U2T ศศินทร์ส่ง 3 โครงการฟื้นฟูชุมชน ยกระดับบริการการท่องเที่ยว
ศศินทร์ดำเนิน 3 โครงการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG ส่งงานวิจัยและนวัตกรรมช่วยเหลือชุมชน ฟื้นฟูตำบล พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมใน กรุงเทพฯ ยโสธร ปัตตานี อย่างยั่งยืน
Sasin School of Management (สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) จัดสัมมนางานวิจัย “Sasin Research Seminar Series” เป็นประจำทุกๆ สองสัปดาห์ เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “U2T: University to Tambon, Integrated Sub-district Economic and Social Upgrading Project”
ผศ.ดร.ยุพิน ภัทรพงศ์สันต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ซึ่งเป็นประธานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) เป็นผู้บรรยาย
ผศ.ดร.ยุพิน กล่าวถึงโครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบลว่าเป็นโครงการริเริ่มอย่างต่อเนื่องเมื่อต้นปี 2564 เริ่มจากภาพรวมของโครงการและเน้นไปที่การพัฒนาพื้นที่แบบครบวงจรสำหรับชุมชน
กิจกรรมเหล่านี้นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ 1 ไม่มีความยากจน ข้อที่ 8 เรื่องการมีงานทำและความเจริญของเศรษฐกิจ ข้อที่ 10 ลดความไม่เท่าเทียมกัน และข้อที่ 12 เรื่องการบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ
ผศ.ดร.ยุพิน ได้แนะนำความคิดริเริ่มจากทั่วโลกทางการตลาดที่ชื่อว่า‘Better Marketing for a Better World’ (BMBW) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางการตลาดในการพัฒนาชีวิตและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนบนบริบทของการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน
สำหรับโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บัณฑิตใหม่หลายคนตกงานและย้ายกลับไปบ้านเกิด U2T มีจำนวน 3,000 โครงการทั่วประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาแต่ละโครงการในพื้นที่ จะจ้างบัณฑิตจบใหม่จำนวนสิบคน คนในท้องถิ่นไม่มีงานทำจำนวนห้าคน และนักศึกษาระดับปริญญาตรีอีกจำนวนห้าคน
เพื่อทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาของชุมชนโดยใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีอยู่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการบรรเทาปัญหาความยากจน
ผศ.ดร.ยุพินได้แนะนำ 3 โครงการที่อาจารย์ได้ทำงานด้วยในปี 2564 ที่ผ่านมาตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงบางลำพูล่าง คลองสาน กรุงเทพมหานคร พื้นที่ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร และพื้นที่ตำบลราตาปันยัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
โดยได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือชุมชนฟื้นฟูตำบล ยกระดับบริการการท่องเที่ยว สำรวจหาแหล่งรายได้อื่นๆ และทีมงานหลักอาศัยอยู่ในพื้นที่ ต้นแบบการพัฒนาจากโครงการนี้ถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในพิธีเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในปี 2564
ผศ.ดร.ยุพิน อธิบายเกี่ยวกับปัญหา แนวทางแก้ไข พันธมิตร กิจกรรม ทรัพยากร ช่องทางการสื่อสาร แหล่งรายได้ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ได้แก่ รัฐบาล ศศินทร์ ชุมชนท้องถิ่น และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสนใจและรายได้ให้กับตำบล โดยส่งเสริมสิ่งต่างๆ
เช่น โครงการในพื้นที่ U2T แขวงบางลำภูล่าง นั้นตั้งอยู่ตรงข้ามเอเชียทีค ติดกับไอคอนสยาม ในชุมชนเมืองเก่าธนบุรี ในกรุงเทพมหานคร มีวัดและตลาดเช้าที่มีมานานกว่า 200 ปี ซึ่งเป็นที่รู้จักในพื้นที่ มีการแสดงพื้นบ้านกระตั้วแทงเสือซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
