Better Thailand คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำ
งานเสวนา Better Thailand “ถามมา-ตอบไป” ในประเด็น “คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสทุกคน” ลดหนี้ครัวเรือน ยกระดับฝีมือแรงงาน แก้ความจนแบบมุ่งเป้า ส่งเสริมผู้ประกอบการ
งานเสวนา Better Thailand Open Dialogue “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเชิงสร้างสรรค์ของคนไทย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม
โดยมีสาระสำคัญในประเด็น “คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสทุกคน” ลดหนี้ครัวเรือน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงงานที่มีคุณภาพ ยกระดับฝีมือแรงงาน แก้ความจนแบบมุ่งเป้า และส่งเสริมผู้ประกอบการ
- การแก้จนแบบมุ่งเป้า
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐมนตรีจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.)
โดยจะรวบรวมข้อมูลกลุ่มคนจนที่มีฐานรายได้ขั้นต่ำ ที่อาจจะมีอุปสรรคในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านรายได้ ด้านการประกอบอาชีพ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ตลอดจนการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหาที่ประชาชนพบเจอ
จากนั้นก็จะส่งทีมพี่เลี้ยง คือ คนในพื้นที่ เช่น เจ้าหน้าที่เกษตร เจ้าหน้าที่อนามัย ตลอดจนนักศึกษา ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านสอบถามว่าชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่อย่างไร มีทรัพยากรอย่างไร จากนั้นนำเอาข้อมูลที่ได้มาหาทางแก้ไขปัญหา โดยใน 1 ทีมจะมีสมาชิก 6 คน ซึ่งจะรับผิดชอบ 10-15 ครอบครัว
ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาความยากจนนั้น จะทำตั้งแต่ระดับอำเภอ มีวิธีการปัญหาได้แก่ การให้เงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ เพื่อทำให้ชาวบ้านสามารถเลี้ยงปากท้องของตนเองได้ เป็นต้น
“การแก้ไขปัญหาความยากจน ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงาน ที่ต้องลงไปพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนนั้น ๆ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน โดยใช้งบประมาณปี 2565” พลเอก อนุพงษ์ สรุป
- แผนการพัฒนาอุดมศึกษา
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อธิบายแผนการพัฒนาอุดมศึกษาไว้ว่า อุดมศึกษาจะต้องฝึกคนโดยเน้น ความเก่ง ความดี และที่สำคัญคือ จะต้องมีความสามารถ และทำงานกับคนอื่น ๆ ได้
เพื่อที่จะต่อยอดความสามารถกับการนำพาประเทศไปสู่ระดับสากล ซึ่งทาง อว. มีแผนพัฒนาอุดมศึกษาดังนี้
- การทำ MOU กับธุรกิจอุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศญี่ปุ่น โครงการผลิตวิศกรและนักวิทยาศาสตร์พันธุ์พิเศษ 2 หมื่นคนภายใน 1-3 ปี โดยจะเรียนรู้งานจากวิศวกรในประเทศญี่ปุ่น ศึกษางานจากทีมผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการวิศวกร มากกว่าการศึกษาเพียงแค่ในตำราเรียน และสามารถออกมาประกอบอาชีพวิศวกร ทำงานให้กับสังคมได้
- การเปิดหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University: CMU) ประเทศสหรัฐอเมริกา
- การร่วมมือกับประเทศจีน จัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาไทย-จีน เพื่อทำหลักสูตรอาชีวศึกษา พัฒนาอาจารย์และครูผู้สอนระดับอาชีวศึกษาในด้านภาษาจีนและอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี ยกระดับอาชีวะ 4.0
- หลักสูตรแบบนอกกรอบอย่างเร่งด่วน (Higher education Sandbox) ปรับเปลี่ยนวิธีการและรูปแบบการศึกษาอย่างไร้ข้อจำกัด เพื่อให้ทันต่อการปรับตัวอย่างรวดเร็วและความต้องการจากตลาดแรงงาน
- แนวทางช่วยผู้ประกอบการและแรงงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีแนวทางช่วยผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คือ "โครงการทำ Factory Sandbox ตรวจหาเชื้อโควิด-19" ดำเนินการคัดกรองด้วยการ Swab ในรูปแบบ RT-PCR 100 เปอร์เซ็นต์ ให้กับโรงงาน
