บุกอาณาจักร วิจัย ‘ธอมัส เจ วัตสัน’ ใน นิวยอร์ก เปิดโลกเอไอยักษ์ฟ้า ‘ไอบีเอ็ม’
"กรุงเทพธุรกิจ" พาไปชม "เบื้องหลัง" เทคโนโลยีที่เข้ามาพลิกโฉมโลกธุรกิจ การใช้ชีวิต แหล่งกำเนิดของเทคโนโลยี "เอไอ" ระดับโลกของไอบีเอ็ม ที่ศูนย์วิจัย ‘ธอมัส เจ วัตสัน’ ในนิวยอร์ก !!!
หากพูดถึงยักษ์เทคโนโลยีระดับโลกอย่าง “ไอบีเอ็ม” คงไม่มีใครสงสัยในความสามารถหรือศักยภาพที่นำความสำเร็จมาสู่ธุรกิจ ทว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จนั้นยังอีกยาวไกล ระหว่างทางยังต้องใช้ความตั้งใจ ใส่ใจในทุกกระบวนการ...
เบื้องหลังเทคโนโลยีที่เข้ามาพลิกโฉมโลกธุรกิจ ศูนย์วิจัยธอมัส เจ วัตสัน (Thomas J. Watson Research Center) ที่ยอร์คทาวน์ รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา คือ แหล่งกำเนิดของเทคโนโลยีเอไอระดับโลกของไอบีเอ็มนับตั้งแต่ IBM Deep Blue คอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่เอาชนะแชมป์หมากรุกโลก IBM Watson ที่เป็นแชมป์ในรายการ Jeopardy! รวมถึง Project Debater ระบบเอไอแรกของโลกที่สามารถอภิปรายสดกับคนได้ ก้าวย่างสำคัญที่ผสานความสามารถหลายด้านของเอไอ ตั้งแต่การฟัง เข้าใจ การวิเคราะห์ประเด็นยาวๆ การสร้างและจัดระเบียบเนื้อหาในหัวข้อนั้นๆ ไปจนถึงการโต้ตอบเป็นภาษามนุษย์
วันนี้ IBM Watson คือเทคโนโลยีหลักที่อยู่เบื้องหลังโซลูชันเอไอเกือบทั้งหมดของไอบีเอ็ม โดยเสธ ดอบริน Chief AI Officer ของไอบีเอ็ม เล่าให้ฟังว่า จากการศึกษา Global AI adoption ล่าสุด องค์กร 35% ทั่วโลกเริ่มนำเอไอมาใช้ในธุรกิจแล้ว ตัวเลขดังกล่าวนับว่าสูงกว่าผลสำรวจปีที่แล้วที่มีองค์กรเพียง 13% ที่คาดว่าจะนำเอไอมาใช้ มากกว่านั้นองค์กร 42% ยังระบุว่ากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเอไอมาใช้
เปิดทางประมวลผลเรียลไทม์
เสธเล่าว่า เอไอของไอบีเอ็ม มีจุดยืนชัดเจนในการเป็นเอไอสำหรับธุรกิจ (AI for Business) ซึ่งองค์กรจำนวนมากเริ่มใช้เอไอในมุมออโตเมชัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการธุรกิจต่างๆ หรือใช้เอไอในการทำให้งานปฏิบัติการด้านไอทีเป็นไปโดยอัตโนมัติ
โดยเทคโนโลยี AIOps นี้ จะใช้เอไอในการเรียนรู้และตรวจสอบ-คาดการณ์เหตุผิดปกติจากข้อมูลอุปกรณ์และระบบทั้งหมด พร้อมแจ้งเตือนอัตโนมัติและแนะนำแนวทางแก้ปัญหาทีละขั้นตอน
เมื่อรู้ล่วงหน้าก็ย่อมลดโอกาสที่ระบบจะล่ม ที่ผ่านมา AIOps สามารถลดเวลาในการหาต้นตอของปัญหาลงได้ 60% และลดเวลาในการแก้ปัญหาลงได้ถึง 65%
นอกจากนี้ สามารถคาดหวังสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5จี ที่จะทำให้เอไอสามารถประมวลผลข้อมูลด้านการผลิต รวมไปถึงตรวจสอบข้อมูลการรั่วไหล ความเปลี่ยนแปลงบนซัพพลายเชนได้แบบเรียลไทม์ผ่านเอดจ์คอมพิวติง
'เอไอ’ กุญแจสู่ความยั่งยืน
ขณะที่ ในอีกด้านที่มีแนวโน้มการนำเอไอมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ “การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environment, Social, และ Governance : ESG)" เพราะวันนี้องค์กรต่างได้รับแรงกดดันทั้งจากหน่วยงานที่กำกับดูแล นักลงทุน และผู้บริโภค ในแง่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างจริงจัง โปร่งใส และตรวจสอบได้
ที่ผ่านมา การจัดทำรายงานเกี่ยวกับโครงการด้านความยั่งยืน มีข้อมูลจำนวนมากและหลายประเภทที่องค์กรจำเป็นต้องวิเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้ยังกระจัดกระจาย และไม่เอื้อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าถึงได้ง่ายนัก ทั้งยังมีความท้าทายเรื่องมาตรฐานและกฏข้อบังคับหลากหลายที่ต้องปฏิบัติตาม
วันนี้ไอบีเอ็มได้นำพลังของเอไอ มาช่วยให้องค์กรสามารถวิเคราะห์ บริหารจัดการ และรายงานเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ
พร้อมวิเคราะห์โอกาสและประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ขณะเดียวกันให้มุมมองด้านความยั่งยืนที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำไปปรับเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร
อีกประเด็นที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างระบบเอไอที่เชื่อถือได้ (Trustworthy AI) โดย ศรีราม รากาวาน รองประธาน ศูนย์วิจัยเอไอของไอบีเอ็ม เล่าว่า วันนี้ไอบีเอ็มได้กำหนด Principles for Trust and Transparency สำหรับการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้
จุดสำคัญคือ ระบบเอไอต้องโปร่งใส ต้องอธิบายที่มาของการตัดสินใจของระบบได้ และต้องมีแนวทางการบรรเทาผลเสียอันอาจเกิดขึ้นจากอคติที่รุนแรงและไม่เหมาะสมของระบบ
ยึดหลักจริยธรรม-ไม่มีอคติ
นักวิจัยของไอบีเอ็ม ได้พัฒนาแนวทางและเครื่องมือในการต่อกรกับปัญหาความน่าเชื่อถือของเอไอมาอย่างต่อเนื่อง ที่ให้ความสำคัญอย่างมากคือ โมเดลเอไอต้องดำเนินการตัดสินใจภายใต้หลักจริยธรรม โดยปราศจากการแทรกแซงจากมนุษย์
ขณะที่ ในมุมความเป็นส่วนตัวของข้อมูลต้องมั่นใจได้ว่าข้อมูลและมุมมองเชิงลึกที่ได้รับการวิเคราะห์จากข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นของผู้สร้างข้อมูลนั้นๆ ไม่ใช่เวนเดอร์ผู้ให้บริการเทคโนโลยี
ศรีรามบอกด้วยว่า สิ่งที่ไอบีเอ็มกำลังพยายามพัฒนาอยู่คือ การพัฒนาโมเดลพื้นฐานของเอไอที่จะสามารถออโตเมทเอไอหรือนำไปใช้ซ้ำกับภาระงานต่างๆ หรือแม้แต่ในมุมการวิเคราะห์โมเดลทางเคมีได้