อว.เปิดลงทะเบียน “U2T for BCG” รับบัณฑิตจบใหม่-ปชช. 7 หมื่นคน เริ่ม 17 มิ.ย. นี้
17 มิ.ย. นี้ อว. เปิดลงทะเบียนออนไลน์ โครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG” จ้างงานบัณฑิตจบใหม่และประชาชน 68,350 คน ครอบคลุม 77 จังหวัด เริ่มทำงาน 1 ก.ค. วงเงิน 3,566.28 ล้านบาท
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบนโยบาย “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development)” หรือโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG”
โดยจะเปิดรับบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ 7,435 ตำบล 77 จังหวัด กว่า 68,350 คน ที่ต้องการร่วมงานเป็นทีมเดียวกับ อว. ซึ่งจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยรัฐ 70 กว่าแห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 20 แห่ง ตลอดจนภาคประชาสังคม หน่วยงานในพื้นที่ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนโครงการ U2T for BCG เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
“โครงการในเฟส 1 เราได้ลงพื้นที่ต่างจังหวัด 3,000 ตำบล และในเฟสที่ 2 เราลงพื้นที่ 7,000 ทั้งต่างจังหวัดและเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อนหน้านี้อว.ได้ทำงานกับบางพื้นที่ในเขตชุมชนกทม. จนสำเร็จไปแล้วบางส่วน ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนตลิ่งชัน จึงไม่ได้เป็นปัญหาถ้าเราจะขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกเขตมากยิ่งขึ้น”
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2562 และมีงบประมาน 3,566.28 ล้านบาท ทางอว. จึงได้จัดดำเนินการในระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. - ก.ย. 65 โดยจะโฟกัสประเด็น BCG เป็นหลัก
เพราะเป็นวาระสำคัญของประเทศไทยที่จะเชื่อมโยงไปถึงการประชุมเอเปค (APEC) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย. ถือเป็นโอกาสสำคัญในรอบ 20 ปี ที่อว. จะนำผลงาน U2T for BCG จัดแสดงให้กับผู้นำแต่ละประเทศได้เห็นถึงโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดล BCG
โมเดลดังกล่าว จะเป็นโมเดลต้นแบบให้แต่ละประเทศสามารถนำไปปรับใช้กับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้น ๆ โดยมีประเทศที่จะเข้าร่วมได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลีย และแคนาดา เป็นต้น
ดังนั้น 3 เดือนจากนี้เป็นต้นไป โครงการ U2T for BCG ต้องทำให้มาก ให้ดี ให้เร็วและประหยัด และจะไม่ทำซ้ำกับโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) ที่สำคัญ U2T for BCG จะทำให้ผู้ร่วมโครงการกลายเป็นคนที่สามารถ ซึ่งเกิดจากการทำงานกับผู้คนและสังคม ทำให้ได้ทั้งวิชางาน วิชาชีวิต เปลี่ยนความเก่งและดีที่มีอยู่ให้กลายเป็นความสามารถให้ได้
ด้าน นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. อธิบายแนวทางการดำเนินงานว่า สำหรับผู้ที่สนใจ ให้กรอกข้อมูลผ่านระบบกลางออนไลน์ของ อว. แล้วจะเชื่อมโยงข้อมูลให้มหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบแต่ละตำบลเป็นผู้คัดเลือก หลังจากนั้นจะแบ่งการลงพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ 3 พันตำบลเดิม จำนวนตำบลละ 8 คน
ขณะนี้ได้ดำเนินการให้ทางมหาวิทยาลัยจัดเตรียมพื้นที่และประชาสัมพันธ์ เพื่อที่จะรับคนเข้ามาในเฟสที่ 2 จำนวนพื้นที่ 4,435 ตำบลใหม่ ตำบลละ 10 คน ทำหน้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของชุมชน
โดยจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและบริการ การส่งเสริมการขยายและการตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูง การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ การขนส่งและกระจายสินค้า ทั้งนี้ คาดว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของชุมชนที่ได้มาตรฐานและได้ออกสู่ตลาด มียอดขายเพิ่มขึ้นหรือการบริโภคเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
“โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T ได้รับความชื่นชมจากทุกภาคส่วน ไม่เพียงเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ ซึ่งขณะนี้จะมุ่งเน้นด้าน BCG ในพื้นที่ แต่ยังเป็นการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG ด้วย” ปลัด อว. กล่าว
อว. จะเปิดให้บัณฑิตและประชาชนในพื้นที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ U2T for BCG ผ่านทางเว็บไซต์ u2t.ac.th ในวันที่ 17 มิ.ย นี้ ก่อนที่จะมีการกระจายกำลังลงไปทำงานในทุกตำบล.