JP ลุ้นใบอนุมัติสกัดกัญชา 3 หมื่นกิโลฯ พร้อมโชว์เคส SME ลุยตลาดอาหารเสริม
โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี ล่าสุดได้รับใบอนุมัติเฟสแรกเครื่องสกัดเล็ก เริ่มสกัดสารกัญชาในไตรมาส 3/2565 นี้ ส่วนเฟสสองรอ อย. อนุมัติเครื่องสกัดใหญ่ที่มีกำลังการผลิต 30,000 กิโลกรัม/เดือน พร้อมนำร่องโครงการปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ลุยตลาดอาหารเสริม
สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัช อุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) หรือ JP กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทเตรียมยื่นขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อสกัดสารจากกัญชาจากเครื่องสกัดขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิต 30,000 กิโลกรัมต่อเดือน
และโรงงานที่มีเครื่องสกัดเล็กในเฟสแรก ณ จ.ลำพูน ที่ลงทุนไป 160 ล้านบาท จะเริ่มสกัดอาหารเสริมภายในไตรมาส 3/2565 นี้ ขณะเดียวกันก็นำร่อง “โครงการ Z entrepreneur by JP” ปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ต้องการสร้างแบรนด์เป็นของตนเองเพื่อรุกตลาดอาหารเสริม
- โรงงานสกัดสารกัญชง-กัญชา
จากกรณี “ปลดล็อกกัญชง กัญชา” อย่างเป็นทางการ เมื่อ 9 มิ.ย. 65 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข JP ได้รับการอนุมัติจากคณะทำงานกลุ่มกำกับดูแลกองควบคุมวัตถุเสพติดและอย. ในการพิจารณาแบบแปลน (Lay Out) การก่อสร้างโรงงานสกัด ดอก ช่อดอกกัญชา กัญชง พืชกระท่อม เพื่อให้ได้สารสกัดที่เป็นยาสมุนไพร ยาแผนปัจจุบัน อาหารเสริม เครื่องสำอาง ที่ใช้ทางการแพทย์
ในเดือน มิ.ย. การก่อสร้างโรงงานมีความคืบหน้าแล้ว 70% โรงงานจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3/65 นี้ โดยเป็นรูปแบบของโรงงานขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิต 1,000 กิโลกรัมต่อวัน 30,000 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมา JP ได้ทำคู่ขนานการก่อสร้างอาคารโรงงานกับการผลิต โดยแบบแปลนจะมีการกั้นห้องภายใต้มาตรฐาน GMP สำหรับภาคเอกชนสามารถขอผลิตกัญชา-กัญชง และกระท่อมได้ จะต้องมีสถานที่ที่ได้รับการอนุมัติตามมาตรฐาน GMP ซึ่ง JP เป็นเจ้าแรกที่ยื่นขออนุญาตผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
“ทางบริษัทได้รับใบอนุมัติให้สกัดสารกัญชงกับเครื่องสกัดเล็กเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว สำหรับเครื่องสกัดใหญ่ อย. ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบและดูผลกระบวนการต่าง ๆ เช่น มาตรฐาน GMP Is เพราะโรงงานที่จะสกัดสารกัญชงกัญชาได้นั้นจะต้องเป็นโรงงานผลิตยาที่ได้รับมาตรฐาน ซึ่งโรงงานเรามีทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทดสอบสกัดสารตามมาตรฐานส่งให้กับทางอย. อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว คาดว่าโรงงานจะได้รับใบอนุมัติเร็ว และจะผลิตเป็นยาแผนปัจจุบันและสมุนไพรปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566” สิทธิชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี JP มีแผนในการรุกตลาดกัญชง กัญชา กระท่อม โดยสารสกัด THC มากกว่า 0.2% กัญชา ก็ยังคงเป็นยาเสพติดตามกฎหมาย บริษัทจะผลิตเพื่อรับรองการแพทย์ ซึ่งจะผลิตยาจากสมุนไพรเท่านั้น และกลุ่มที่ 2 สาร THC น้อยกว่า 0.2% นำไปผลิตเพื่อรับรองสมุนไพรอาหารเสริม
(ภาพถ่ายโดย Kindel Media)
