นักวิทย์ฯ ไต่ผนังถ้ำพังงา สำรวจภาพเขียนสีโบราณ 3,000 ปี
นักวิทย์ฯ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ใช้เครื่องมือตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์สำรวจภาพเขียนสีแดงอิฐที่มีอายุ 3,000 ปี บริเวณถ้ำพังงา จ.พังงา เพื่ออธิบายสภาพสังคมและการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อน-หลังประวัติศาสตร์
นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผนึกกำลังกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมศิลปากร กรมทรัพยากรธรณี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกสำรวจภาพเขียนสีโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 2,000-3,000 ปี พร้อมเครื่องมือตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์
การสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงธรณีสัณฐาน อธิบายสภาพสังคม และการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อน-หลังประวัติศาสตร์ บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
คณะได้ออกพื้นที่สำรวจภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ตามเกาะต่าง ๆ ของอ่าวพังงา ได้แก่
- เกาะไข่
- เกาะสะวังใหญ่
- เขาพระอาดเฒ่า
- เขาทะลุนอก
- ถ้ำนาค
- เกาะยางแดง
- เกาะเขาเต่า
- เขาพัง
- เกาะปันหยี
- เขาเขียน
ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เนื่องจากพื้นที่ในการสำรวจหลายแห่งยังไม่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว และตามกฎหมายไม่สามารถเก็บตัวอย่างภาพเขียนโบราณนี้ออกจากพื้นที่ เพื่อไปทดสอบได้ เราจึงนำเครื่องมือพกพาที่สามารถวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุในภาพเขียน ไปวิเคราะห์ภาพเขียนสีในสถานที่จริง โดยจ่อเครื่องมือไปที่ภาพเขียนแล้วเครื่องจากประมวลผลออกมา
ข้อมูลที่ได้จะช่วยบ่งชี้ในเบื้องต้นเกี่ยวกับองค์ประกอบของสีที่ใช้วาดภาพ ภาพเขียนสียุคโบราณตามเกาะต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีสีแดงอิฐและพบภาพสีดำจำนวนหนึ่ง ซึ่งผลวิเคราะห์จากเครื่องมือพกพาเบื้องต้นพบว่า มีเหล็กเป็นองค์ประกอบหลัก และสันนิษฐานว่ามนุษย์โบราณใช้หินสีแดง ซึ่งเป็นหินที่แทรกตามผนังหินปูนที่พบได้ในพื้นที่ เป็นเครื่องมือในการวาด โดยจากการศึกษาทางธรณีวิทยาพบว่า ภาพเขียนสีโบราณนี้อยู่ในพื้นที่ภูเขาหินปูน
ทางด้าน ภาสกร ปนานนท์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงธรณีสัณฐานและภาพเขียนสีอ่าวพังงาฯ กล่าวว่า กรมศิลปากรได้มีการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์และสังคมของแหล่งภาพเขียนสีมาอย่างต่อเนื่อง การศึกษาเพิ่มเติมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโครงการวิจัยนี้จะช่วยไขปริศนาของภาพเขียนสีโบราณนี้ได้กระจ่างขึ้น
เช่น ภาพเขียนสีโบราณนี้อายุเท่าไร ใช้วัสดุจากที่ไหนมาทำสีเขียนภาพ หรือเขียนด้วยคนกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ธรณีสัณฐานของบริเวณที่ค้นพบภาพเขียนสีคืออะไร บริเวณที่พบภาพเขียนที่มีลักษณะเว้าลึกเข้าไปนั้นเป็นถ้ำที่มีอยู่แล้ว หรือเกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเล และภาพวาดนี้เกิดจากการพักพิงชั่วคราวระหว่างหลบพายุหรือการอยู่อาศัยประจำ
ซึ่งคำถามเหล่านี้ต้องอาศัยการบูรณาการศาสตร์หลายด้านและทำงานร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ผลการศึกษาที่ได้จากโครงการวิจัยจะนำไปอธิบายสภาพสังคมและการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคตด้วย