ไบโอซายน์ ส่ง ‘ชุดตรวจโควิดทุเรียน’ รับนโยบาย Zero-Covid จีน
ไบโอซายน์ (BIS) จับมือภาครัฐ-เอกชน ช่วยเกษตรกรสร้างนวัตกรรม ‘ชุดตรวจโควิด-19 ในทุเรียน’ ตรวจหาเชื้อปนเปื้อนในบรรจุภัณฑ์และตู้คอนเทนเนอร์ ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยก่อนการส่งออก ตามนโยบาย Zero-Covid ของจีน
นสพ.ธนวัฒน์ คงเจริญสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บมจ. ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ (BIS)” ได้พัฒนานวัตกรรม “ชุดตรวจโควิด-19 แบบ Real Time PCR” เพื่อตรวจผลไม้สำคัญทางเศรษฐกิจ คือ ทุเรียน มะม่วง มังคุด อาหารส่งออก และสินค้าส่งออก ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ สามารถตรวจเชื้อโควิด-19 ในตู้คอนเทนเนอร์ กล่องแพคเก็จจิ้ง และพื้นผิวประเภทต่าง ๆ โดยชุดตรวจ Real Time PCR แบบ (Angentex® COVID-19 qPCR Detection Kit (with IC) ของบริษัทได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยา-กระทรวงสาธารณสุข เป็นรายแรกของไทย
และยังได้รับรางวัลชนะเลิศสาขาผลิตภัณฑ์ จาก The International Innovation Awards (IIA) 2021 มาต่อยอดในการสนับสนุนงานวิจัย “การประเมินความเสี่ยง SAR-CoV-2 และไวรัสก่อโรคที่ติดต่อผ่านอาหาร” ของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) และสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าไทยในระดับสากล
“ปีที่ผ่านมา BIS ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลิตชุดตรวจโควิด-19 แบบ Real Time PCR เป็นรายแรกของไทย โดยผลิตภัณฑ์ของ BIS ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข มีการใช้จริงในโรงพยาบาลและห้องแล็ปปฏิบัติการชั้นนำต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ด้วยคุณภาพสูง ได้มาตรฐาน ราคาคุ้มค่า ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมแก้ปัญหาการขาดแคลนชุดตรวจในประเทศได้เป็นอย่างดี”
ปัจจุบันโรคโควิด-19 ยังคงมีการแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้ยังคงมีการรายงานถึงเชื้อที่ปนเปื้อนไปกับอาหารและสินค้าต่าง ๆ ซึ่งการส่งออกสินค้าในระดับสากลหากมีการปนเปื้อนจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทันที
ขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของการส่งออกผลไม้ที่สำคัญของประเทศไทย ยังมีนโยบาย Zero Covid จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่เป็นช่วงฤดูกาลส่งออกผลไม้ของประเทศไทย อาทิ ทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีราคาสูง อีกทั้งยังเน่าเสียได้ง่าย
BIS ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็น จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจที่ขยายไปสู่การตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนในกระบวนการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนตู้คอนเทนเนอร์
นสพ.สุชาติ วรวุฒางกูร กรรมการ BIS กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัท โปร เทส คิท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย BIS ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม Angentex® COVID-19 qPCR Detection Kit (with IC) มาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีจุดเด่นเรื่องการตรวจโรคโควิด-19 ได้อย่างแม่นยำ ใช้งานได้สะดวกและรวดเร็ว สามารถตรวจจากตัวอย่างทั้งในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบัน BIS ได้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่สามารถนำมาตรวจในผลไม้และพื้นผิวของผลไม้ต่าง ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานให้กับสินค้า
ปัจจุบันการส่งออกสินค้าเกษตรถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญของการส่งออกของไทย BIS ได้ทำการผลิตชุดตรวจโควิดในทุเรียน ผลไม้ อาหารส่งออก บรรจุภัณฑ์และตู้คอนเทนเนอร์ โดยร่วมต่อยอดวิจัยเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับ สวก. สวพ. และสมาคมฯ ได้เป็นอย่างดี
BIS พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนด้านนวัตกรรมเพื่อนำไปตรวจการปนเปื้อนเชื้อทั้งในผลไม้ เนื้อสัตว์ รวมไปถึงอาหารแช่แข็งต่าง ๆ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้ส่งออกของประเทศไทย
อีกทั้งยังเป็นการควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักสากล อันจะนำมาสู่ชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับต้น ๆ ให้ประเทศไทยกลายเป็นครัวของโลกที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน
นอกจากผลิตภัณฑ์นวัตกรรม Angentex® COVID-19 qPCR Detection Kit (with IC) แล้ว BIS ยังคงมุ่งมั่นในการทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศ
อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ไบโอเท็ค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อไปยังจุดมุ่งหมายของการเตรียมก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านไบโอเท็คของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
ล่าสุด บริษัท BIS รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 พ.ศ. 2565 โดยมีรายได้รวม 540 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 429 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26% และมีกำไรสุทธิ 17 ล้านบาท เติบโต 47% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11.5 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก คือ 1. กลุ่มยาและวัคซีนสัตว์ (Animal Health) 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินสัตว์ (Nutrition) ซึ่งเติบโตสูง และ 3. กลุ่มชุดตรวจโรคสัตว์ (Diagnostic) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มรวมกันสร้างรายได้ 65% ของรายได้รวม
โดยเฉพาะชุดตรวจโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) มีการเติบโตของรายได้เติบโตสูงสุด เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการควบคุมการการแพร่กระจายของโรคนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์โดยตรง จึงมีความต้องการสูงจากกลุ่มฟาร์มสุกร นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์กลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ มีรายได้เติบโตสูงเช่นกัน