ปรากฏการณ์ ‘ลาออกครั้งใหญ่’ กระทบหนัก ‘เอสเอ็มอีไทย’

ปรากฏการณ์ ‘ลาออกครั้งใหญ่’ กระทบหนัก ‘เอสเอ็มอีไทย’

เอสเอพี เปิดผลการศึกษาล่าสุด พบ กว่า 98% ของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย กำลังเผชิญกับความผันผวนของกำลังคน อันเกิดจากปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ หรือ The Great Resignation

เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลโดยตรงต่อแผนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของพวกเขา ซึ่ง 80% ของเอสเอ็มอีไทยมองว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดขององค์กรในปีหน้า

จากการสำรวจกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีภายใต้หัวข้อ “Transformational Talent: The impact of the Great Resignation on Digital Transformation in APJ’s SMEs” ซึ่งทางเอสเอพีมอบหมายให้บริษัท Dynata ทำการสำรวจความคิดเห็นเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูงจำนวน 1,363 ราย จาก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทย จำนวน 207 ราย

อุปสรรคใหญ่เส้นทางดิจิทัล

ข้อมูลบ่งชี้ว่า The Great Resignation คือ ตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของเอสเอ็มอีไทย ขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากการสถานการณ์โควิด ธุรกิจต่างๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหนึ่งประการ นั่นคือ “การลาออกระลอกใหญ่ หรือ The Great Resignation” ที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2564 โดยวลีนี้สะท้อนถึงแนวโน้มของพนักงานหลายล้านคนทั่วโลกที่ทยอยลาออกจากงานเป็นจำนวนมาก

ผลการศึกษาของ เอสเอพี ชี้ให้เห็นว่า The Great Resignation กำลังส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 47% ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีพนักงานลาออกมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว ขณะที่กว่า 67% มองว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะรับมือกับผลกระทบของการลาออกครั้งใหญ่ของพนักงาน

ปรากฏการณ์นี้จึงลดทอนความสามารถขององค์กรในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปสู่วิถีดิจิทัล รวมถึงปัจจัยด้านการขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะและการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานโซลูชั่นดิจิทัลที่มีอยู่ 

ทั้งยังจัดเป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ในการบรรลุเป้าหมายของการปรับตัวทางธุรกิจสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีในประเทศไทย เพิ่มเติมจากความท้าทายเดิมที่บริษัทต้องจัดการ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์, การขาดงบประมาณ เป็นต้น

แนะลงทุน ‘บุคลากร’

เอทูล ทูลิ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี อินโดไชน่า กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้เผยให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ The Great Resignation ได้สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อหลายองค์กร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี

ที่ไม่ใช่แค่เพียงเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวและนำมาซึ่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการเติบโตในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากบริษัทขาดคนทำงานที่ใช่ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ล้วนหยุดชะงัก ฉะนั้น กลุ่มเอสเอ็มอีในประเทศไทยจะอยู่รอดและเดินหน้าต่อไปได้ จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านบุคลากรให้สอดคล้องกับการลงทุนด้านนวัตกรรม

เขาแนะว่า การลดปัญหาต้องลงทุนใน “บุคลากร” และ “การฝึกอบรม” ปัจจุบัน กลุ่มเอสเอ็มอีได้เร่งเครื่องลงทุนในบุคลากร เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการลาออกระลอกใหญ่ และเสริมศักยภาพให้บุคลากรก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

โดยลงความเห็นว่า พวกเขากำลังวางแผนลงทุนในปัจจัยต่างๆ ทั้งการเพิ่มทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Literacy ให้แก่พนักงาน คิดเป็น 39% เพื่อรักษาบุคลากรให้ทำงานกับบริษัทต่อไปในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงาน

หวังได้ค่าตอบแทนเหมาะสม

ผู้ตอบแบบสอบถามย้ำชัดว่า 12 เดือนหลังจากนี้ จะมีการปรับปรุงเรื่องค่าตอบแทน และ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น โดยเอสเอ็มอีไทย มากกว่าเจ็ดในสิบ หรือ 71% กล่าวว่า การเพิ่มทักษะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่งผลให้ 77% ของกลุ่มเอสเอ็มอีตั้งเป้ามุ่งเน้นไปที่การฝึกอบรมด้านดิจิทัลให้แก่พนักงานตลอดทั้งปีนี้

ที่ผ่านมา The Great Resignation มักถูกตีความว่าพนักงานส่วนใหญ่ลาออกเพื่อไปเดินตามเส้นทางที่พวกเขาวางแผนไว้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด แท้จริงแล้ว บุคลากรล้วนต้องการค่าตอบแทนที่เหมาะสม รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการทำงาน และภาพความก้าวหน้าในองค์กรที่ชัดเจน

“การให้ความสำคัญเรื่องการเพิ่มทักษะและความก้าวหน้าในอาชีพ พร้อมสนับสนุนด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีและมีพาร์ทเนอร์ที่เหมาะสม จึงเป็นแนวคิดแบบ win-win ระหว่างพนักงานและตัวผู้ประกอบการเอสเอ็มอี”