สำหรับด้านผู้ประกอบการ สิทธิชัยเผยว่า JP เป็นเสมือนกลางน้ำและปลายน้ำ เพราะรับสกัดสารกัญชาและรับผลิตอาหารเสริมที่มีส่วนประกบอของกัญชา แต่ไม่ได้เป็นคนปลูกกัญชา ซึ่งขณะนี้ มีคนให้ความสนใจที่จะเข้ามาสั่งออเดอร์กับทางโรงงานเพื่อสกัดสารกัญชงกัญชาแล้วหลายราย โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
- กลุ่มแพทย์ที่มีการปลูกกัญชงกัญชา เนื่องจาก แพทย์อยากได้สารสกัดกัญชงตามสายพันธุ์ที่ต้องการ จากนั้นจะนำไปเข้าตำหรับเพื่อสกัดเป็นยา ภายใต้มาตรการปรุงยาเฉพาะรายตำรับยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย เพื่อใช้รักษากลุ่มผู้ป่วยเฉพาะทาง
- กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีการลงทุนปลูกฟาร์มกัญชงกัญชามากกว่า 100 ไร่ เพื่อสกัดสารเป็นวัตถุดิบ
“วัตถุประสงค์ของผู้ผลักดันอย่างแพทย์และเภสัชต้องการให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาเพื่อเป็นยารักษาโรค เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคมะเร็ง เป็นต้น ส่วนการที่เอากัญชามาใช้ผิดประเภทเพื่อกิจกรรมสันทนาการ สำหรับประเทศไทยยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ และเรายังไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมเพียงพอเหมือนกับต่างประเทศ ในวันนี้กัญชาซื้อได้ง่ายกว่าเบียร์ เกิดโอกาสรั่วไหลไปถึงเยาวชนได้ง่ายขึ้น อันนี้คือสิ่งที่น่าเป็นกังวล”
สิทธิชัยชี้จุดสำคัญ ก่อนจะเพิ่มเติมว่า ยังคงหวังให้รัฐบาลนั้นออกกฎหมายลูก เพื่อมาควบคุมการใช้กัญชาในประเทศ ไม่ทำให้เจตนารมณ์ด้านการเอามารักษาโรคนั้นหายไป
(ทีม JP และ MAWO)
- ผลันดันผู้ประกอบการลุยตลาดอาหารเสริม
บริษัท มาโว่ เฮลธ์ จำกัด (MAWO) หนึ่งในผู้ประกอบการใน “โครงการ Z entrepreneur by JP” โครงการที่ JP ให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตนเอง เช่น สินค้าด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าโอทอป และสมุนไพรต่าง ๆ ที่ต้องการโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP ได้มาตรฐานส่งออก แต่ไม่มีเงินลงทุนในการซื้อเครื่องจักร ก็สามารถเข้ามาปรึกษากับ JP ได้
ณัฐณิชา ดอนสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาโว่ เฮลธ์ กล่าวว่า ปัญหาของผู้ประกอบการรายเล็กคือ การมีต้นทุนจำกัดในการลงทุนเครื่องจักรที่ได้มาตรฐานระดับสากล การเข้ามาร่วมโครงการกับ JP จึงทำให้ธุรกิจสามารถเป็นจริงได้ง่ายขึ้น โดยใช้เงินลงทุนไม่มาก อีกทั้งได้รับคำแนะนำ และผ่านการอบรมทั้งด้านงานขาย การเข้าถึงสื่อออนไลน์ การวิเคราะห์ธุรกิจ เป็นต้น
ส่วนแนวคิดการทำธุรกิจของ MAWO นั้น เกิดจากการศึกษาตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ทำให้เห็นทิศทางการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในยุคของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนหนึ่งที่ทำให้สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นที่ต้องการมากขึ้น
ดังนั้น MAWO จึงมองหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่ง “คอลลาเจน” เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ เพราะไม่ได้ช่วยแค่เรื่องผิวพรรณ แต่ยังช่วยเรื่องกระดูกและข้อ และเป็นสินค้าที่มีทิศทางการเติบโตของตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี
“มาโว่ มารีน คอลลาเจน จึงเป็นสินค้าตัวแรกของแบรนด์ MAWO เพราะตอบโจทย์ความต้องการของทั้งวัยทำงานและผู้สูงวัย อย่างไรก็ดีในอนาคต MAWO มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปสู่สินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ เช่น วิตามินต่างๆ โดยภายในปีหน้า จะเริ่มมีสินค้าประเภทอื่นนอกจากคอลลาเจนออกจำหน่าย ซึ่งสินค้าลำดับต่อไปของ MAWO ก็จะร่วมพัฒนาและผลิตที่โรงงานของ JP เช่นเดิม”