NIA ส่ง เสือติดดาบ ยกระดับผู้ประกอบการด้วยสิทธิประโยชน์

NIA ส่ง เสือติดดาบ ยกระดับผู้ประกอบการด้วยสิทธิประโยชน์

NIA จับมือ 15 เครือข่ายพันธมิตร เปิดตัวโครงการ “เสือติดดาบ” ติดอาวุธ 7 ด้านให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมไทย หวังยกระดับธุรกิจให้เติบโตในยุควิกฤต พร้อมรับสิทธิพิเศษจากเครือข่ายพันธมิตร

สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัวโครงการ “เสือติดดาบ” พร้อมลงนามความร่วมมือ “กลไกการส่งเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมเพิ่มเติมจากการสนับสนุนด้านการเงิน” กับหน่วยงานชั้นนำของประเทศทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และสมาคมธุรกิจ จำนวน 15 หน่วยงาน 

วัตถุประสงค์ของโครงการก็เพื่อสร้างเครื่องมือช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมผ่านการเข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานที่ปรึกษา/ผู้ให้บริการ โดยให้การสนับสนุนธุรกิจจำนวน 7 ด้าน

ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการและการขยายผลการเติบโตของนวัตกรรม เสมือนเป็นการติดอาวุธให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้นวัตกรรมสำหรับสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจเพื่อต่อสู้และปรับตัวต่อภัยคุกคามทางด้านเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน     

รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการ NIA กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องหาแนวทางการแก้ปัญหารูปแบบใหม่ ๆ เพื่อปรับตัวสอดรับกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ “นวัตกรรม” 

โดย NIA มีเป้าหมายที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมแบบเปิด ผ่านการเชื่อมโยงเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนและการเติบโตให้กับธุรกิจนวัตกรรม ดังนั้น NIA จึงได้พัฒนากลไกหรือเครื่องมือเพิ่มเติมจากการสนับสนุนด้านการเงิน (Non-Financial Support)  

"โครงการเสือติดดาบเป็นโครงการนำร่องที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการให้เข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์ของหน่วยงานผู้ให้บริการทั้ง 15 องค์กรพันธมิตรของ NIA ซึ่งมีบทบาทในฐานะหน่วยงานเชื่อมโยงเครือข่าย ในการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ (Focal Facilitator)"

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกต้องเผชิญกับ 3 ภัยคุกคามที่ใหญ่ ได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และการเกิดความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

ภัยคุกคามเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมที่ไม่มีแผนรองรับและต้องประสบกับความยากลำบากในการทำธุรกิจ

ธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น NIA จึงเปลี่ยนจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สู่ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม 

NIA ส่ง เสือติดดาบ ยกระดับผู้ประกอบการด้วยสิทธิประโยชน์

“เสือติดดาบ” หรือ “NIA X Alliance” เป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งด้านการผลิต การบริหารงานภายใน และการบริหารจัดการธุรกิจ ผ่านบริการและสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และสมาคมระดับแนวหน้าของประเทศ เป็นการเติมเต็มระบบนิเวศนวัตกรรม และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในการใช้นวัตกรรม 

ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม กล่าวว่า เสือติดดาบ เป็นกลไกการสนับสนุนรูปแบบใหม่ของ NIA ทำหน้าที่เป็นเชื่อมโยงผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมที่มีความสามารถเปรียบเสมือน “เสือ” ให้เกิดการลับเขี้ยวเล็บจากการใช้บริการ และสิทธิพิเศษจากองค์ความรู้และเครื่องมือสนับสนุนในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งเปรียบเสมือนการ “ติดดาบ” ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม 

เพื่อให้สามารถปรับตัวและมีความได้เปรียบต่อการแข่งขันในสถานการณ์ที่เปลี่ยนและมีความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 7 ด้านบริการ 

ได้แก่ กลุ่มการผลิต: 1) ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์/ โรงงานต้นแบบ (OEM) 2) ด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม กลุ่มการบริหารงานภายใน: 3) ด้านการเงินและการบัญชี 4) ด้านการบริหารจัดการธุรกิจนวัตกรรม (แผนธุรกิจ/การตลาด) กลุ่มการขยายผลการเติบโตของธุรกิจ: 5) ด้านกฎหมายธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญา 6) ด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และ 7) ด้านการค้าระหว่างประเทศ” 