โดยตรวจเชื้อโควิดและฉีดวัคซีนให้กับพนักงานทั้งหมด จากนั้นก็ทำเอกสารการันตีให้กับต่างประเทศว่า โรงงานแห่งนี้สามารถผลิตสินค้าส่งออกได้ทั้งปี
เพื่อสร้างสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้า พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่อไปได้
- ลดปัญหาหนี้ครัวเรือน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง อธิบายว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มักมาจากการที่ประชาชนไม่มีความสามารถในการจัดการบัญชีครัวเรือน ขาดความรู้ด้านการเงิน
ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการจัดทำวัคซีนด้านการเงิน เป็นแผนในการบริหารจัดการด้านการเงินสำหรับประชาชน รวมทั้งดูแลการออกนโยบายไม่ให้มีการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น แต่หากจะเป็นหนี้ก็ต้องเป็นหนี้ที่สามารถสร้างรายได้กลับมาให้ประชาชน
กระทรวงแรงงานมีการแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนร่วมกับธนาคารกลางแห่งประเทศไทย โดยจะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหนี้ต่าง ๆ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มหนี้กยศ 2. กลุ่มหนี้จากสหกรออมทรัพย์ครู 3. กลุ่มหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 4. กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ 5. กลุ่มหนี้นอกระบบ และ 6. กลุ่มลูกหนี้ทั่วไป โดยธนาคารและกระทรวงการคลังจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยและชะลอการชำระหนี้
นอกจากนี้ สิ่งที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการ คือ การจัดทำฐานข้อมูลในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้มีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อที่จะออกแบบนโยบายและดูแลแก้ปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก
และสิ่งที่จะดำเนินการอีกเรื่อง คือ การทำให้ครัวเรือนตระหนักถึงคามสำคัญในเรื่องการออม และรณรงค์เรื่อง “สมการครอบครัว” คือ รายได้-เงินออม = ค่าใช้จ่าย กล่าวคือ เมื่อมีรายได้แล้วจะต้องจัดสรรไว้เป็นเงินออมส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือจึงจะเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อให้เห็นความสำคัญของการออมเงิน มีไว้ใช้จ่ายในอนาคต
ทางธนาคารออมสินมีโครงการ "สร้างงาน สร้างอาชีพ" มีสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และอาชีพอิสระ เพื่อนำเงินไปลงทุน ส่วนฝั่งธนาคารเพื่อการเกษตร ก็จะนำเอานวัตกรรมทางด้านเกษตรมาช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุน ลดแรงงาน ลดเวลา ขณะเดียวกันก็สร้างกำไรให้มากขึ้นกว่าเดิม
“ครม. จะทำแผนพัฒนาทักษะการเงินอย่างครบถ้วนทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มอุดมศึกษา กลุ่มผู้มีงานทำ กลุ่มบุคลากรภาครัฐ กลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มประชาชนฐานราก และกลุ่มผู้สูงอายุ” นายพรชัย กล่าว
ทางด้านนายรณดล นุมนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ และช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกหนี้ ตลอดจนส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินเช่นเดียวกัน
ส่วนของเจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงิน ธปท. ก็มีการทำไกด์ไลน์ของการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) เป็นผู้ให้กู้ที่มีความรับผิดชอบต่อลูกหนี้ โดยสร้างความตระหนักถึงการก่อภาระหนี้ที่ไม่เกินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
“การทำนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนควรจะต้องให้สอดประสานกันของแต่ละหน่วยงาน ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศน์ของฐานข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำมาใช้กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด” นายรณดล กล่าว