โครงการนี้เน้นในเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ชุมชนโบราณในโลกสมัยใหม่ การสร้างสตรีทอาร์ตโดยฝีมือของเยาวชน การทำแผนการท่องเที่ยวสายมู การท่องเที่ยวสายกิน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชน การนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยี และแอพพลิเคชั่นต่างๆ การสร้างช่องทางการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ยูทูป อินสตาร์แกรม ติ๊กต๊อก เป็นต้น
โครงการต่อไปที่ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ยังไม่เป็นที่รู้จักและได้รับการส่งเสริมให้เป็นจังหวัดรอง สำหรับโครงการนี้ ทีมงานได้ทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาพื้นที่หนองอึ่งตามพระราชดำริ
อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นที่ซึ่งเป็นเกษตรกรรมของโครงการหลวง ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น เห็ดป่าภายใต้แบรนด์วนาทิพย์ อาจารย์และทีมงานร่วมกันปรับปรุงบรรจุภัณฑ์และหาช่องทางการจัดจำหน่าย พร้อมทั้งนำแอปพลิเคชั่นการเกษตรที่เรียกว่า Ricult (รีคิวท์) มาใช้งานในการลงพื้นที่เพื่อช่วยในการปลูกทางการเกษตร
ทีมงานช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้กับกลุ่มแม่บ้านและชาวนาซึ่งทอผ้าไหมกับผ้าฝ้ายพื้นเมือง นอกจากนี้ทีมงานได้จัดทำแผนที่การท่องเที่ยวชุมชน สร้างเนื้อหาในโซเชียลมีเดียและช่องยูทูป เพื่อเผยแพร่ข้อมูลชุมชนนี้
โครงการสุดท้ายตั้งอยู่ที่ ตำบลราตาปันยัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในจังหวัดชายแดนทางใต้ของไทยซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม โครงการนี้เกี่ยวข้องกับการริเริ่มทางการเกษตรมากมาย ซึ่งจะช่วยให้ชาวบ้านพัฒนาทักษะและผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่ และยังช่วยให้แน่ใจว่าชาวบ้านมีความพร้อมที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดจากโควิด-19
เช่น หน้ากาก สเปรย์แอลกอฮอล์ และยารักษาโรค ปัญหาหลักบางประการที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญเกี่ยวกับการระบาดใหญ่นี้ และโครงการที่กำลังดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ ทีมงานยังได้แบ่งปันความรู้ทางการตลาดเพื่อช่วยในการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น เช่น น้ำตาลปี๊บ เห็ดนางฟ้า และมันเทศญี่ปุ่นสีม่วง
ท้ายสุดเป็นประเด็นภาพรวมของทีมงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคสามารถช่วยอะไรได้บ้าง โครงการจะดำเนินได้ด้วยตัวเองอย่างไร รวมทั้งความช่วยเหลือจากทางภาครัฐฯ โครงการของ U2T มีต่อเนื่องในครึ่งหลังของปี 2565 ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCGs– Bioeconomy, Circular Economy, and Green Economy)
โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย นำเอาบัณฑิตที่พึ่งจบการศึกษาและประชาชนในพื้นที่มาร่วมดำเนินงานพัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นทักษะต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งขยายผลของฐานข้อมูล Thailand Community Big Data (TCD) เป็นตัวอย่างในการนำเสนอการขับเคลื่อน BCG ของประเทศไทยในการประชุมเอเปคปลายปีนี้ต่อไป.
“Sasin Research Seminar Series” จัดขึ้นศุกร์เว้นศุกร์ เวลา12:00 -13:00 น. ผ่านทาง Zoom ผู้สนใจเข้าร่วมฟังงานวิจัยต่างๆที่น่าสนใจ สามารถติดตามหัวข้อการสัมมนาและลงทะเบียนเข้าฟัง ได้ที่ www.sasin.edu หรือ Facebook เพจ Sasin School of Management