ผู้ประกอบการนวัตกรรมจะได้เข้าถึงการบริการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การทดลองใช้บริการฟรี หรือได้รับส่วนลดในการใช้บริการของหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 15 หน่วยงาน ซึ่งได้แก่ หน่วยงานข้างต้นที่กล่าวไป

 

NIA ส่ง เสือติดดาบ ยกระดับผู้ประกอบการด้วยสิทธิประโยชน์

ทางด้าน นาขวัญ พงศ์พฤกษทล ผู้ประกอบการธุรกิจผลไม้อบแห้ง “Nana Fruit” ได้เข้าร่วมโครงการเสือติดดาบ และกล่าวว่า การมีโครงการเสือติดดาบทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถปรึกษากับองค์กรที่มีความเป็นมืออาชีพเรื่องการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้สะดวกมากขึ้นกว่าเดิม

นาขวัญเล่าอีกว่า ช่วงแรก ๆ ก่อนทำผลไม้อบแห้งมีปัญหาเรื่องจะทำอย่างไรให้ยืดอายุผลไม้ให้อยู่บนเชลฟ์ได้นาน (Shelf life) เรื่องของการออกแบบแพคเกจจิ้ง (Packaging Design) จึงติดต่อกับทาง ผศ.ดร. ยุทธนา พิมลศิริผล ผอ. ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มช. (FIN) เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา จนเกิดเป็น Nana Fruit ที่มียอดขายถล่มทลายอย่างในปัจจุบันนี้ 

“เราโยนโจทย์ไปให้ทางศูนย์ FIN เขาก็แก้โจทย์ของเราได้ เพราะบุคลากรในทีมมีความเป็นมืออาชีพและมีความเชี่ยวชาญ การที่เรามีพาร์ทเนอร์ที่ดีจะทำให้เราสามารถต่อยอดธุรกิจให้ก้าวหน้าทางการตลาดและเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น” นาขวัญ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร. ยุทธนา อธิบายว่า การมีเสือติดดาบทำให้ผู้ประกอบการได้เจอกับพาร์ทเนอร์อย่างองค์กรศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมีกระบวนการผลิตซึ่งเลือกใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมตามศักยภาพของผู้ผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ พันธมิตร 15 หน่วยงาน ได้แก่ 1) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่  2) ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) 3) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 4) บริษัท ยูไอซี เซอร์ติฟิเคชั่น เซอร์วิสเซส (UIC Certification) 5) บริษัท แอ็คเคาท์ติ้ง ทรานส์ฟอร์เมชั่นส์ (ACCREVO) 6) บริษัท เยสยูแคน (YES YOU CAN) 7) บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป (BUILK ONE GROUP) 

8) บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ (Baker McKenzie) 9) สำนักงานที่ปรึกษาทรัพย์สินทางปัญญา (IP CO) 10) บริษัท ทีวี ไดเร็ค (TV Direct) 11) บริษัท ฟาสต์ชิป (FASTSHIP) 12) บริษัท จันวาณิชย์ (CHANWANICH) 13) ศูนย์สร้างโอกาสธุรกิจไทยสู่จีน (TSTC) 14) บริษัท อีทัช (eTouch) และ 15) สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA)

NIA ส่ง เสือติดดาบ ยกระดับผู้ประกอบการด้วยสิทธิประโยชน์

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวถึงบทบาทของ วว. ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวว่า จะมอบข้อเสนอสิทธิพิเศษสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรมเครือข่ายของ NIA ภายใต้ความร่วมมือนี้ ได้แก่  ค่าบริการศึกษาอายุการเก็บรักษา อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ผลผลิตทางการเกษตร ในบรรจุภัณฑ์  พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา  บริการวิจัยและการพัฒนาสูตรแพ็คเกจเริ่มต้น   

บริการผลิตเครื่องสำอางรูปแบบต่างๆ การทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดและเครื่องสำอาง  อาทิ   ผิวขาว กระจ่างใส    รักษาแผลเป็น    ปกป้องมลภาวะ ต้านอักเสบ   กระตุ้นการงอก ลดการหลุดร่วงของเส้นผม   ทำให้ผมดำ   ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด    ผิวกระชับ ลดเซลลูไลท์   และการประเมินความปลอดภัย เป็นต้น.