"ดีอีเอส" ล้อมคอกจัดระเบียบสาย เล็งนัด "ชัชชาติ" เคลียร์ 4 ก.ค.นี้
นัดจับเข่าคุยผู้ว่าฯ กทม.4 ก.ค.นี้ พร้อมนับหนึ่งใหม่โครงการท่อร้อยสาย รับปากจัดสรรงบประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นเจ้าภาพทำท่อร้อยสายทั่ว กทม. ช่วยลดต้นทุนเอกชน คาดนำสายสื่อสารลงดินเสร็จภายใน 4 ปี
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันที่ 4 ก.ค.2565 ตนเองและบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที นัดหารือกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เรื่อง การบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ที่เป็นปัญหาค้างคามานาน
เนื่องจากก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร ให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินโครงการสร้างท่อร้อยสายใหม่ เพื่อนำสายสื่อสารลงใต้ดิน แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการลงทุนสูง จากที่ทราบเบื้องต้นนั้น การทำโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินต้องใช้งบประมาณ 20,000 ล้านบาท ทำให้ค่าเช่าราคาแพง
ดังนั้น รัฐบาลรับปากว่าจะจัดสรรงบประมาณให้เพื่อลดต้นทุนในส่วนนี้ให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) คาดว่าหากเจรจากันสำเร็จจะเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ โดยมอบหมายให้เอ็นทีเป็นผู้ดำเนินโครงการ เพราะเอ็นทีเป็นหน่วยงานรัฐ คาดว่าจะสามารถทำโครงการเสร็จภายใน 3-4 ปี
"เราจะพยายามหางบประมาณให้ได้ อาจจะมาจาก กสทช.ซึ่งผมกำลังนัดคุยกับคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่อยู่ หรืออาจจะมาจากกองทุนดีอีเอส นอกจากเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ค่าเช่าก็ต้องไม่แพง หรือสามารถลดหย่อนเงินยูโซ่ได้ "
ปัญหาจัดระเบียบสายสื่อสาร หากพื้นที่ไหนยังไม่สามารถนำสายลงใต้ดินได้ เราก็มีโครงการจัดระเบียบสาย ด้วยการตัดสายเก่าทิ้ง และเดินสายสื่อสารใหม่ ซึ่งโครงการจะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีไอเอสพีเป็นสมาชิก และกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบสายพร้อมกัน
สำหรับนโยบายการจัดระเบียบสายสื่อสารของภาครัฐ ตั้งเป้าปี 2565 ให้มีการดำเนินการในโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นในตามถนนสายหลัก โดยเฉพาะย่านธุรกิจ และขยายสู่พื้นที่รอบนอกต่อไป โดยในปี 2565 นี้ ได้เริ่มดำเนินการในกลุ่มเร่งด่วนพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร กระทรวงดีอีเอสได้มอบหมายให้เอ็นที ดำเนินการในโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร บริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามแนวถนนสายหลัก
บริเวณย่านธุรกิจและสถานที่สำคัญ ซึ่งเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณพื้นที่เขตวัฒนา บริเวณถนนสุขุมวิท 71 บริเวณปากซอยปรีดี พนมยงค์ 31 - ซอยเอกมัย 12 - ปากซอยทองหล่อ 10 ไปแล้ว
พร้อมกันนี้ ในช่วงเช้า นายชัยวุฒิ ได้ลงพื้นที่ ถ.สุขุมวิท ติดตามให้นโยบายการจัดระเบียบสายสื่อสารของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที และของผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นๆ พร้อมด้วย นางสมจิตต์ ธีระชุติกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานขายและปฏิบัติการลูกค้า 2 เอ็นที ตรวจสภาพความเรียบร้อยสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพชั้นใน บริเวณ ถนนสุขุมวิท 36 บริเวณด้านหน้าอาคารชุดและแหล่งสัญจรหนาแน่น เพื่อช่วยปรับทัศนียภาพให้สวยงามมีความปลอดภัย
ภายใต้การใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure Sharing) เพื่อสนองตอบต่อนโยบายการจัดระเบียบสายสื่อสารของภาครัฐ ตั้งเป้าปี 2565 ให้มีการดำเนินการในโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นในตามถนนสายหลัก โดยเฉพาะย่านธุรกิจและขยาย
สู่พื้นที่รอบนอกต่อไป
นางสมจิตต์ ธีระชุติกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานขาย และปฏิบัติการลูกค้า 2 เอ็นที กล่าวว่า เอ็นที พร้อมที่จะดำเนินการตามแนวนโยบายของกระทรวงดีอีเอสมาโดยตลอด ในการดำเนินการเพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศภาพรวม
โดย เอ็นที กฟน. ร่วมกับผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนบูรณาการจัดระเบียบสายสื่อสารในเส้นทางหลัก และเส้นทางวิกฤติทั้งในกรุงเทพมหานคร จำนวน 39 เส้นทาง รวมระยะทางทั้งหมด 104.83 กิโลเมตร โดยเส้นทางซอยสุขุมวิท 36 (สุขุมวิท-พระราม 4) เป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่น
จัดอยู่ในกลุ่มเร่งด่วน มีระยะทางดำเนินการ 3 กิโลเมตร รูปแบบการจัดระเบียบสายสื่อที่ใช้ในเส้นทาง ซอยสุขุมวิท 36 เป็นแบบแขวนอากาศ โดยรื้อถอนสายที่ขาดหรือไม่ใช้งาน และจัดเก็บแบบมัดรวบสาย ปรับปรุงลดจำนวนสายสื่อสาร และเปลี่ยนสายสื่อสารทองแดงเป็นแบบชนิดไฟเบอร์ออฟติกพร้อมติดตั้งตามมาตรฐานที่กำหนด