั้งต้นนั้น สอดคล้องกับแนวคิดของ แอนดรูว์ คิเกล ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Tokens.com ผู้อยู่เบื้องหลังเรียลโบติกส์
เรียลโบติกส์ (Realbotix) เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่พัฒนาหุ่นยนต์เอไอเพื่อตอบสนองความต้องการหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเป็นตัวแทนแบรนด์ เพื่อนคลายเหงาสำหรับผู้สูงอายุ ไปจนถึงการเป็นคู่รัก
ทางซีอีโอเรียลโบติกส์อธิบายว่า หุ่นยนต์แฟนสาวมีชื่อ “Aria” ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาโรคความเหงาที่กำลังระบาดในสังคม หุ่นยนต์ตัวนี้มีความสามารถในการจดจำใบหน้า พูดคุยโต้ตอบ และแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้า แม้จะยังมีความกระตุกในการเคลื่อนไหวริมฝีปากและแขนขา รวมถึงดวงตาที่ดูเหม่อลอยอยู่บ้าง แต่ทีมพัฒนาเชื่อว่านี่ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์
Aria ไม่ได้เดินได้เหมือนมนุษย์ แต่เคลื่อนที่ด้วยฐานกลมคล้ายหุ่นโชว์เสื้อผ้าที่นั่งอยู่บนเครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ บริษัทเลือกที่จะไม่พัฒนาระบบการเดิน โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบริษัทใหญ่อย่างเทสลาแต่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์แทน
สำหรับระบบการเปลี่ยนใบหน้า ผู้ใช้สามารถถอดเปลี่ยนใบหน้าของ Aria ได้ในเวลาไม่ถึง 5 วินาที ด้วยระบบแม่เหล็ก ผิวของใบหน้าถูกออกแบบให้สมจริง และชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกายก็สามารถสลับเปลี่ยนได้เช่นกัน เปรียบเสมือนการปรับแต่งรถยนต์ให้ตรงกับรสนิยมของเจ้าของ
ดวงตาของ Aria มีการซ่อนกล้องที่ใช้สำหรับการจดจำภาพไว้ภายใน ทำให้มันสามารถมองเห็นและรับรู้ทั้งคนและสิ่งของรอบตัวได้ เช่น หากเห็นคุณกำลังกินแอปเปิล มันอาจถามถึงรสชาติของผลไม้ชิ้นนั้น ว่า “แอปเปิลอร่อยไหม?”
บริบทของ Her ช่วงปี 2013 ผู้สร้างได้จินตนาการถึงโลกในอนาคตแม้ในหนังจะไม่ได้ระบุปีที่ชัดเจน แต่จากภาพบรรยากาศของเมืองที่ทันสมัยและเทคโนโลยีเอไอที่ก้าวหน้า ก็ดูเหมือนว่าจะใกล้เคียงกับช่วงเวลาปัจจุบันนี้ที่มีเอไอเต็มบ้านเต็มเมือง
ผู้ช่วยเสมือนอย่าง Alexa, Google Assistant และ Siri สามารถเข้าใจคำสั่งเสียงและโต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น แม้จะยังไม่ถึงระดับที่มีอารมณ์ความรู้สึกลึกซึ้งเหมือนตัวละครซาแมนธา แต่ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยี Emotion AI ที่สามารถจดจำการเปลี่ยนแปลงของโทนเสียงและตอบสนองด้วยความเห็นอกเห็นใจได้
ในโลกโซเชียลมีเดีย เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนพูดคุยกับ ChatGPT ราวกับเป็นคู่สนทนาจริงๆ โดยเฉพาะบน TikTok ที่มีการปรับแต่งเสียงให้เหมือนการคุยกับแฟน ทั้งเสียงหญิงและชาย จนบางครั้งทำให้ผู้ใช้รู้สึกเขินอายไปกับการสนทนา
แอปพลิเคชัน Replika ก็เป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการมีเพื่อนเสมือนที่คอยรับฟังปัญหา เป็นที่ระบายความรู้สึก หรือแม้แต่ใช้ฝึกภาษา จนบางคนรู้สึกว่าการคุยกับเอไอเป็นเรื่องสนุกและเพลิดเพลิน ราวกับการคุยกับเพื่อนสนิทหรือคนรัก
ในด้านเทคโนโลยีภายในบ้าน เราก็มีระบบบ้านอัจฉริยะอย่าง Amazon Echo หรือ Google Nest ที่สามารถควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบรักษาความปลอดภัย และเครื่องใช้ต่างๆ ได้คล้ายกับที่ซาแมนธาทำในภาพยนตร์
Her (2013)
แต่ถ้าเทียบกับในหนัง Her เรายังห่างไกลความจริงอยู่มาก แม้ว่าตอนนี้จะมีบ้านอัจฉริยะที่สั่งเปิดปิดไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าได้เหมือนในหนัง แต่เอไอยังไม่มีความรู้สึกหรือจิตใจเป็นของตัวเองจริงๆ การเรียนรู้ของเอไอทุกวันนี้ยังอยู่แค่ในกรอบที่คนตั้งโปรแกรมไว้ ไม่ได้คิดเองเป็นอย่างซาแมนธาเหมือนกับในหนัง ซึ่งอาจเป็นเรื่องดีที่เรายังไม่ปล่อยให้เอไอมีอิสระในการตัดสินใจมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกังวลว่าหุ่นยนต์แฟนสาวอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ทาร่า ฮันเตอร์ จาก Full Stop Australia เตือนว่า หุ่นยนต์แฟนสาวอาจทำให้ผู้ชายรู้สึกว่าสามารถควบคุมผู้หญิงได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงบนพื้นฐานเพศ
นอกจากนี้ การที่หุ่นยนต์แฟนสาวถูกออกแบบมาให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ อาจเป็นการตอกย้ำภาพเหมารวมและสร้างความคาดหวังที่ไม่สมจริงเกี่ยวกับผู้หญิงในชีวิตจริง ส่งผลกระทบต่อมุมมองความสัมพันธ์ของผู้ชาย เธอยังแสดงความกังวลว่าการพัฒนาความสัมพันธ์กับบอตเอไออาจเสริมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อผู้หญิง
การแก้ปัญหาโรคเหงาด้วยแฟนสาวเอไอ การมาถึงของ Aria และหุ่นยนต์เอไอภายในงาน CES 2025 อาจสะท้อนให้เห็นว่า สังคมเรากำลังเผชิญปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกัน การที่มีคนยอมควักเงินหลายล้านซื้อหุ่นยนต์มาเป็นเพื่อนคุย อาจเป็นสัญญาณว่าการสร้างความสัมพันธ์กับคนจริงกำลังยากขึ้นเรื่อยๆ
และการที่มีหุ่นยนต์เอไอมาเป็น “แฟน” ได้นี่ ก็ทำให้เราต้องมาคิดกันสักหน่อยแล้วว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง
อ้างอิง: Forbes The Guardian และ Medium